จัตวา กลิ่นสุนทร : เศรษฐกิจ หลังไวรัส (Virus) โคโรนา 2019 (Covid-19) จากไป

ต้องเรียกว่าเสียหายล้มตายกันไปทั่วโลก ไม่มีข้อยกเว้นประเทศใหญ่ระดับมหาอำนาจ ดังเช่นสหรัฐ จีน รัสเซีย รวมทั้งประเทศประชาธิปไตยแถบยุโรป

บ้านเราถึงจะหันรีหันขวางจนดำเนินการแบบไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง ไม่มีมาตรการองรับอย่างพร้อมเพรียงรอบคอบในระยะแรกๆ โดยเฉพาะใน “กรุงเทพมหานคร” ที่ปิดล็อกบริษัทห้างร้านทันทีจนเกิดการเลิกจ้าง เมื่อไม่มีงานทำ แรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวจึงอพยพคืนบ้านเกิดในต่างจังหวัด ทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง จนเกิดความเสียหายมากมายยังประเมินมิได้

มาตรการเยียวยาประชาชนผู้ยากไร้ที่ไม่มีงานทำของรัฐบาลไม่มีความพร้อมจึงออกมาล่าช้า

ยิ่งกว่านั้นยังขลุกขลักผิดพลาดหายหกตกหล่น

คนที่ควรได้รับกลับไม่ได้จึงต้องยกกลุ่มไปร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง

ขณะที่ผู้นำยังพูดจาสื่อสารแบบไม่มีความแน่นอนว่าจะจ่ายยังไง กี่เดือน ชักเข้าชักออก

เมื่อจับทิศทางได้ในเวลาถัดมา ทีมงานแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครอันแข็งแกร่งของกระทรวงสาธารณสุข สามารถต่อสู้ป้องกันไวรัสร้ายให้ค่อยๆ ชะลอลงจนมีแนวโน้มว่าจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้

ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นต้องชมรัฐบาลด้วยเหมือนกันที่ทุ่มเทให้การสนับสนุน ทั้งๆ ที่ค่อนข้างจะชักช้ากว่าภาคเอกชนที่ช่วยกันบริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ต่อสู้ป้องกันสำหรับโรคระบาดใหม่โดยไม่ต้องร้องขอ

 

ถึงวันนี้เราจึงดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคระบาดได้ดีอยู่ในระดับน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการรับมือกับการติดเชื้อ การรักษาพยาบาล บริหารจัดการเรื่องสถานการรักษาพยาบาล เตียงผู้ป่วย หมุนเวียนสับเปลี่ยนเพื่อรองรับจนพอเพียงกับจำนวนผู้ติดเชื้อ

ถึงแม้โรคระบาดใหม่ (Covid-19) คราวนี้จะส่งผลกระทบกับการบริการทางแพทย์แก่ผู้ป่วยประจำวัน ผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องเข้าทำการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ แต่ก็สามารถบริหารจัดการให้อยู่ในระดับเหมาะสมได้

เป็นเรื่องธรรมดาต้องมีผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อในระยะแรกๆ เสียชีวิตลงบ้าง แต่ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากระทั่งหายเป็นปกติกลับบ้านได้อย่างต่อเนื่อง คิดว่าจนจบวิกฤตครั้งนี้การเสียชีวิตคงอยู่เพียงแค่ตัวเลข 2 หลักเท่านั้น

ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับ “อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)” ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศจำนวนถึง 1,040,000 คน ว่าเสียสละทำงานหนักอย่างเข้มแข็ง เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย เฝ้าติดตามโรค ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกัน รวมทั้งกักตัวเพื่อไม่ให้การติดเชื้อแพร่กระจาย

จากการทำงานหนักของนักรบทางด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล บุคลากรทั้งหลาย และ อสม. ทำให้ต่างชาติบอกว่าประเทศไทยเป็นดินแดน Safe Covid-19 เรียกว่าเป็นที่ 1 ในจำนวน 195 ประเทศ

 

ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าการแพร่ระบาดลดลงอย่างต่อเนื่องย่อมมาจากความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ที่หยุดอยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน (Work from Home) รวมทั้งรักษามาตรฐานการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) ใส่หน้ากากอนามัย (Mask) ป้องกันอย่างแข็งขัน ล้างมือบ่อยๆ และ ฯลฯ

ทั้งๆ ที่อุปกรณ์ที่กล่าวถึงเหล่านี้ได้กลายเป็นของหายาก ราคาสูงขึ้น ขาดตลาด รวมทั้งมีการกักตุนเล่นแร่แปรธาตุค้ากำไรหากินกันมากมายบนความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนในระยะแรก ซึ่งจะว่าไปมันออกจะแปร่งๆ โฉบเฉี่ยวเข้าใกล้คนกันเองของซีกพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ศ.2548) รวมทั้งกำหนดเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้านในเวลาตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 4 สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง

 

ว่ากันว่าการประกาศพระราชกำหนดดังกล่าวรวมทั้งเคอร์ฟิว เหมือนกับการประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำคนหน้าเดิม รวมทั้งการประกาศจัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19” (ศบค.) โดยแทบไม่มีนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามาร่วม

มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมอยู่ก็เหมือนกับไม่มี รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เป็นแม้กระทั่งตัวประกอบ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีบทบาทอะไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โชว์คนเดียว โดยมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้ามามีบทเล่นด้วย พร้อมข้าราชการประจำอย่างเช่น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะโอกาสอันเหมาะจริงๆ เพราะสภาผู้แทนราษฎรยังปิดสมัยประชุม จึงไม่ได้เห็นบทบาทของผู้แทนราษฎรจากพรรค “ฝ่ายค้าน” แสดงวิสัยทัศน์ เสนอความคิดเพื่อการบริหารจัดการเรื่องโรคระบาด การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ยากไร้ รวมทั้งการออกกฎหมายเพื่อกู้เงินจำนวนก้อนมหาศาลมาบริหารจัดการประเทศ เพื่อกอบกู้หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังโรคร้ายผ่านพ้น

ผู้แทนราษฎรพรรคแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาลยิ่งแทบไม่มีอะไร เรื่องนโยบายอันเฉียบแหลมคมคาย นอกจากคอยทิ่มแทงพรรคฝ่ายค้านที่พยายามช่วยเหลือราษฎร โดยยกเรื่องการเมืองมากล่าวหาว่าหาเสียง เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธาออกมาแจกเงิน สิ่งของ และอาหารช่วยคนตกงาน คนไม่มีจะกิน

เป็นประชาชนประเทศนี้ก็ออกจะสิ้นหวังมองไม่ค่อยเห็นแสงสว่างเรื่องของการบริหารประเทศในระบอบ “รัฐสภา” อย่างเป็นระบบแบบโปร่งใส ไม่มีการเรียกประชุมสภาเพื่อเร่งระดมความคิดเห็นต่างๆ ทั้งฟากรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อช่วยกันกอบกู้ป้องกันภัยให้กับประชาชนประเทศชาติ

เนื่องจากสมาชิกสภาเหล่านั้นท่านคือตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ

 

ไม่รู้ว่าเป็นความคิดของใครที่ออกจดหมายเรียกหาเจ้าสัวระดับเศรษฐีมีอันดับตั้งแต่ 1-20 ของบ้านเราให้มาช่วยกันแสดงความคิดเห็นเสนอแนะรัฐบาล เหมือนเป็นการร้องขอความช่วยเหลือ

ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องน่าเกลียดอะไรนักหนาถ้าหากมันเป็นไปด้วยความสุจริตโปร่งใส

แต่สิ่งที่ปรากฏกลายเป็นว่ารัฐบาลจนแต้มถึงขนาดขอความช่วยเหลือ “เศรษฐี-นายทุน”

ประเทศนี้ไม่จำเป็นต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องมีสมาชิกทั้ง 2 สภาตั้ง 500 คนเพื่อมาคอยนั่งกินนอนกินเงินเดือนจากราษฎรในอัตราสูง รัฐบาลมีปัญหาจนมุมจนแต้ม ไม่มีความคิดในการกอบกู้เศรษฐกิจก็ให้เจ้าสัวทั้งหลายบอกมา

รัฐบาลบริหารจัดการเรื่องการแพร่ระบาดจนกระทั่งจำนวนคนติดเชื้อ คนเสียชีวิตน้อยลง เรียกว่าเดินมาถูกทาง แต่รัฐบาลต้องบริหารแบบให้ได้สมดุลระหว่างการดำเนินการเรื่อง “การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคกับการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ”

คนที่สามารถอยู่กับบ้านได้อย่างไม่เดือดร้อน ทำงานที่บ้านได้ มีเงินเก็บสะสมพอกินพอใช้หลายๆ เดือนคงมีจำนวนหนึ่ง ส่วนพวกหากินไปวันๆ ยังเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ไม่สามารถอยู่บ้านได้เนื่องจากครอบครัวลูกเต้าไม่มีอะไรจะกิน ต้องออกไปทำมาหากิน ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอะไร ทุกวันนี้จึงเริ่มได้ยินข่าวการคิดฆ่าตัวตาย ฉกชิงวิ่งราว และสมาชิกในครอบครัวอดอาหาร

ทั้งๆ ที่รัฐบาลเยียวยาประชาชนตามนโยบาย “เราไม่ทิ้งกัน” คนละ 5,000 บาท 3 เดือน มันก็เป็นไปได้แค่จำนวนน้อยนิด และยังมีหายหกตกหล่นไปอีกจำนวนมาก เรียกว่าระบบมันไม่ดีพอ

 

เมื่อไวรัส (Virus) โคโรนา 2019 (Covid-19) จากไป ภาคธุรกิจได้ขบคิดกันแล้วว่าจะต้องมีคนตกงานประมาณราว 7-10 ล้านคน เป็นโจทย์ใหญ่ยักษ์สำหรับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คงไม่มีใครการ์ดตกต้องการเห็นคนติดเชื้อโรคร้ายที่กำลังลดลงกลับมาระบาดเพิ่มขึ้นอีก แต่คนจำนวนมากต้องใช้ชีวิตประจำวันในการประกอบอาชีพ รัฐบาลต้องรีบผ่อนคลายปลดล็อกมาตรการต่างๆ ลงบ้างเพื่อเปิดช่องให้เขาได้ทำมาหากิน ว่ารัฐบาลที่มีความสามารถย่อมมีช่องทางบริหารจัดการควบคุมดูแลทำงานคู่ขนานกันไปได้

ก่อนประชาชนจะพากันล้มตายลง ไม่ใช่เพราะโรคร้าย (Covid-19) แต่เพราะไม่มีอะไรจะกิน