ฐากูร บุนปาน : เข้าเทศกาลขายของต้องมาตามหน้าที่อีกแล้วขอรับ

เข้าเทศกาลขายของต้องมาตามหน้าที่อีกแล้วขอรับ

แต่ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ว่า ที่ขายอยู่ทุกวันนี้ เป็น

“ของแท้ราคายุติธรรม ไม่หลอกลวงทั้งชราและทารก”

ตามสำนวนกำลังภายในแน่นอน

ฮา

 

คนมีอาชีพทำหนังสือนี่ครับ จะขายอะไรนอกจากหนังสือ

แล้วนี่ก็เข้าช่วงเทศกาลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติแล้วด้วย

สารพัดหนังสือดีมาวางเรียงรายล่อใจและล่อตาจนเลือกไม่ถูก

แต่ต้องขออนุญาตแนะนำของสำนักพิมพ์มติชนเอาไว้ก่อน (ฮา-อีกที)

ปีนี้น้องๆ เขาตั้งคำขวัญเอาไว้ว่าเป็นเรื่องของ “ความทรงจำ”

ในจำนวนนี้ที่เด่นเด้งมาแต่ไกลก็คือ “พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา” ของ ออร์ฮาน ปามุก นักเขียนรางวัลโนเบลจากตุรกี

เรื่องรักที่เป็นมากกว่าเรื่องรัก แต่ก็ละเมียดละไม บาดลงไปในความรู้สึก สมกับเป็นนิยายรัก

ละมุนทั้งโครงเรื่อง สำนวนผู้แต่ง และละเมียดด้วยความประณีตของผู้แปลอย่าง อาจารย์นพมาส แววหงส์

อีกเล่มก็คือ “ความสุข ความทรงจำ ในรัชกาลที่ 9” ของ อาจารย์ธงทอง จันทรางศุ

บันทึกของคนที่เกิด เติบโต และมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

ใครเป็นแฟนคลับอาจารย์ธงทอง และเป็นคนร่วมสมัย อ่านแล้วจะหวนนึกถึงอารมณ์และบรรยกาศบางอย่าง (และหลายอย่าง) ร่วมกัน

สำคัญอีกเล่มก็ “ร้อยเรื่องราวพระราชวังต้องห้าม” หนังสือที่จะพาเข้าไปพบกับโลกของวัฒนธรรมจีนที่สะท้อนจากพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง

ผ่านแง่มุมสถาปัตยกรรม ศิลปะ และคติความเชื่อ

อ่านไม่อ่านก็ควรมีเก็บไว้ค้นคว้าและอ้างอิงครับ

 

แต่ที่ประกาศความอาฆาตส่วนตัวเอาไว้ว่าจะต้อง “จดการ” (คืออ่านให้จบทั้งเล่ม) ก่อนงานสัปดาห์หนังสือจะจบลงนั้น มีอีกสองสามเล่มด้วยกัน

เล่มแรก พกติดกระเป๋าไปแล้วคือ “อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้นี่เอง” ของ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ผู้สมเป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์ขนานแท้

คือแก้ไขหักล้างอคติหรือความเชื่อผิดๆ ด้วยข้อเท็จจริงและหลักการที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว

ใครที่เป็นแฟนคลับอาจารย์ในเว็บในเพจ พลาดเล่มนี้ไม่ได้เชียว

อีกเล่มมาแนววิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ “อย่าชวนเธอไปดูหนังรัก” ของ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

ไม่เฉลยละครับว่าทำไม

เช่นเดียวกับอีกหลายๆ บทความที่จะนำเราๆ ท่านๆ ไปรู้จักกับอารมณ์-ความรู้สึกตัวเองที่ลึกซึ้งขึ้นในเล่มนี้

ถ้าเล่มแรกคือรู้เขา เล่มหลังก็คือรู้เราครับ

ตบท้ายของความอาฆาตคือการย้อนอ่านเรื่องเก่า (บางส่วน) ที่ผสมของใหม่จากนักเขียนรุ่นครูอย่างลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์

“เจ้าพ่อ เจ้าเมือง เจ้าแม่” ครับ

สองเล่มแรกนั้นมติชนเคยพิมพ์ออกมาจนขาดตลาดไปแล้ว

เล่มหลังคุณลุงเขียนลงนิตยสาร “กุลสตรี”

เพื่อให้ครบชุดครบอารมณ์ จึงนำมาพิมพ์เป็นชุดใหม่

แฟนอาจินต์ คนรักหนังสือ คนชอบศึกษาประวัติศาสตร์หมาดๆ หรือรวมไปถึงคนชอบหนังสือทั้งหมด

น่าจะชอบใจ

 

นี่ยังไม่นับหนังสืออื่นๆ ที่เขาแนะนำกันให้อื้ออึงอย่าง “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ” ของ คุณวีรพร นิติประภา ผู้เขียนหนังสือให้อ่านแบบขบ

หรือนวนิยายชุด “ชีวิตของประเทศ-ข้ามสมุทร” ที่ อาจารย์วิษณุ เครืองาม บรรจงรจนา

รวมถึงเรื่องแสบๆ มันๆ แต่ว่าเป็นความจริงที่คน (นอกคุก) ไม่ค่อยรับรู้กันนักอย่าง “เหลี่ยมคุก”

หนังสือบันทึกเสี้ยวชีวิต (จริง) ส่วนหนึ่งของ คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์

จะอ่านไว้ป้องกันตัว ไว้เป็นประสบการณ์ หรือเพื่อเอาไปจัดการแก้ไข ได้ทั้งนั้นละครับ

แนวประวัติศาสตร์อย่าง “พระศรีสรรเพชญ์ ไม่ถูกไฟเผาลอกทองตอนกรุงแตก” ของ อาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

ยังไม่ทันวางแผงก็เปิดประเด็นถกเถียงกันอื้ออึง

ไปถึง “ซูสีไทเฮา” เล่มล่าสุดในชุดวิถีแห่งอำนาจ ของ คุณเสถียร จันทิมาธร

อ่านมาร้อยเล่ม เพื่อสรุปให้เหลือเล่มเดียว มีไม่กี่คนละครับที่ทำได้

 

อย่าลืมไปพบกันนะครับ

งานเขามีตั้งแต่ 29 มีนาคม-9 เมษายน

เจอกันที่บู๊ธมติชนก็ได้ หรือเตร็ดเตร่ไปตามบู๊ธอื่นก็ได้

จะอ่านจะซื้อของใคร ขอให้เป็นหนังสือเถอะครับ

ชื่นใจแล้ว