จาก “หญิงหน่อย” ถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ท่านและดิฉันไม่ใช่คนใช้หนี้ก้อนนี้ ช่วยเฉือนเนื้อตัวเองก่อนได้ไหม

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ฉายภาพการบริหารทั้งระบบในการกู้สถานการณ์และเยียวยาประชาชนจากวิกฤตครั้งนี้ว่า เราต้องยอมรับว่าเราจะต้องอยู่กับโควิดอีกยาว เราจะต้องปรับตัวให้ได้ ประเทศไทยเราจะต้องสร้างสมดุลให้ได้ ระหว่างว่าการควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับต่ำและประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดไปกว่านี้

ต้องยอมรับความจริงว่าถึงแม้จะเริ่มให้เปิดทำมาหากินยังไงก็จะไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะเศรษฐกิจไทยเราแย่มาก่อนแล้ว พอเจอโควิดเรียกได้ว่าสลบไปเลย

ก่อนมีโรคระบาดเราอยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว แต่พอโรคนี้มา การท่องเที่ยวไป แถมส่งออก, เกษตร เสียหายหมด

ข้อกังวลและข้อเป็นห่วงในการบริหารของรัฐบาลเวลานี้ อยากให้โฟกัสไปที่ “เงินกู้” ที่รัฐบาลจะกู้ 1.9 ล้านล้าน

ส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนหนึ่งคือการเยียวยาเนื่องจากเราสั่งหยุดกิจการโดยไม่มีการรองรับความเสียหาย รวมถึงการแจกเงินเยียวยาที่ต้องแจกให้ทั่วถึงและรวดเร็ว

เพราะความหิวเป็นเรื่องที่รอไม่ได้

ข้อเสนอที่เราเน้นย้ำมาตลอดก็คือให้ตัดงบประมาณของปี 2563 ออกมาก่อนเลย ซึ่งตัดได้ เราเป็นคนทำงานการเมือง เรามองเห็นว่ามันเป็นงบฯ ที่อยู่ในมือนายกฯ อยู่แล้ว ถ้าเรามีโอกาสเข้าไปทำงานแล้วจะตัดงบฯ ตรงนี้ประมาณ 4 แสนกว่าล้านหรือราวสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เพื่อไปให้คนเดือดร้อนประมาณ 20 ล้าน

รวมถึงภาคเกษตรกรจ่ายเป็นครัวเรือนไปเลย 35,000 บาท เพราะช่วงภัยแล้งเราก็ไม่ได้ชดเชยเขา 5 ล้านครอบครัว เป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่ง ธ.ก.ส.มีตัวเลขอยู่แล้ว โดยเกณฑ์ที่ใช้คือคนไม่มีที่หรือมีที่น้อยกว่า 10 ไร่ลงมา

อันนี้เป็นเรื่องของการเยียวยาต้องรีบให้ อย่าเพิ่งไปกู้

เราในฐานะเป็นคนทำงานการเมืองและในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็รู้สึกน้อยใจรัฐบาล ที่พอจะกู้ก็กู้ถึง 1.9 ล้านล้าน ที่เป็นการกู้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย แถมออกเป็น พ.ร.ก.กู้ทันที

ถ้าเป็นเราเราจะทำกลับกัน เราจะเฉือนเนื้อตัวเองออกก่อนคือตัดงบประมาณในมือที่มี เอาเงินมาใช้เยียวยา เพราะว่าตอนทำงบประมาณเรายังไม่เกิดวิกฤต เราตัดงบฯ ทั้งสร้างตึกใหม่ ซื้อยุทโธปกรณ์ ซื้อรถใหม่ งบฯ สัมมนาอบรม มีงบฯ มากมายที่เราสามารถตัดได้

กลายเป็นว่ายังมีการใช้งบฯ ปกติกันอยู่เลย ยังเห็นงบฯ สัมมนาอยู่ ทั้งที่ต้องตัดมาช่วยคนก่อน คนกำลังหิว หิวจากการที่เราไปสั่งให้เขาหยุดงานหยุดกิจการ

ก้อนต่อมาคือการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ถามว่าเอามาจากไหน ก็ปรับงบฯ 2564 ซึ่งเป็นงบประมาณที่ควรจะปรับได้มากกว่าปี 2563 บางส่วนเขาเร่งทำสัญญาไปแล้วเดี๋ยวก็ตัดไม่ได้อีก

ของปี 2564 มองว่าต้องเร่งปรับเลยเอามาให้ได้อีกสัก 5 แสนล้านมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทำให้ยอดกู้ลดลง จากกู้ 1.9 ล้านล้านบาทจะกู้ต่ำลงมาเพียง 5-6 แสนล้านบาทเท่านั้น

