“ตำรวจ” ปรับกลยุทธ์สู้ “โควิด” ส่งตำรวจลุยชุมชนคุมกฎเข้ม ลดด่าน 89 เหลือ 52 แต่ไม่งดจับ

นับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิวห้ามประชาชนเดินทางในช่วงเวลา 22.00-04.00 น. พร้อมสั่งปิดสถานบริการ 34 ประเภท เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นพื้นที่ที่มีสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุด

ระยะแรก กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งเป็นหน่วยร่วมปฏิบัติของรัฐบาล ระดมสรรพกำลังทำหน้าที่ในการตั้งด่านคัดกรองโควิด-19 และตั้งจุดตรวจจุดสกัดเคอร์ฟิวอย่างเข้มข้นเข้มแข็งทั่วพื้นที่ กทม. ทำให้มียอดการจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวค่อนข้างสูง

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. ได้ปรับแผนการตั้งจุดตรวจจุดสกัดเคอร์ฟิวทั่วกรุง จากเดิม 89 จุด เหลือเพียง 52 จุด

จนทำให้หลายคนมองว่าสถานการณ์ใน กทม.จะเริ่มคลายล็อกดาวน์หรือไม่

แต่ก็ต้องดับฝันเมื่อรัฐบาลประกาศขยายเคอร์ฟิวออกไปอีก 1 เดือน เป็นการส่งสัญญาณว่าสถานการณ์แพร่ระบาดถึงจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเหลือเลขตัวเดียว แต่ยังไม่ประมาท การ์ดตกไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิดของโลกยังไม่คลี่คลาย

ดังนั้น ตำรวจยังคงต้องทำงานหนักต่อไปอีก

พล.ต.ท.ภัคพงศ์อธิบายว่า สาเหตุที่มีการปรับลดด่านเคอร์ฟิว เนื่องจากเป็นการปรับรูปแบบการทำงานของตำรวจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และนำกำลังไปเสริมงานด้านอื่นให้เกิดประสิทธิภาพ

แม้ที่ผ่านมาในกรุงเทพมหานครอาจมียอดจับกุมผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเยอะที่สุด เริ่มจากประมาณ 100 กว่าราย แต่ก็ลดลงเรื่อยๆ คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรใน กทม. ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

นอกจากการปรับลดด่านเคอร์ฟิวแล้ว พล.ต.ท.ภัคพงศ์ยังเสนอให้ กทม.ยกเลิกด่านโควิด-19 ทั้งหมด ทำให้ได้กำลังตำรวจกลับมาอีกกว่า 200 นาย ทำหน้าที่สุ่มตรวจชุมชนที่มีผู้กักตัวอยู่ที่บ้านว่าปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หรือไม่

และนำกำลังไปร่วมปฏิบัติหน้าที่กับ กทม. หลังจากมีประกาศผ่อนผันให้เปิดสถานที่บางประเภทว่าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่

สำหรับด่านเคอร์ฟิวก็ยังคงด่านที่จำเป็นไว้ ครอบคลุมพื้นที่เส้นทางหลัก การปรับกำลังเพื่อไปดูแลในพื้นที่ ในการควบคุมคนให้ปฏิบัติตามประกาศ กทม. ตรวจสอบเกี่ยวกับการปิดสถานที่ชั่วคราว 34 ประเภท

และให้ตำรวจร่วมกับ กทม. พยายามเข้าไปในชุมชน ไปแนะนำข้อกำหนดห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมในลักษณะที่จะก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เพื่อแนะนำการปฏิบัติในเรื่องการรักษาตัว รักษาระยะห่าง หรือการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะเผยแพร่โรคเข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจคนในชุมชนว่ามีการตรวจหาคนกลุ่มเสี่ยง โดยที่ผ่านมาชาวบ้านค่อนข้างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“เราคิดว่าปรับกำลังส่วนหนึ่งเข้าชุมชน มาดูเรื่องป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพราะเกรงว่าจะมีคดีเกี่ยวกับทรัพย์เกิดขึ้นช่วงโควิด จึงปรับคนไปเพิ่มกำลังเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว และมีชุดสายตรวจที่จะออกตรวจตามถนนรองและชุมชนต่างๆ”

