ผ่าคดีเขย่ากองทัพ ทหารกับสารพัดเหตุ จับตาปฏิรูปยุคโควิด วอนหั่นงบซื้ออาวุธ

ถือเป็นองค์กรที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด จนกระทั่งโรคระบาดเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชนอย่างมหาศาล

จากมุมมองเรื่องการบริหารจัดการภายใน มาจนถึงเรื่องการใช้งบประมาณในการจัดซื้ออาวุธอย่างมหาศาล

แม้ทั้งกองทัพจะออกมาประกาศหั่นงบประมาณไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สังคมเองก็ยังมองว่าไม่เพียงพออยู่ดี

รวมทั้งการปฏิรูปกองทัพ ที่ผบ.ทบ. ประกาศเป็นผู้นำขจัดธุรกิจสีเทา รวมทั้งการหาประโยชน์จากแวดวงทหารทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณสวัสดิการ หรือบ้านพักหลวงต่างๆ

ที่เงียบหายไปตั้งแต่การประกาศ จนตอนนี้คืบหน้าอย่างไรแทบไม่มีใครรู้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกำลังพลที่ใช้อำนาจในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน อย่างการรุมทำร้ายพี่น้องเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสที่ จ.นครพนม

และเรื่องส่วนตัวจากกรณีทหารที่ตรังพัวพันคดีจ้างมือปืนใช้อาวุธสงครามถล่มประชาชน เพราะหนวกหูเพลงเสียงดัง

เป็นองค์กรที่รอการปฏิรูปอย่างจริงจัง

แฟ้มคดี

รถเกราะล้อยาง

 จี้กองทัพเลิกงบซื้ออาวุธ

หลังจากวิกฤตโควิด จนรัฐบาลต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. … ไปเป็นงบกลาง เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนการแก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสังคมก็จับจ้องไปยังกองทัพอย่างช่วยไม่ได้

เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้ออาวุธ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ ใดๆ ในภาวะวิกฤตโรคระบาด

โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกทร. ระบุว่า ทร.สรุปปรับลดงบประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 4.1 พันล้านบาท พร้อมชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 รวมทั้งโครงการซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เครื่องฝึกจำลองยุทธ์ โครงการจัดหาระบบอาวุธปืน

แต่ก็ยังระบุว่าการซื้อเรือดำน้ำต้องชะลอไปเป็นปีงบประมาณ 2564 เพราะมักตกเป็นเหยื่อ และเป้าในการปลุกกระแสต่อต้าน เป็นความพยายามในเชิงจิตวิทยา ไม่ต้องการให้ไทยมีกำลังทางเรือเท่าเทียม ทันยุคสมัย ทั้งที่เป็นงบของกองทัพเรือเอง ไม่เกี่ยวกับงบกระทรวงอื่น

ขณะที่กองทัพบกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องบประมาณ จัดซื้อรถเกราะล้อยาง หรือสไตรเกอร์ 50 คัน วงเงิน 4.5 พันล้านบาท

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกทบ. ระบุว่า กระทรวงกลาโหม หั่นงบประมาณคืนเป็นงบกลางแล้ว 1.8 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบของทบ.หน่วยงานเดียวเกือบ 1 หมื่นล้านบาท

แต่สำหรับเรื่องรถเกราะสไตรเกอร์ เป็นโครงการผูกพันข้ามปี 2563-2565 ทุกอย่างทำตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง โดยปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท ก็ปรับลดเหลือ 450 ล้านบาท แต่โครงการจัดซื้อยังคงมีอยู่ โดยเป็นการจัดซื้อในรูปแบบความช่วยเหลือทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐ

ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกทบ. ระบุว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ระบุว่าการปรับลดงบประมาณจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนากำลังรบ แต่ก็เข้าใจความจำเป็นของประเทศ และยินดีปรับลดงบประมาณ