เราต้องทราบก่อนว่าเงินกู้ไม่ใช่เงินฟรี

เป็นเงินที่คนวัยทำงานอย่างหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ลูกหลานของเราจะต้องใช้หนี้ไปอีกนาน

คนใช้หนี้ไม่ใช่ดิฉัน ไม่ใช่นายกฯ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่อีกไม่นานก็ไม่ได้ใช้ภาษี

ดังนั้น การตัดงบประมาณในการกู้เพิ่ม โดยให้ได้เงินก้อนหนึ่งที่มากพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือการมีประสิทธิภาพในการใช้เงิน อย่าให้เหมือนกับอดีตที่ผ่านมาในโครงการของรัฐบาลที่อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถกระตุ้นได้

อาทิ ชิม ช้อป ใช้ บัตรคนจน ท้ายที่สุดมันแสดงให้เห็นแล้วว่ามันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เพราะมันเป็นการส่งเงินไปบนยอดพีระมิด ไปบนธุรกิจขนาดใหญ่ ไปหาเจ้าสัว

อย่าให้มันซ้ำรอยแบบนั้น เพราะว่าคราวนี้มันเป็นวิกฤตที่เราไม่เคยเจอ เอาทั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง+ภัยแล้ง+น้ำท่วม รวมกันยังไม่เท่ากับวิกฤตครั้งนี้เลย

ประการต่อมา อีก 5 แสนล้านในการสนับสนุน SME หากเราไปดูหลักเกณฑ์ที่เขาเขียนมันจะได้ SME ไม่กี่ราย

มันจะได้เฉพาะกลุ่มที่ค่อนไปทางรายใหญ่

แล้วคนอีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ มันจะอยู่นอกระบบ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้คนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่มีกิจการเล็กๆ น้อยๆ อยู่ที่ประตูน้ำ อยู่ตามหัวเมืองเขาได้เข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ ในการเสริมสภาพคล่องให้เขายืนได้ให้เขาอยู่รอด

อย่าลืมว่าหากธุรกิจตัวหนึ่งที่ล้มลงมันจะทำให้พนักงาน 5-10 คนต้องล้มตาม กลายเป็นโดมิโนไปหมด

อีกส่วนหนึ่งคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ไปถึงชุมชนถึงหมู่บ้านซึ่งมันควรจะมีหลักคิดคล้ายๆ กับการแจกเงินคนจน

แต่เราจะกลับไปใช้วิธีเดิมไม่ได้เพราะมันพิสูจน์มาแล้วว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาที่คุณใช้วิธีนี้เงินมันไหลขึ้นไปข้างบนกลุ่มเจ้าสัวหมด

เราควรเอาเงินตรงนี้ผ่านไปหมู่บ้าน เช่น กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ในท้องถิ่น

เช่น เอาไปขุดบ่อหัวไร่ปลายนาให้เกิดการจ้างงานในหมู่บ้าน มันถึงจะทำให้เศรษฐกิจไปได้

ส่วนอีกก้อนที่จะใช้ดูแลตลาดตราสารหนี้จะต้องเอาให้ชัดว่าตลาดตราสารหนี้ที่คุณจะเข้าไปอุ้ม ต้องไม่ใช่เครือข่ายของพวกเจ้าสัวที่นายกฯ อยากเรียกมาขอความเห็น 20 ราย

แต่การจ่ายมันจะต้องไปพยุงให้ตลาดนี้สามารถอยู่ได้อย่างแท้จริง

ที่สำคัญก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลภาคส่งออกว่าจะดูแลอย่างไรให้เขายังสามารถส่งออกได้ หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะทำอย่างไร เราต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัย ในการวางมาตรการให้ต่างชาติมั่นใจว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วปลอดโรค

ห้างสรรพสินค้าต้องมีมาตรการเข้มแบบตอนเราทำโรคซาร์ส

เช่น บันไดเลื่อนมีคนยืนเช็ดตลอดเวลา

ลิฟต์มีคนอยู่ในลิฟต์เป็นคนกดและทำความสะอาดภายในลิฟต์ ถ้าเราสร้างตรงนี้ได้แล้วเราภาวนาว่าภายในไตรมาส 3 ก็น่าจะพอกลับมาได้

เราต้องทำให้เกิดความมั่นใจนี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องดูแลให้ครบ

นอกจากนั้น หลังจากนี้ เราจะต้องทำ Grand Sale ทั่วประเทศลดกระหน่ำทั้งประเทศให้คนกลับมา

เราก็ต้องออกกฎเกณฑ์ใหม่ด้วยนะว่าหากจะมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ใหญ่แล้วนั่งรวมกันไม่ได้ ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม จะต้องมีการตรวจสุขภาพอย่างเต็มที่