“จึงเป็นที่มาของ “ด่านลด แต่ไม่งดจับ” ตอนนี้ในชุมชน บางคนเข้าไปมั่วสุมกันในบ้าน กินเหล้า เสพยาเสพติด อัตราการจับกุมตรงนี้อาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ เช่น บางวันมีจับบ่อนการพนัน สถิติก็จะสูงขึ้น แม้ไม่ใช่ด่านเคอร์ฟิว แต่เป็นการจับกุมเกี่ยวกับเรื่องการฝ่าฝืนประกาศ ในช่วงเคอร์ฟิว การจับในด่านลดลง แต่ไปเพิ่มในเรื่องอื่น ทั้งนี้ การจับกุมตามด่านก็พิจารณาตามเหตุจำเป็นเหมือนเดิม หากไม่มีเหตุจำเป็นก็ต้องจับกุม ซึ่งตั้งแต่มีการปรับเปลี่ยนมาตัวเลขการจับกุมก็ถือว่าลดลงเรื่อยๆ จากเดิม 80-100 ราย ตอนนี้ก็เหลือ 50-60 ราย”

“ส่วนอาชญากรรมคดีเกี่ยวกับทรัพย์หากเทียบกับ 2 เดือนก่อนเคอร์ฟิวและปีที่ผ่านมา ช่วงนี้ถือว่าลดลง ขณะนี้ก็ดูการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดูจำนวนคนออกนอกเคหสถานในยามวิกาล เรื่องคนฝ่าฝืน สถิติคดี พยายามปรับตรงนี้และตรวจสอบสถานที่ให้ปิดชั่วคราว ตรวจสอบเรื่องสินค้าควบคุม หน้ากากอนามัย หรือกรณีอย่าให้กระทำความผิดที่เป็นการซ้ำเติมประชาชน”

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าว

พล.ต.ท.ภัคพงศ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตำรวจนครบาลใช้กำลังตำรวจไปปฏิบัติภารกิจกว่า 2 หมื่นนาย ไปช่วยฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อโรคตามชุมชนที่ร้องขอ

ไปช่วยควบคุมสถานที่ 34 ประเภทที่ปิดชั่วคราว ตามประกาศ กทม.

ประกอบกับต่อมาทางตำรวจต้องมาดูเกี่ยวกับเรื่องสถานที่กักกันประชาชนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ

ตำรวจมีหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลสถานที่กักกันต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังต้องไปช่วย กทม.ในเรื่องของคนที่จะมาแจกอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค ให้กับคนที่เดือดร้อน ซึ่ง กทม.กำหนดจุดไว้ 70 จุด ตำรวจนครบาลก็สนับสนุนการทำงานของ กทม. โดยขั้นตอนของคนที่จะไปแจกอาหาร จะไปแจ้งทางสำนักงานเขตก่อน

เมื่อเขตรับทราบก็จะแจ้งตำรวจในพื้นที่ ตำรวจก็ต้องนำกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกและจัดระเบียบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่เชื้อโรค

ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) เผยตัวเลขภาพรวมการตั้งด่านเคอร์ฟิวในพื้นที่ กทม. วันที่ 27 เมษายน เวลา 22.00 น. ถึงวันที่ 28 เมษายน เวลา 04.00 น. พบผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุจำเป็น 26 ราย ดำเนินคดี 23 ราย ตักเตือน 3 ราย และจับกุมผู้ที่รวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม ในเคหสถาน 40 ราย

อย่างไรก็ตาม ผบช.น.บอกว่า ในอนาคตถ้าการตั้งด่านเคอร์ฟิวมีความสำคัญกว่า และไม่มีเหตุอาชญากรรมเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนกำลังพลใหม่

กลับมาเน้นการตั้งด่านเคอร์ฟิวเช่นเคย

ซึ่งต้องมีการประเมินผลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง