เกษียร เตชะพีระ | ยอค่าการเมือง (2)

เกษียร เตชะพีระ

(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษแสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่สอง : ยอค่าการเมือง (ต่อ)

ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เราเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ อาทิ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงซึ่งผลประโยชน์ของคนรุ่นถัดๆ ไปในอนาคตแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับผลประโยชน์ของบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปัจจุบัน ยังมีประเด็นปัญหาอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของอังกฤษที่มีฐานะครอบงำการเลือกตั้งแตกต่างจากความคิดเห็นของสกอตแลนด์ เวลส์ หรือไอร์แลนด์เหนือ

เบร็กซิทเป็นประเด็นปัญหาที่ประสบความยุ่งยากลำบากทั้งสองอย่างข้างต้น เดวิด ฮูม นักปรัชญาการเมืองแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นคนแรกที่ชี้ให้เห็นสิ่งที่เขาเรียกว่า “ความคับแคบแห่งจิตวิญญาณที่แก้ไม่หายซึ่งทำให้ผู้คนชมชอบของเฉพาะหน้ามากกว่าของห่างไกลออกไป”

หากจะให้เราหลีกเลี่ยงความคับแคบแห่งจิตวิญญาณแบบเดียวกันแล้ว เราจำต้องมองผลประโยชน์แห่งชาติในแบบที่ข้ามพ้นภาพนิ่งฉาบฉวยของสภาพความคิดเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปัจจุบัน

กล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว การเมืองแบบแทนตนเป็นวิธีการได้ผลมากโขที่สุดในการกระทำอย่างที่ว่ามาข้างต้น ขณะเดียวกันก็ปรองดองรองรับความแตกต่างในหมู่ประชาชนของเราเอาไว้ได้ด้วย ด้านหลักแล้วนี่เป็นเพราะบทบาทอันเป็นหมุดหมายใจกลางของเหล่าสถาบันที่ถูกประณามหยามเหยียดเป็นอันมาก อันได้แก่พรรคการเมือง

พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่ระบอบประชาธิปไตยมวลชนสร้างขึ้น เอ.วี. ไดซี นักกฎหมายรัฐธรรมนูญผู้ยิ่งใหญ่ ได้เขียนไว้เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขณะระบอบประชาธิปไตยมวลชนยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่อยู่ว่าเขาเห็นพรรคการเมืองเป็นการคบคิดกันวางแผนร้ายที่เอาผลประโยชน์ส่วนรวมไปสังเวยผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม และนั่นยังเป็นทรรศนะที่ยึดถือกันแพร่หลาย

แต่ผมคิดว่าประสบการณ์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันผิดพลาด

ปกติแล้วพรรคการเมืองไม่ใช่กลุ่มที่เป็นปึกแผ่นเนื้อเดียวกัน หากเป็นพันธมิตรผสมทางความคิดเห็นซึ่งผนึกเข้าด้วยกันโดยทีทรรศน์คงเส้นคงวาแบบหลวมๆ

และความปรารถนาจะชนะการเลือกตั้ง การเมืองนั้นเป็นตลาด เพื่อให้ได้ขนาดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านฐานะอำนาจและเพื่อยึดกุมเสียงข้างมากในสภาไว้ได้

เป็นธรรมเนียมที่พรรคทั้งหลายต้องช่วงชิงการสนับสนุนจากคณะ ส.ส.อันหลากหลายยิ่งและจากบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่กระทั่งหลากหลายยิ่งกว่านั้นเสียอีก พรรคต้องปรับเสียงเรียกหาการสนับสนุนของตนไปตามความเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ความรู้สึกหรือลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาต่างๆ ของมหาชนซึ่งดูน่าจะส่งอิทธิพลต่อแบบแผนการลงคะแนนเสียง

เป้าหมายโดยรวมของพรรคคือผลิตชุดนโยบายซึ่งบางทีจะมีแต่คนส่วนน้อยเท่านั้นซึ่งชมชอบที่จะเลือก ทว่าคนส่วนกว้างไพศาลที่สุดเท่าที่กว้างได้พอจะอยู่กับมันไหว ความข้อนี้แหละที่แต่เดิมมาทำให้พรรคการเมืองกลายเป็นเครื่องจักรอันทรงพลังแห่งการประนีประนอมแห่งชาติและตัวกลางที่มีประสิทธิผลระหว่างรัฐกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ในบริเตน มันเหลือวิสัยที่จะคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้โดยไม่นึกถึงความโกลาหลวุ่นวายในรอบสามปีที่ผ่านมา

มีข้อถกเถียงอันเคร่งเครียดจริงจังที่จะออกจากสหภาพยุโรปและก็มีข้อถกเถียงอันเคร่งเครียดจริงจังที่จะอยู่ต่อเช่นกัน ผมขอไม่ออกความเห็นเกี่ยวกับสองฝ่ายนี้เพราะมันไม่ตรงเป้าเข้าประเด็นกับแก่นเรื่องของผม

