วิเคราะห์ : อยู่กับ “โควิด-19” ยังไงให้รอดกับชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าเราหนีไม่พ้นโควิด-19 ยังไงๆ ต้องอยู่กับเจ้าไวรัสวายร้ายตัวนี้อีกนาน จะยาว 2 หรือ 3 ปีหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ได้แต่เดาๆ กันไป แถมการศึกษาค้นคว้าตรวจสอบอานุภาพของโควิด-19 ลึกมากเท่าใดก็ยิ่งพบความร้ายกาจมากขึ้น เพราะไม่เพียงทำลายปอด แต่ยังเจาะชอนไชอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายอย่างรุนแรง

หากไม่มีประเทศไหนสามารถทำวัคซีนมาปราบได้ในระยะเวลาอันใกล้ ชาวโลกต้องปรับตัวอยู่กับโควิดให้ได้เหมือนกับการปรับตัวอยู่ในท่ามกลางเชื้อโรคชนิดอื่นๆ

การปรับตัวอยู่กับโควิดจะเป็นความปกติที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว หรือที่เรียกด้วยคำศัพท์เท่ๆ ว่า New Normal

ขณะนี้ทุกประเทศต่างอยู่ในระยะของการลองผิดลองถูกว่า จะทำยังไงกับโควิด บางประเทศ เช่น สวีเดน ปล่อยให้ชาวเมืองใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่ต้องใส่หน้ากาก โรงเรียนเปิดสอนไม่ต้องใช้มาตรการกักกัน มีร้านเหล้าบาร์เปิด ร้านไอศกรีมมีคนเข้าคิวยาว

ผู้บริหารของสวีเดนเชื่อว่า เมื่อเชื้อโควิดระบาดจนกระทั่งเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ราว 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วประเทศ จากนั้นคนสวีเดนสามารถอยู่กับเชื้อได้

ณ วันที่ 27 เมษายน ผู้ป่วยและเสียชีวิตในสวีเดน อยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ยอดผู้เสียชีวิต 2,194 คน ติดเชื้อ 18,640 คน

นักระบาดวิทยาของสวีเดนมั่นใจ เดินมาถูกทาง เพราะตัวเลขคนติดเชื้อและเสียชีวิตด้วยโควิดลดในระดับที่ตั้งเป้าไว้

 

อังกฤษเคยใช้วิธีการเหมือนกับสวีเดน แต่ไปไม่รอด คนป่วยตายสูงปรี๊ด ต้องกลับมาล็อกดาวน์ปิดห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ แหล่งบันเทิง ป้องกันคนเข้าไปรวมหมู่ ถึงกระนั้นยอดคนติดเชื้อในอังกฤษทะลุเฉียดๆ 150,000 คน คนตายผ่านหลัก 2 หมื่นไปแล้ว

สหรัฐอเมริกา สเปน หรืออิตาลี ตัวเลขคนป่วยคนตายยังพุ่งปรู๊ดๆ ไม่หยุด ก็ใช้วิธีล็อกดาวน์ปิดเมือง

ส่วนเมืองไทย ใช้มาตรการเข้มงวด มีเคอร์ฟิว แต่จำนวนคนป่วย-ตายเพราะโรคโควิดต่ำกว่าประเทศที่เอ่ยถึงข้างต้นอยู่มาก และอยู่ในอันดับ 57 ของโลก แสดงให้เห็นว่าระบบการแพทยของบ้านเรามีมาตรฐานสูง

สถานการณ์โควิดโดยภาพรวมทั้งโลกยังอยู่ในระยะน่าเป็นกังวล เพราะทุกประเทศไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อนจึงใช้วิธีการลองถูกลองผิด ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการปล่อยอิสระให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หรือใช้มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมือง วิธีการไหนจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุด

ทางรอดนั้น หมายถึงในช่วงไม่มีวัคซีนปราบโควิด ผู้คนติดเชื้อจำนวนน้อยถึงน้อยมาก แพทย์สามารถดูแลคนป่วยทั่วถึง รับมือได้อยู่ และยอดการเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ ในแต่ละวัน ไม่มีคนป่วยใหม่หรือคนตายอีกเลย

หลายๆ ประเทศเร่งกำหนด “มาตรการ” ใหม่ในการใช้ชีวิตช่วงโควิดระบาด เช่น ต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกมาในพื้นที่สาธารณะ ต้องกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ การฆ่าเชื้อและควบคุมตรวจสอบบุคคลเสี่ยงจะแพร่เชื้อ ควบคุมร้านค้า ร้านอาหาร ห้างซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด บริการขนส่งมวลชน

รวมไปถึงการกำหนดระยะห่างของการเข้าคิว เข้าแถว การนั่งประชุม กินอาหาร การเข้าไปดูคอนเสิร์ต หรือเดินเล่นในสวนสาธารณะ

 

มาตรการเหล่านี้จะเป็นเรื่องปกติเกิดขึ้นทั่วโลก

แน่นอนว่าจะมีผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมโลก

ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรม การบิน ซึ่งโดนโควิดซัดจนพังพาบอยู่ในขณะนี้จะช้ำหนักไปอีก

การเดินทางไปมาหาสู่ของชาวโลกหลังโควิดระบาดนั่นจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน

นักท่องเที่ยวที่วาดฝันว่าจะไปสัมผัสโลกกว้าง นักธุรกิจซึ่งต้องเดินทางติดต่อสัมพันธ์กับเพื่อนพันธมิตร นักศึกษา นักเรียนที่จะไปเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ ในต่างประเทศ