พร้อมระบุว่า ขณะนี้เราอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประชาชนมีความเดือดร้อนและอ่อนไหวต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กองทัพบกขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ให้เสนอข้อมูลข่าวสารตามข้อเท็จจริง เนื่องจากข่าวสารที่นำเสนอ มีความสำคัญต่ออารมณ์ของคนไทยที่อยู่ในสภาวะตึงเครียด กับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

มีบางเพจนำเข้าข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ใส่อารมณ์ต่อว่าต่อขานกองทัพบกและผู้บังคับบัญชาระดับสูง ขอให้เบาๆ ลงกันหน่อย เพราะกองทัพบกไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการกับทางเพจ

เป็นคำเตือนจากกองทัพถึงประชาชน

แฟ้มคดี

เหยื่อตื้บบาดเจ็บ

 โหดซ้อมดับ-จ้างยิงข้างบ้าน

นอกจากเรื่องงบประมาณ ยังมีเรื่องการปฏิบัติตัวของกำลังพลที่ส่งผลอันตรายต่อประชาชน อย่างกรณีที่ จ.นครพนม เมื่อกลางดึกวันที่ 17 เม.ย. เกิดเหตุทหารชุดปราบปรามยาเสพติด สังกัดกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี 7 นายบุกจับกุมนายยุทธนา ซ้ายซา อายุ 33 ปี และนายณัฐพงษ์ ซ้ายซา อายุ 29 ปี 2 พี่น้อง จากเถียงหน้าสวนยางพาราท้ายหมู่บ้านยางคำ ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ไปสอบสวน เพราะสงสัยว่าเกี่ยวพันกับขบวนการยาเสพติด

ส่งผลให้นายยุทธนาเสียชีวิต แพทย์ชันสูตรระบุว่า สมองกระทบกระเทือนหนัก ปอดเขียวช้ำ แต่ในกระเพาะอาหารไม่พบยาเสพติด ขัดกับทหารที่อุ้มไปซ้อม ระบุว่านายยุทธนากลืนยาเสพติดเข้าไป

ขณะที่นายณัฐพงษ์ น้องชายบาดเจ็บสาหัส ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุตนและ พี่ชายกินข้าวอยู่ในกระท่อม จู่ๆ มีรถกระบะของทหารมาจอด แล้วชายชุดพราง 7 คนก็กรูบุกเข้ามาพยายามจับตัว ตนและพี่ชายตกใจ พยายามหนี ยอมรับว่าเคยเสพยา แต่ไม่ได้สร้างปัญหาใด

จากนั้นทหารจับตัวใส่กุญแจมือไพล่หลัง แล้วก็ซ้อมทั้งเตะ ถีบ กระทืบ ก่อนนำตัวทั้งคู่ไปยังฐานปฏิบัติการชั่วคราว ภายในบริเวณวัดกัณตะศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม แล้วซ้อมต่ออีกเป็นชั่วโมง เค้นให้รับว่าค้ายาบ้าทั้งที่แค่เสพเท่านั้น จากนั้นพี่ชายถูกซ้อมจนสลบแล้วลากมากองรวมที่พื้น

ต่อมาชายชุดพรางมาดูพบว่าพี่ชายนอนตาค้าง จึงนำส่งร.พ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ขณะที่ตำรวจแจ้งข้อหาทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส รอผลตามกระบวนการยุติธรรมว่าจะเป็นอย่างไร

ส่วนอีกเหตุเกิดขึ้นที่ จ.ตรัง ในคดีที่มีคนร้ายใช้เอ็ม 16 ถล่มนายสุธน แซ่ฮ่อง อายุ 44 ปี เสียชีวิตที่บ้านเช่าแห่งหนึ่ง ใน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมือง จ.ตรัง โดยเชื่อว่าเกิดจากความรำคาญที่ผู้ตายเปิดเพลงเสียงดัง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.

