คนมองหนัง : ภายในเขาวงกตอันเวียนวน ของ “สุขสันต์วันกลับบ้าน”

คนมองหนัง

หากมองจากหน้าหนัง “Take Me Home : สุขสันต์วันกลับบ้าน” ภาพยนตร์ของ “ก้องเกียรติ โขมศิริ” ซึ่งเคยฝากฝีมือไว้ในผลงานน่าจดจำอย่าง “ลองของ” และ “เฉือน” ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

จากมือดีของค่ายไฟว์สตาร์ ก้องเกียรติโยกมาทำหนังที่สหมงคลฟิล์ม โดยผลงานกับสหมงคลฯ ของเขาอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งกำลังจะลงโรงฉาย คือ “ขุนพันธ์” ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวชีวประวัติของพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช

แต่ไปๆ มาๆ ก้องเกียรติก็หันมาทำ Take Me Home ซึ่งเป็นหนังแนว “ผี-สยองขวัญ” ร่วมกับนอร์ธสตาร์โปรดักชั่น ของอดีตนางเอก “กัญญารัตน์ จิรรัชชกิจ” ที่นอกจากจะผลิตรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์แล้ว ยังอำนวยการผลิตหนังไทยดีๆ หลายเรื่องในช่วงหลัง โดยเฉพาะ “ตั้งวง” และ “สแน็ป” ของ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี”

ยิ่งกว่านั้น ในการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ ก้องเกียรติยังได้คนทำหนังรุ่นอาวุโส (ผู้ยังแอ๊กทีฟอยู่) อย่าง “หม่อมน้อย” หรือ “ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล” มาเป็นที่ปรึกษา มีมือตัดต่ออันดับต้นๆ ของไทย (และเอเชีย) อย่าง “ลี ชาตะเมธีกุล” มาทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ “หรินทร์ แพทรงไทย” รวมทั้งมีคงเดชมาเป็นหนึ่งในทีมงานสร้างสรรค์เนื้อเรื่อง

ที่สำคัญสุด หนังฟอร์มกลางๆ เรื่องนี้ สามารถดึงตัวดาราแม่เหล็ก “มาริโอ้ เมาเร่อ” มาเป็นนักแสดงนำได้สำเร็จ

ทว่า ผลตอบรับจากผู้ชมกลับไม่อู้ฟู่คึกคักมากนัก หากเปรียบเทียบกับ “หลวงพี่แจ๊ส 4G” ที่ออกฉายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน


เมื่อลองไปชม “Take Me Home : สุขสันต์วันกลับบ้าน” ในโรงภาพยนตร์ ก็พบว่าหนังเรื่องนี้จัดเป็น “งานฝีมือ” ที่มีคุณภาพดีทีเดียว

หนังเล่นสนุกกับวิถีทางการนำเสนอเรื่องราวที่ตนเองเลือกแล้ว กล่าวคือ เรื่องราวที่หนังจะเล่าและวิธีการนำเสนอนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือวิธีการใหม่ๆ แต่อย่างใด

ทว่า ก้องเกียรติและทีมงานสนับสนุนก็พยายามเสาะหาเหลี่ยมมุมลูกเล่นอันแพรวพราว แล้วเพิ่มเติมเสริมแต่งลงไปในกลวิธีการเล่าเรื่อง

กระทั่ง Take Me Home มีสถานะเป็นหนังที่คล้ายจะก่อรูปขึ้นมาจากองค์ประกอบเดิมๆ แต่กลับมิใช่หนังในแนวทางเก่าๆ อันน่าเบื่อหน่าย


หนังเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มชื่อ “แทน” ผู้มีอาการความจำเสื่อมจากการประสบอุบัติเหตุ จนไม่สามารถจดจำอะไรในชีวิตได้เลย นอกจากชื่อของตนเอง

หลังได้รับการรักษาเยียวยา แทนจึงใช้ชีวิตอย่างเคว้งคว้างอยู่ในโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี แทนพยายามสืบค้นข้อมูลมาตลอดว่า แท้จริงแล้วตนเองคือใคร และครอบครัวของเขาอยู่ที่ไหน

จนวันหนึ่ง “เสียงผู้หญิงลึกลับ” ก็นำพาเขาไปพบหลักฐานเอกสารบางอย่าง

แล้วแทนก็หาหนทางกลับ “บ้าน” ของตนเองเจอ

ตรงทางเข้าบ้าน แทนพบแม่บ้านที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เล็ก ก่อนที่เธอจะขับรถกอล์ฟพาเขาไปยังบ้านหลังใหญ่ รูปทรงโอ่อ่าทันสมัยน่าอยู่

ที่นั่น ชายหนุ่มได้พบปะทักทายกับ “ทับทิม” พี่สาวฝาแฝดหน้าตาสะสวย แต่มีบุคลิกลึกลับน่าสงสัย

ทับทิมแต่งงานอยู่กินกับพ่อหม้ายลูกสอง เธอเหมือนจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ประจำบ้าน ซึ่งสามารถกำหนดควบคุมทุกสิ่งและทุกคนได้อย่างอยู่หมัด

ใช้เวลาไม่นานนัก แทนก็เริ่มตระหนักว่าบ้านหลังนี้เก็บงำความลับและซ่อนแฝงความน่าสะพรึงกลัวบางประการเอาไว้

 

ในฐานะหนังผี Take Me Home เฉลยไคลแม็กซ์ของตัวเองอย่างรวดเร็ว (ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงแรกของภาพยนตร์)

แต่ถึงจะไปเฉลยปมดังกล่าวเอาตอนท้ายเรื่อง หนังก็อาจถูกจัดอยู่ในหมวด “หนังผีเชยๆ” อยู่ดี เพราะตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีหนังผีซึ่งเล่นกับเงื่อนปมทำนองนี้มานักต่อนัก นับจาก “จุดเริ่มต้น” อย่าง “The Others” ของ “อเลฮานโดร อเมเนบาร์”

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า หลังก้องเกียรติได้เฉลยปมเบื้องต้นในฐานะหนังผีของ “Take Me Home : สุขสันต์วันกลับบ้าน” จนเรียบร้อยหมดจดแล้ว เขาจะพาหนังเดินทางต่อไปทางไหนและอย่างไรมากกว่า?

วิธี “ไปต่อ” ที่ก้องเกียรติเลือกใช้ ก็ชวนให้นึกถึงหนังที่มาก่อนหน้าอีกหนึ่งชุด เช่น “เปนชู้กับผี” ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” รวมถึง “จันดารา” เวอร์ชั่น “นนทรีย์ นิมิบุตร” (ตลอดจนเพลงนำของภาพยนตร์เรื่องนั้นที่แต่งโดยคงเดช ชื่อ “เงาอารมณ์”)

ซึ่งทั้งหมดล้วนบอกเล่าเรื่องราวอันเวียนวนมิรู้จบอยู่ในเขาวงกตแห่งชะตากรรม (หรือกฎแห่งกรรม) โดยไม่มีทางออกไปไหน

เรื่องตลกร้าย ก็คือ ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวละครใน Take Me Home เท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับภาวะ “หนีเสือปะจระเข้” อยู่ร่ำไป

ทว่า ในแง่การเล่าเรื่อง ก็คล้ายกับว่าก้องเกียรติและทีมงานพยายามหลบหลีกวงจรการดำเนินเรื่องแบบเดิมๆ ชนิดหนึ่ง เพื่อมาเผชิญหน้ากับวงจรเดิมๆ อีกชนิด จนไม่รู้จะวิ่งหนีไปไหนต่อดี

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเล่าเรื่องไป “หนี” ไป (แต่สุดท้ายก็ “หนี” ไม่พ้น) ในภาพยนตร์เรื่องนี้ กลับราบรื่น สนุกสนาน และมีเทคนิคการนำเสนอที่ร่วมสมัยพอสมควร

หรืออย่างน้อย คนดูก็มีโอกาสได้มองเห็นความพยายามจะต่อสู้ต่อรองกับโครงสร้างของเรื่องเล่าอันมหึมาไพศาล โดยผู้กำกับและทีมงาน

แม้กระทั่ง “บทสรุปอันคมคาย” ของ Take Me Home ก็ “ไม่ใหม่” มากนัก

ในตอนท้าย หนังวิพากษ์ “ผี” แห่งการแสวงหาความสมบูรณ์แบบ (ที่ไม่มีอยู่จริง) และ/หรือ “ผี” แห่งความเป็นไทย (ผ่านอุปลักษณ์ “นางรำ”) ผู้ครอบงำ “บ้าน” (หรือภาพจำลองขนาดย่อยของสังคม) เอาไว้ด้วยแรงแค้น