ภาพเหล่านี้อาจเห็นได้ในปลายปี

รัฐบาลต้องเตรียมการคิดไว้แล้ว เหมือนกับเตรียมสานแห รอไปดักจับปลา เราต้องสานแล้วตอนนี้

ขอย้ำนายกฯ ว่า อย่าคิดกู้ตั้งแต่บาทแรก นี่เป็นความน้อยใจในฐานะคนไทยว่าทำไมรัฐบาลไม่เห็นใจคนหนุ่มสาวและลูกหลานตัวเองที่ต้องรองรับการใช้หนี้ก้อนโต

ทำไมคุณไม่ตัดงบประมาณก่อน เปรียบเสมือนว่าครอบครัวหนึ่งพ่อบ้านกำลังจะซื้อรถเบนซ์คันใหม่ เก็บเงินก้อนหนึ่งไว้แล้วดันเกิดไฟไหม้บ้านแบบคาดไม่ถึง พ่อบ้านจะเลือกอะไรระหว่างไปกู้เงินมาซ่อมบ้านที่ไฟไหม้ให้ลูกและครอบครัวกลับไปอยู่บ้านอย่างปลอดภัยจากการเสียสละไม่ใช้รถเบนซ์

เอาเงินที่จะซื้อรถเบนซ์มาซ่อมบ้านแล้วก็กู้ให้น้อยลง นี่คือทางเลือกที่ต้องเลือก

หาก พล.อ.ประยุทธ์อ่านอยู่ ดิฉันมี 3 อย่างที่อยากฝากถึง คือ

1. ขอให้กำลังใจท่านในฐานะนายกรัฐมนตรี

2. พล.อ.ประยุทธ์จะต้องทบทวนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์พิเศษนี้ในหลายข้อทีเดียว จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นมาตรการที่ออกมารายวัน โดยไม่คิดภาพรวมทั้งระบบแบบนักบริหารจัดการมืออาชีพ ถึงได้เกิดปัญหาขึ้นใหม่แบบรายวัน จริงๆ ประเทศเราไม่ควรจะต้องเดินมาถึงจุดนี้ ที่จะต้องปิดอะไรมากมายแบบทุกวันนี้ ถ้าเราไม่พลาดในวันที่ 22 มีนาคม ในการปิดกรุงเทพฯ แล้วขาดมาตรการรองรับ เราจึงไม่อยากให้ความผิดพลาดแบบนั้นเกิดขึ้นอีก

ซึ่งการเริ่มพิจารณาเปิดเมือง ให้คนทำมาหากินได้ จะต้องระดมความเห็นจากผู้รู้ มีมาตรการแม่นยำ-ครอบคลุมทางด้านสาธารณสุขบังคับใช้อย่างเข้มข้น ไม่ให้เรากลายเป็น “งูตกบันได” กลับไปที่จุดเดิมใหม่อีก ที่สำคัญคงไม่มีใครปรารถนาที่อยากจะเห็นการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว

3. วันนี้ได้โปรดเห็นใจว่าวิกฤตครั้งนี้เหมือนไฟไหม้บ้าน นายกฯ มีเงินถืออยู่ 3.2 ล้านล้าน นายกฯ จะเลือกตัดเงินจำนวนนี้ที่อยู่ในมือ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกู้ทั้งหมดก่อนได้ไหมคะ แทนที่จะเลือกกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วให้ลูกหลานเราไปตามใช้หนี้กันชั่วชีวิต ช่วยตัดเงินในมือท่านมาก่อน เหลือเท่าไหร่ก็กู้ให้น้อยที่สุด

ส่วนตัวเห็นด้วยว่าวิกฤตนี้ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลมากู้เศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่กู้ทุกบาท อยากวิงวอนขอจริงๆ เพราะตัวดิฉันและท่านนายกฯ ไม่ได้เป็นคนใช้หนี้ก้อนนี้เพราะอีกไม่กี่ปีก็ไม่อยู่กันแล้ว

แต่ลูกหลานเราจะเป็นคนใช้หนี้นี้

ถ้าท่านทำแบบที่ดิฉันแนะนำนี้ท่านจะสามารถช่วยคนที่หมดหนทางกำลังจะอดตายได้อีกหลายสิบล้านคนเลยทันที

โดยการเยียวยาต้องทั่วถึงและทันที

ก็ต้องฝากท่านนายกฯ ว่า ให้ช่วยฟังเสียงของคนที่ยากลำบาก คนที่จะอดตายด้วย

แล้วรีบปรับการทำงานของตัวเองให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

ชมคลิป