ธุรกิจพอดีคำ | เวลาสัมภาษณ์งานในยุค COVID

“ขี่จักรยานยุค COVID”

“ตกงาน”

คำพูดที่หลายคนน่าจะไม่อยากได้ยินในช่วงเวลานี้

เวลาได้ยินคำนี้ เรามักจะนึกถึง พนักงานตาดำๆ

ไม่ว่าจะทำงานในบริษัท หรือทำงานร้านอาหาร

ในช่วงที่เจ้าของธุรกิจไม่มีรายได้เข้ามา

การเลิกจ้างพนักงาน ก็ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ใครๆ ไม่อยากจะเลือก

แต่มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการตกงานเป็นอย่างมาก

เป็นสิ่งไม่คาดฝันของพวกเขา

เพราะเมื่อต้นปี ชีวิตของพวกเขายังเต็มไปด้วยไฟฝัน

อยากจะออกไปเผชิญโลกแห่งการทำงาน

อยากจะออกไปหาเงินมาเลี้ยงดูตัวเองเป็นครั้งแรก

ใช่ครับ

นักศึกษาปี 4 ที่กำลังจะจบการศึกษากลางปีนี้

หลายคนกำลังจะตกงาน

เมื่อวันก่อนผมได้มีโอกาสคุยกับน้องๆ ที่ให้คำแนะนำอยู่เรื่อยๆ

เป็นนิสิตจุฬาฯ ที่เพิ่งได้รับการตอบรับเข้าทำงานไปหยกๆ เมื่อต้นปี

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้รับการ “ยกเลิก” ข้อเสนอนั้นไป

ไม่ใช่แค่คนเดียว แต่หลายคนกำลังจะต้องเผชิญเหตุการณ์นี้

เจ้าของธุรกิจตอนนี้คงจะปรับตัวกันน่าดูครับ

เด็กจบใหม่ที่ยังทำงานเลยไม่ได้

ถ้าบริษัทที่กำลังจะเติบโต ก็อาจจะพอมีกำลังมาสอนงาน

แต่ยุคที่ยากลำบากแบบนี้

คนงานปัจจุบันก็เยอะอยู่แล้ว

การจ้างคนเข้าไปทำงาน จึงมิใช่สิ่งที่พึงกระทำนัก ในฐานะนักธุรกิจ

น้องๆ ถามผมว่า

“พี่ต้องครับ ทำยังไงถึงจะได้งานในช่วงนี้”

ผมคิดอยู่พักหนึ่ง

แล้วก็ตอบน้องๆ ไปว่า

“อย่าเลือกงานมาก”

ทุกวันนี้เชื่อเหลือเกินว่า “งานที่เราอยากทำนั้น” อาจจะไม่ได้อยากได้เราเข้าไปทำงาน

สิ่งหนึ่งที่น้องๆ นักศึกษาจบใหม่ทำได้

ก็คือ “เริ่มทำงาน” ให้เร็วที่สุด

งานที่เราอาจจะไม่ชอบมาก

ก็ขอให้ทำไปก่อน

เพราะการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ก็เหมือนกับการเปิดหนังสืออ่านวิชา “ขี่จักรยาน”

จักรยานนั้นก็เหมือนกับ “บริษัท”

ครั้งนี้อาจจะไม่ได้มี “จักรยาน” หรูหรา โก้เก๋ รอเราให้ขึ้นไปขี่

แต่การ “ไม่ขี่จักรยาน” นั้น ไม่เกิดประโยชน์

เมื่อใดที่เราขึ้นไปขี่จักรยาน

แม้ว่ามันจะเก่า ไม่น่าขี่

แต่มันก็จะทำให้เราเริ่มเข้าใจจังหวะของการขี่จักรยาน

ที่การอ่านหนังสือ นั่งเรียนในชั้นเรียนที่เราทำมาตลอดชีวิตให้ไม่ได้

เมื่อเราขึ้นขี่จักรยานเป็นครั้งแรก

เราจะ “ล้ม” เป็นธรรมดา

เราต้องใช้เวลา อาจจะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ในการหัดขี่ให้เป็น

เราไม่อาจจะวางแผนได้ว่าเมื่อไรเราจะขี่เป็น

วันอังคารหน้า ตอนสามโมง ฉันจะขี่เป็นแล้ว 70% อะไรแบบนี้

ทำไม่ได้

แต่เชื่อว่า หากฝึกฝน ทำงานหนักบ่อยๆ

สักวันจะขี่เป็น

และข้อดีของการขี่จักรยานก็คือ เราจะลืมไปว่า การขี่ไม่เป็น เป็นอย่างไร

ทักษะนี่จะติดตัวเราไป แม้ว่าเราจะไปขึ้นจักรยานคันใหม่

ที่ขี่ได้เร็วกว่านี้ ลื่นไหลกว่านี้

ทักษะที่เราจะได้จากการขี่จักรยานคันแรก แม้จะเก่าและไม่สวยงามอย่างที่ตั้งใจไว้

รับรองว่า จะได้ใช้และทำให้งานที่เรารักในอนาคต สามารถไปได้ไว ไปได้ไกล

มากยิ่งกว่าคนที่มัวแต่จดๆ จ้องๆ

มัวแต่เลือกจักรยาน

จนไม่ได้ขึ้นไปขี่เสียที

ปล่อยให้เพื่อนๆ เขา “ออกตัว” กันไปหมด

เวลาสัมภาษณ์งานในยุค COVID

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “คุณจะไปช่วยอะไรบริษัทได้บ้าง”

บริษัทเขาก็คนเยอะอยู่แล้ว

ค่าใช้จ่ายก็ต้องลด

มีคุณ หรือไม่มีคุณ มันจะแตกต่างยังไง

น้องๆ นักศึกษาที่ไม่อยากตกงาน ต้องตีโจทย์นี้ให้แตก

“ผมทำงานหนักเหมือน 10 คนได้ครับพี่”

“หนูเอาเงินเดือนน้อยๆ ก็ได้ค่ะพี่ ขอให้หนูได้ทำงาน”

ความอดทน ความขยันนี่แหละ คือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจในยุคประกอบการมองหา

ทำงานให้คุ้มเงินเดือน

ทำงานให้หนัก หวังเงินเดือนให้ไม่สูงมาก

และแถมสิ่งที่สำคัญในตอนสัมภาษณ์งาน

ไม่มีอะไรเสียหายเลย ถ้าเราจะเป็นคนน่ารัก

“ถ่อมตัว”

ในยุคนี้ ที่เศรษฐกิจไม่ดี

การมีคนเก่ง แต่นิสัยไม่ดี อยู่ในองค์กรมากๆ

ก็ทำให้ผู้บริหารนอนไม่หลับเอาเหมือนกัน

เป็นคนเก่งแล้ว ทำงานหนักแล้ว

ต้องนิสัยดี เป็นที่รัก

ใครทำอย่างที่กล่าวข้างต้นได้

ก็มีโอกาสได้งานในยุคที่บริษัทไม่ได้รับคนเยอะ

ค่าตอบแทนที่ได้นั้นไม่ใช่ “เงินเดือนมากมาย” เอามาเปรียบเทียบกัน

แต่คือ “ประสบการณ์ขี่จักรยาน” ที่จะหาค่าไม่ได้