(กรณี “นางรำ” “ความเชื่อ” “อำนาจ” และ “ความเป็นไทย” ก็ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง “ตั้งวง” อยู่รางๆ)

ก่อนจะสรุปข้อคิดว่า เราต้องเปิดใจและใช้ชีวิตอยู่กับ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” หรือ “ความแปลกแยกแตกต่าง” (ที่มีอยู่จริง) ให้จงได้

(ซึ่งสอดคล้องต้องตรงกับจุดยืนของหนังผีหลายเรื่องโดย (อดีต) ค่ายจีทีเอช เช่น “ลัดดาแลนด์” และ “พี่มาก..พระโขนง”)

อย่างไรก็ดี ในแง่เนื้อหา Take Me Home ยังทิ้งอะไรไว้ให้ฉุกคิดอยู่ไม่น้อย

อาทิ “แทน” ที่ความทรงจำสาบสูญและหายตัวออกจากบ้านไปเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่ง “สุญญากาศหนึ่งทศวรรษ” ดังกล่าว ก็เกิดขึ้นระหว่างปี “2549-2559” พอดิบพอดี

จนไม่แน่ใจว่าการกำหนดรอยต่อช่วงเวลาเช่นนี้ คือการแสดงนัยยะทางการเมืองใดๆ อยู่หรือไม่?

นอกจากนั้น การวางพล็อตในลักษณะนี้ยังชี้ให้เห็นถึงกลิ่นอายสไตล์ “คงเดช” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนเนื้อเรื่องแรกเริ่มของ Take Me Home ก่อนจะถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดยก้องเกียรติ

 

สิ่งติดค้างอีกประการ ซึ่งเป็นคำถามส่วนตัวของผมเอง ก็คือ ท่ามกลางความพยายามของหนังเรื่องนี้ ที่จะแสวงหา “จุดประนีประนอม” ว่า “เรา” ไม่สามารถหลบหนี หากจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับ “ความไม่สมบูรณ์/ความแปลกแยก/ความแตกต่าง” ให้ได้นั้น

ตัวแทนของ “เรา” กลับกลายเป็น “แทน” ชายหนุ่มผู้ล่องลอย เคว้งคว้าง ไร้ที่มาที่ไป สูญเสียความทรงจำ

ตัวแทนของ “เรา” คือ “แทน” ผู้อับจนปัญญาจะหลบหนีออกจากวงเวียนชะตากรรมของคฤหาสน์ลึกลับสยองขวัญ

เพราะความขัดสนทางชีวทัศน์และโลกทัศน์เช่นนั้น “แทน” และ “เรา” จึงต้องทำใจอยู่ร่วมกับ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” ให้ได้

ปัญหามีอยู่ว่า จริงๆ แล้ว ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายอยู่ร่วมกับ “ความไม่สมบูรณ์/ความแปลกแยก/ความแตกต่าง” ไม่ได้?

เนื่องจากสามัญชนคนไร้ทางเลือก อย่าง “แทน” อย่าง “เราๆ” ต้องพร้อมยอมรับเงื่อนไข/กรอบกรงของความไม่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เพราะหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

แต่ปริศนาสำคัญกลับพุ่งเป้าไปสู่ “ผี” ผู้มีอำนาจสูงสุดและโศกเศร้าตรอมตรมมากที่สุดในบ้านหลังนี้ต่างหาก ว่า “ผี” แห่งความสมบูรณ์แบบและความเป็นไทยตนดังกล่าว จะสามารถอยู่ร่วมกับ “ความไม่สมบูรณ์แบบ/ความแตกต่าง” ได้ไหม?

โดยหนังเฉลยแค่ว่า “ผี” ตนนี้ยอมรับเงื่อนไขให้ “แทน” ได้ใช้ชีวิตร่วมกับ “ทับทิม” ผู้ไม่สมบูรณ์แบบ

ทว่า หนังมิได้บอกกล่าวต่อว่า “ผี” ผู้น่าเกรงขามนั้น จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “ความไม่สมบูรณ์แบบ” นานัปการ ได้ด้วยหรือไม่?

ตามความเห็นส่วนตัวของผม นี่คือคำถามทิ้งท้ายแสนหนักหน่วง ที่หนังเรื่อง “Take Me Home : สุขสันต์วันกลับบ้าน” ฝากเอาไว้ให้คนดูนำกลับไปคิดต่อ นอกโรงภาพยนตร์