ต่อมาวันที่ 28 เม.ย. เจ้าหน้าที่จับกุมนายอุดมศักดิ์ ผักคิ่น อายุ 33 ปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงนายสุธน

พร้อมออกหมายจับ ส.อ.นพณัฐ พงษ์ศิริ อายุ 33 ปี ทหารสังกัด กอ.รมน.ส่วนกลาง ในข้อหาจ้างวานฆ่า โดยอยู่ระหว่างการประสานจากหน่วยต้นสังกัดที่ดึงตัวไปช่วยราชการในค่ายทหาร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้อาวุธปืนของกลาง และยังไม่แน่ชัดว่าเป็นปืนของหน่วยทหารหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการเบิกอาวุธดังกล่าวมาใช้ แต่พบปลอกกระสุนในบ้านพักของ ส.อ.นพณัฐ

เชื่อจะได้ตัวมาสอบสวนเร็วๆ นี้ และคงไม่มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิด

แฟ้มคดี

สอบเพื่อนส.อ.

■ แฉทุจริตยักยอกเบี้ยเลี้ยง

ไม่เพียงแค่นั้น ยังคงมีเรื่องการบริหารภายใน โดยหลังจากที่เกิดเหตุจ่าคลั่งกราดยิง ที่ จ.นครราชสีมา แล้วพบว่าเกิดจากปัญหาการกู้ยืมเงินซื้อบ้าน จากกรมสวัสดิการกองทัพบก

ก็เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพ จนกระทั่ง ผบ.ทบ.เซ็นสัญญาให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังบริหารธุรกิจแทน รวมทั้งให้จัดระเบียบเกี่ยวกับบ้านหลวงที่มีผู้ใช้ประโยชน์ทั้งหมด

แต่ก็ยังมีเรื่องที่น่ากังขาเกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายวีระ สมความคิด นำ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม ทหารสังกัดศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก เข้าร้องเรียนต่อ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียนกรณีทหารชั้นผู้น้อยถูกโกงเบี้ยเลี้ยง

โดยมีหลักฐานสำคัญ คือหนังสือขออนุมัติเดินทางไปราชการชั่วคราวของศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ เมื่อปี 2560 ระบุไปราชการที่ จ.นครราชสีมา 2 ครั้ง งบประมาณครั้งละ 18,360 บาท และไปราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา อีก 2 ครั้ง เบิกงบประมาณครั้งละ 12,240 บาท ระบุมีทหาร 25 คนร่วมโครงการ แต่ไม่การเดินทางไปจริง

นอกจากนี้ยังมีโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันยาเสพติด ช่วงมิ.ย.-ก.ค. 2562 ใช้รายชื่อทหารชุดเดิม มี พ.ท. ซึ่งปัจจุบันเป็น พ.อ. เขียนใบเสร็จเอง บางครั้งมีทหารหญิงยศ ส.ท.เป็นผู้ออกใบเสร็จให้

ส.อ.ณรงค์ชัยระบุว่า ไม่เคยเข้าร่วมโครงการ แต่ถูกบังคับให้ลงชื่อ เคยทักท้วงผู้บังคับบัญชา แต่กลับถูกกลั่นแกล้งลงโทษทางวินัย ร้องเรียนภายในกองทัพ ผ่านลำดับชั้นการบังคับบัญชาก็ไม่ได้ผล

ยิ่งร้องทุกข์ยิ่งถูกลงโทษหนักขึ้น

“ผมไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก ขอเป็นตัวแทนทหารชั้นผู้น้อยเปิดโปงเรื่องนี้ เพื่อทหารรุ่นน้อง เพื่อประโยชน์ประเทศ ไม่มีใครอยากทำให้กองทัพเสียชื่อเสียง หากผู้บังคับบัญชาใส่ใจ ไม่ทุจริตในกองทัพ และพร้อมให้ข้อมูลกับป.ป.ช. และให้ช่วยดูแลคุ้มครองพยานด้วย”

เป็นเสียงทหารชั้นผู้น้อยที่น่าฟัง