ต่อไปนี้ต้องเตรียมพบกับมาตรการอันเข้มงวดทั้งในสนามบิน บ้านตัวเอง และที่ปลายทาง

 

คุณจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพิ่งให้สัมภาษณ์บอกว่า ถ้าโควิดยังไม่หายไปหรือยังไม่มีวัคซีน เชื่อว่าไม่มีประเทศไหนเปิดประเทศ

คุณจุฬายกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา มีคนติดเชื้อโควิดเยอะมาก คงไม่มีประเทศไหนจะเปิดรับคนอเมริกันเข้าไปเพราะเสี่ยงมาก

หลังมีข่าวสายการบินในประเทศจะเปิดบริการ ผู้อำนวยการการบินพลเรือนฯ บอกว่า ได้เตรียมมาตรการเข้มๆ สำหรับการสกัดโรคโควิดแพร่เชื้อในพื้นที่การบินภายในประเทศ เช่น การซื้อตั๋วโดยสาร สายการบินจะขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง

มาตรการนี้ออกมา สายการบินกระทบแน่นอนเพราะที่นั่งแต่ละเที่ยวบินหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นเที่ยวบินขนาด 70 ที่นั่ง ก็ใช้หลักเกณฑ์นั่งได้ 49 ที่นั่ง ต้องนั่งห่างๆ กระจายออกไป

คนเดินทางเข้ามายังสนามบินต้องตรวจวัดอุณหภูมิ ต้องไม่เกิน 37.3 องศาเซลเซียส การเช็กอิน ตรวจค้นสัมภาระต้องเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร รถบัสขนผู้โดยสารไปขึ้นเครื่อง ก็ต้องลดจำนวนผู้โดยสาร ยืน-นั่งให้ห่างกัน

ผู้โดยสารต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตั้งแต่เข้ามายังสนามบิน และหากไม่มีหน้ากากจะไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่อง

เมื่ออยู่บนเครื่องบินผู้โดยสารจะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง หากไม่ใส่จะมีมาตรการทางกฎหมายบังคับให้ใส่

ต่อไปนี้จะไม่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินแล้ว ไม่อนุญาตให้นำอาหารและน้ำดื่มขึ้นเครื่องด้วย เพราะจะต้องเปิดหน้ากากก่อนกินอาจจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อ

ในกรณีผู้โดยสารมีความจำเป็นต้องดื่มน้ำ เช่น การกินยา สายการบินจะต้องจัดพื้นที่บริเวณท้ายเครื่อง และเที่ยวบินที่มีระยะเวลาการบินเกิน 90 นาที สายการบินจะต้องจัดแถวที่นั่ง 2 แถวสุดท้าย สำหรับผู้โดยสารที่ป่วย

 

นี่เป็นมาตรการของการเดินทางด้วยเครื่องบินในเมืองไทย เชื่อว่าประเทศอื่นๆ ก็ทำเหมือนกัน และจะเป็นความปกติของการเดินทางด้วยเครื่องบิน

ส่วนแนวโน้มการเดินทางข้ามประเทศ จะต้องเข้มข้นกว่าแน่ เพราะไม่มีชาติไหนเปิดประเทศให้คนต่างชาติเดินทางมาได้ง่ายๆ เหมือนเก่าก่อน แม้แต่คนชาติเดียวกันการเดินทางเข้าประเทศต้องผ่านกระบวนการคัดกรองหลายชั้น หลายขั้นตอน

นี่เพียงแค่จุดเริ่มต้นเข้าประเทศอื่น เมืองอื่นที่ไม่ใช่บ้านเรา

เมื่อเข้าประตูเมืองด้วยความยุ่งยากแล้ว ยังมีความยุ่งยากอื่นๆ ตามมาอีกมากมายก่ายกอง เช่น การเข้านั่งรถเข้าเมือง ถ้าใช้รถแท็กซี่ ก็ต้องมั่นใจว่าคนขับปลอดเชื้อและมีระบบป้องกันแพร่เชื้ออย่างดี หรือถ้านั่งรถไฟ รถบัส ต้องมีระยะห่าง

ส่วนเราเองก็ต้องมีความมั่นใจว่าไม่มีเชื้อไปปล่อยใส่โชเฟอร์หรือผู้โดยสารอื่นๆ

เข้าไปพักในโรงแรม รีสอร์ต ต้องมั่นใจว่าเป็นที่พักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการป้องกันเชื้อโควิด พนักงานทุกคนผ่านการตรวจอุณหภูมิทุกวัน มีระบบการทำความสะอาด ล้างมือใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ

ใครคิดอยากจะบินไปสัมผัสโลกกว้าง แค่นึกภาพอนาคต คงถอดใจไปครึ่งหนึ่ง

แต่พิษโควิดได้ส่งผลดีๆ ให้กับสิ่งแวดล้อมโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ คุณภาพอากาศของโลกสะอาดขึ้นจนพิสูจน์ได้ สรรพสิ่งในระบบนิเวศน์ได้รับการฟื้นฟู ดอกไม้ป่าบานเต็มทุ่ง สิงสาราสัตว์ออกมาชื่นชมธรรมชาติรอบๆ ฝูงปลาในทะเลชุกชุมกว่าเดิม

เต่านานาชนิดออกมาวางไข่เต็มชายหาด ครั้งอดีตเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย