เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ผู้ประทานชื่อ “ประชาชาติ”

ระหว่างเส้นทางหนังสือพิมพ์ของทั้ง ขรรค์ชัย บุนปาน กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ หลังก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศ สุจิตต์ วงษ์เทศ บริหารงานโรงพิมพ์ ผมได้รับมอบหมายให้ทำงาน “จับฉ่าย” แรกเริ่มคือเป็น “ฝ่ายขาย” ออกไปหางานเข้ามาป้อนโรงพิมพ์

ก่อนหน้านั้น สุจิตต์ชักชวน ประเสริฐ สว่างเกษม เพื่อนสมัยเรียนมัธยมโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริยารามด้วยกัน เป็นคนที่รักและชอบหนังสือ มีหนังสือเรียกว่าเต็มบ้าน เคยร่วมทำนิตยสารช่อฟ้าให้มาช่วยทำงานหนังสือที่โรงพิมพ์พิฆเณศอีกคน

รวมทั้งผู้ทำงานด้านฝ่ายศิลป์ มี อรุณ วัชระสวัสดิ์ ชูชาติ “หมื่น” หมื่นอินกุล และช่างพิมพ์ที่รู้มือรู้ใจกันสองสามคนประจำ “แท่นพิมพ์” ที่ อาจารย์ทองเติม เสมรสุต ปรมาจารย์ด้านเครื่องพิมพ์และออกแบบตัวหนังสือให้เรียกว่า “เครื่องพิมพ์” เพราะเป็น “เครื่อง” ไม่ใช่ “แท่น”

ทำงาน “ฝ่ายขาย” ได้ไม่นาน งานพิมพ์เริ่มเข้ามา “จ้าง” พิมพ์ มีงานให้ทำทั้งกลางวันและกลางคืน เช้าขึ้นมา สุจิตต์ดูงานที่เรียงพิมพ์และตรวจ “ปรู๊ฟ” เสร็จแล้ว นำกระบะตัวเรียงพิมพ์ลงมาเตรียมสั่งพิมพ์ แล้วสั่งให้พิมพ์เล่มยกนั้นยกนี้ เครื่องนั้นเครื่องนี้ จนถึงเที่ยง หรือบางวันถึงเย็น จึงออกไปสังสรรค์กับพรรคพวก ประเสริฐอยู่โยงช่วงกลางวันถึงค่ำ

ผมอยู่โยงช่วงกลางคืนถึงเช้า

 

ระหว่างเหตุการณ์ “14 ตุลา 16” ช่วงกลางคืนไม่ค่อยมีงานพิมพ์ ผมชอบขึ้นไปบนดาดฟ้า ฟังบรรดาผู้นำนักศึกษา “ไฮด์ปาร์ก” โดยเฉพาะสองสาวนักศึกษา เสาวณีย์ ลิมมานนท์ กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา บางค่ำก็ออกไปฟังเขาปราศรัยที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา” ช่วงนั้นโรงพิมพ์ไม่พิมพ์กลางคืน ด้วยเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ผมมีโอกาสออกไปเดินที่สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน อ้อมไปทางสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม มีโอกาสเห็นนักเรียนนักศึกษาเดินตื่นตระหนกไม่เป็นส่ำ ปากร้องตะโกนตำรวจฆ่าประชาชน ซ้ำๆ ฟังแล้วน่ากลัวพิลึก

ระหว่างจัดพิมพ์นิตยสารประชาติรายสัปดาห์ บรรดาผู้เขียน ผู้ทำ และหลายคนในกองบรรณาธิการเดินเข้าเดินออก ดูว่าประชาชาติยกนั้นยกนี้ขึ้น “แท่น” หรือยัง

 

การมีโอกาสจัดทำนิตยสารประชาชาติทั้งรายสัปดาห์และรายวัน ควรทราบไว้ว่า “หัวหนังสือ” ทั้งประชาชาติรายสัปดาห์และประชาชาติรายวัน ผู้เป็นเจ้าของชื่อคือ พลตรีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือที่พวกเรารู้จักในพระนาม “พระองค์วรรณฯ” ประทานมา

เมื่อครั้งที่ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันฉบับปฐมฤกษ์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2517 พระองค์วรรณฯ ได้ประทานสาส์นเป็นสิริมงคลแก่หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันฉบับตีพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ ด้วยลายพระหัตถ์ ปรากฏบนหัวหนังสือฉบับที่มีตราสัญลักษณ์ของพระองค์ ขึ้นต้นว่า “คำอวยพร”

เมื่อ นายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า ใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ ข้าพเจ้าก็มีความยินดีและอนุโมทนา โดยชี้แจงให้ทราบว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 แล้ว ข้าพเจ้าได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจหลักประชาธิปไตย ที่ว่า รัฐบาลเป็นของประชชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน หรือว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย ข้าพเจ้าจึงได้จัดการออกหนังสือรายวันให้ชื่อว่า “ประชาชาติ” โดยมีคำขวัญ “บำเพ็ญกรณีย์ ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข”

แม้ในสมัยปัจจุบันก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้คำชี้แจงในเรื่องหลักประชาธิปไตย หรือจะว่ามีความจำเป็นยิ่งขึ้นเสียอีกก็ได้

ข้าพเจ้าจึงเต็มใจอำนวยพรให้หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายสัปดาห์ ประสบความเจริญ รุ่งเรือง เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติสืบไป

บัดนี้ นายขรรค์ชัย บุนปาน มาปรารภกับข้าพเจ้าว่า ใคร่จะออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน ข้าพเจ้าก็มีความปีติยินดี และอนุโมทนาในความเจริญก้าวหน้านี้เป็นที่ยิ่ง

ด้วยอานุภาพคุณพระศรีรัตนตรัย ข้าพเจ้าขอให้หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” รายวัน ประสบผลสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรืองในการจรรโลงระบอบประชาธิปไตยตลอดไปเทอญ

(ลงพระนาม) นราธิป

 

คําอวยพรของพลตรีพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ฉบับนี้ เคยตีพิมพ์มาแล้วสองสามครั้ง ครั้งหนึ่งพิมพ์เมื่อคราวที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ราย 3 วัน ออกจำหน่าย ทั้งยังตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับหนึ่งในโอกาสเดียวกันนั้น

คำอวยพร หรือจดหมายฉบับนี้ เพื่อให้ได้ทราบว่า ขรรค์ชัย บุนปาน คือผู้จัดการจัดหาเงินทุนมาก่อตั้งโรงพิมพ์พิฆเณศด้วยการเจรจากู้เงินกับ คุณบุญชู โรจนเสถียร แห่งธนาคารกรุงเทพ ทั้งเมื่อคณะที่ร่วมกันจัดทำหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เดอะ เนชั่น ต้องการออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ภาษาไทย ขรรค์ชัยยังไปขอประทานชื่อ “ประชาชาติ” จาก “พระองค์วรรณฯ” และทรงเมตตาประทานชื่อให้

การที่ขอประทานชื่อ “ประชาชาติ” อาจเพราะคำว่า “เดอะ เนชั่น” (The Nation) แปลเป็นภาษาไทยว่า “ประชาชาติ” ประกอบกับความต้องการทำหนังสือพิมพ์ภาษาไทยที่ขณะนั้นยังไม่น่าจะเริ่มหนังสือพิมพ์รายวันได้ จึงเริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ก่อน อาจด้วยเหตุต้นทุนที่จำกัดก็เป็นได้

เรื่องรายละเอียด ผมไม่ทราบ ด้วยเหตุว่า ไม่ได้เข้าร่วมในกองบรรณาธิการกับเขา เป็นแต่ผู้ดูแลการผลิตเพื่อให้หนังสือออกทันตามกำหนดเท่านั้น

หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์เป็นหนังสือพิมพ์ของคนรุ่นใหม่ หัวก้าวหน้า ออกมาระหว่างที่ประชาชนเรียกร้องประชาธิปไตยและมีประชาธิปไตย หลังจากที่อัดอั้นมานานกว่า 10 ปี ส่วนหนังสือพิมพ์รายวันตื่นตัวในการนำเสนอข่าวการเมืองเพิ่มมากขึ้น มีหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เป็นต้น ทั้งยังมีหนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ออกมาขณะนั้นด้วย

สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกไว้ในหนังสือ เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์ว่า

เริ่มจากการเปิดโรงพัมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ เมื่อปี 2515 รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด ต่อมาหลัง 14 ตุลาฯ 2516 จึงออกหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติรายสัปดาห์” ร่วมกับ เดอะ เนชั่น โดย สุทธิชัย หยุ่น แล้วมี พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ร่วมด้วยอีกราย ก่อนจะขยับขยายเป็น “ประชาชาติรายวัน” ซึ่งมีขรรค์ชัย เป็นบรรณาธิการ เรืองชัย ควบคุมการผลิต สุจิตต์ เป็นบรรณาธิการบริหาร

เป็นอันครบแก๊งเด็กวัดนวล!