เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | แลกข้าว-แลกปลา ชาวดอยชาวเล

คนกินน้ำไม่เห็นต้นน้ำ

คนกินข้าวไม่เห็นต้นข้าว

ถึงมีเงินเต็มกระเป๋า

ข้าวก็ไม่เต็มกระบุง

ภาษิตปกากะญอบทนี้คุณชิ หรือชื่อจริงว่า สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ เป็นคนเอ่ยให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว

เรารู้จักคุณชิในนาม “ชิ เตหน่า” ด้วยคุณชิเป็นศิลปินชาวปกากะญอ เล่นเครื่องดนตรีชื่อเตหน่า ลักษณะเป็นพิณดีด โดยคุณชิมีความสามารถทั้งแต่งเพลง ร้องเพลง พร้อมดีดพิณเตหน่าเองเสร็จสรรพ

ชิ เตหน่า จึงเสมือนเป็นปากเสียงและจิตวิญญาณที่เป็นตัวแทนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเหนือทั้งหมดจากกิจกรรมตระเวนเล่นดนตรีแบบศิลปินเดี่ยวและบอกเล่าเรื่องราวของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้ผู้ฟังได้รับรู้ ซึมซับวิถีชีวิตของเขามาโดยตลอด

ภาษิตข้างต้นอันเป็นดังบทกวีนั้นเป็นตัวอย่าง

ปัจจุบัน ชิกลายเป็นนักวิชาการคนสำคัญในตำแหน่ง ผศ. กำลังทำปริญญาเอก

สำคัญยิ่งขณะนี้คือ ชิและเพื่อนพ้องตั้งกลุ่มเรียกว่า ARTIVIST (ARTIST + ACTIVIST) ภายใต้สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย ที่ตัวชิเองมีบทบาทสำคัญอยู่ โครงการสำคัญวันนี้คือ โครงการ “ข้าวแลกปลา ชาวเลชาวดอยสู้ภัยโควิด-19”

คือ “แลกข้าวแลกปลา” นั่นเอง

ชิบอกว่า

“พี่น้องชาวกะเหรี่ยงชาวดอยมีข้าว ส่วนพี่น้องชาวเลมีปลา และที่มีเหมือนกันคือความเดือดร้อน เราจึงจะเอาข้าวไปแลกปลา เราจะส่งข้าวไร่บนดอยไปให้ชาวเลที่ภูเก็ต แน่นอนมันง่ายกว่าอยู่แล้วถ้าจะมีคนเอาเงินไปบริจาคให้ชาวเลไปซื้อข้าว และเอาเงินมาให้ชาวดอยซื้ออาหารแห้ง แต่มันจะเป็นกระบวนการสงเคราะห์ ช่วยเหลือชั่วคราว”

ขยายความว่า

“สิ่งที่เราทำคือหลักเศรษฐศาสตร์เชิงวัฒนธรรม เราจะได้กินอย่างรู้ที่มา เราได้กินปลาจากเจ้าของปลา และชาวเลที่เอาข้าวของเราไป ก็จะได้กินข้าวจากคนที่กินปลาของเขา เรียกว่า หลัก P2P – People to People และ Producer to Producer สิ่งที่ได้คือแก้ปัญหาปากท้อง อย่างที่สองคือจะได้เห็นว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำให้เราอยู่รอดแม้ในภาวะวิกฤต…”

หมวดท้ายไว้อย่างมีนัยยะสำคัญคือ

“สังคมเองก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้”

ข้อมูลเพิ่มเติมคือ

ขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งกะเหรี่ยง ลีซู ม้ง อาข่า จาก จ.ตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ กำลังรวบรวมข้าวไร่ข้าวดอยจากไร่หมุนเวียนของพวกเขา ซึ่งคาดว่าจะมีข้าวกว่า 4,000 กิโลกัรม หรือ 400 ถัง สำหรับการนำไปแลกปลาของชาวเล

คุณไมตรี จงไกรจักร ผจก.มูลนิธิชุมชนไท ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการในพื้นที่ภาคใต้บอกว่า

“ขณะนี้ชาวเลราไวย์กว่า 20 ครอบครัว กำลังระดมคนออกทะเลไปหาปลาเช่นกัน วันนี้ (13 เม.ย.) หาได้ 100 กิโลกรัม และเตรียมที่จะออกเรือไปหาเพิ่มอีก 400 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าในส่วนการลำเลียงครั้งแรกน่าจะได้ปลาราว 500 กิโลกรัมภายใน 1 สัปดาห์ โดยเน้นที่ปลาพันธุ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ปลาทูแดง ปลาทูแขก ปลาข้างเหลือง เพื่อนำไปทำเป็นปลาเค็มตากแห้งถนอมอาหารให้อยู่ได้นาน และให้ชาวดอยเก็บไว้กินจนกว่าจะดับไฟป่าได้ หรือจนกว่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติ”

และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

“โครงการตั้งใจขนส่งให้ปลาถึงมือชาวดอยและข้าวถึงมือชาวเลภายในเดือนเมษายนนี้ เพื่อบรรเทาความลำบากของพี่น้องให้เร็วที่สุด”

ทั้งหมดนี้เป็นโครงการแสนดี สุดแสนจะดี สมวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม คือ “แลกข้าวแลกปลา” อันเป็นวัฒนธรรม “กินข้าวกินปลา” อาหารหลักของชาวอุษาคเนย์เรา

แต่อุปสรรคของโครงการนี้คือ

“แต่ปัญหาติดอยู่ที่การขนส่ง เนื่องจากเป็นระยะทางที่ห่างไกล และมีน้ำหนักมาก ทั้งข้าวและปลา จึงต้องการความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านเงินทุนหรือกำลัง เช่น หากได้รถสิบล้อมาขนข้าวก็คงจะดี”

นี่ไงปัญหาที่เป็นอุปสรรคของโครงการแสนดีนี้

ไม่อยากให้ช่วยเป็นเงินทุนนอกจากที่จำเป็นจริงๆ ด้วย เจ้าเงินนี่แหละจะกลายเป็นอุปสรรคและปัญหาตามมา ดังโครงการทั้งหลายบรรดามี

แต่อยากเห็นความช่วยเหลือตรงๆ เช่น บริการขนส่งจากหน่วยงานรัฐหรืออาสาสมัครทั้งยานพาหนะ น้ำมัน คนขับ ฯลฯ

ด้วยการทำงานแบบ “อาสาสมัคร” นี้แหละจะทำให้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่แท้ในยามยากลำบากเช่นนี้ สมดังคำของ ม.จ.สิทธิพรกฤดากร ที่ว่า

“เงินทองของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

ชาวดอยกับชาวเลกำลัง “ถอดรหัสธรรม” นำร่องให้สังคมได้ประจักษ์เป็นจริงแล้วว่า ในยามวิกฤตนี้มนุษย์เรายังอยู่กันได้ด้วยน้ำใจ และศักยภาพของความเป็นมนุษย์ด้วยกันนี่เอง

วิถีวัฒนธรรม “แลกข้าวแลกปลา” จะทำให้โลกประจักษ์ด้วยว่าวิถีไทยเช่นนี้แหละ

ช่วยโลกได้จริง