ผมใคร่จะเพ่งเล็งไปที่ผลกระทบสืบเนื่องของมันต่อวิถีทางที่เราปกครองตัวเองแทน เบร็กซิทเป็นประเด็นปัญหาที่ผู้คนรู้สึกกับมันรุนแรง และประเทศบริเตนก็แบ่งข้างเรื่องนี้ประมาณกึ่งกลางพอดี การแบ่งข้างที่ว่านี้ชวนปวดเศียรเวียนเกล้า ไม่ใช่เพียงแต่โดยตัวมันเองเท่านั้น หากเพราะมันสอดคล้องอย่างหยาบๆ กับการแบ่งแยกอย่างอื่นในสังคมของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกทางรุ่นคน สังคม เศรษฐกิจ การศึกษาและภูมิภาค

มันเป็นกรณีคลาสสิคสำหรับการปรองดองรองรับชนิดที่สภานิติบัญญัติแบบแทนตนอยู่ในตำแหน่งฐานะอันเหมาะสมที่สุดที่จะบรรลุได้

บัดนี้ยุโรปได้กลายเป็นประเด็นชี้ขาดที่กำหนดว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนมากจะภักดีกับพรรคไหน ผลก็คือเราได้เห็นพรรคหลักระดับชาติทั้งคู่ซึ่งก่อนนี้เคยสนับสนุนสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปปรับจุดยืนนโยบายของตนให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่ที่เกิดขึ้น

ในแง่หนึ่ง พรรคมีไว้เพื่อปรับตัวอย่างที่ว่านั้นนั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่พรรคทำเสมอมา แต่กระนั้นในพรรคหลักระดับชาติทั้งสองก็ยังมีกลุ่มก้อนความคิดเห็นขนาดใหญ่ที่คัดค้านเบร็กซิทอย่างแรงกล้าอยู่ ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราจะคาดหมายให้กระบวนการทางการเมืองผลิตการประนีประนอมประการหนึ่งออกมาซึ่งหาได้เป็นที่ต้องใจของสองฝ่ายไปทั้งหมดไม่ แต่ก็พอจะเป็นที่รับได้ของทั้งคู่ ถึงตอนนี้การประนีประนอมที่ว่านั้นยังอาจเกิดขึ้นได้อยู่ แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าลำบากยากเข็ญเป็นพิเศษ

ไฉนจึงเป็นเช่นนั้นเล่า?

เหตุผลขั้นมูลฐานที่เป็นเช่นนั้นก็คือการลงประชามติ การลงประชามติเป็นเครื่องมือสำหรับลดลัดตัดผ่านกระบวนการทางการเมืองปกติ มันฉวยเอาการตัดสินใจไปจากมือของนักการเมืองผู้มีผลประโยชน์โดยทั่วไปในอันที่จะปรองดองรองรับความคิดเห็นอันกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ แล้วเอามันไปไว้ในมือของปัจเจกบุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งไม่มีเหตุผลแต่ประการใดที่จะคำนึงถึงความคิดเห็นอันไหนนอกจากของตัวเองแทน

ก็แลวัตถุประสงค์ของการลงประชามติก็คือการขัดขวางไม่ให้นักการเมืองอาชีพได้ประเมินผลประโยชน์แห่งชาติโดยอิสระนั่นเอง ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ชวนให้คิดไปได้ว่ามันค่อนข้างไร้เหตุผลสิ้นดีที่จะวิจารณ์พวกนักการเมืองอาชีพว่าประสบความล้มเหลวที่จะทำเช่นนั้น การลงประชามตินั้นสกัดขัดขวางการประนีประนอมโดยผลิตผลลัพธ์ที่ผู้ลงคะแนนเสียง 52 เปอร์เซ็นต์รู้สึกว่าตนมีสิทธิ์พูดแทนคนทั้งชาติ ส่วนผู้ลงคะแนนเสียงอีก 48 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่สำคัญอะไรเลย

ถึงไงนี่ก็เป็นสมมุติฐานโดยนัยของรัฐมนตรีทุกคนผู้ประกาศว่าประชาชนบริเตนเห็นด้วยกับมาตรการอย่างนี้หรืออย่างนั้น ราวกับว่ามีแต่เสียงข้างมากเท่านั้นที่นับเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนบริเตน มันเป็นวิธีคิดที่สร้างสำนึกอันไร้เหตุผลในหมู่คนประเภทที่ประณามผู้เห็นต่างจากตนว่าเป็นศัตรูเอย คนทรยศเอย พวกก่อวินาศกรรมเอย หรือแม้กระทั่งพวกนาซีเอย ว่าตนมีสิทธิ์ที่จะว่ากล่าวเช่นนั้น

นี่นับเป็นภาษาของเผด็จการเบ็ดเสร็จโดยแท้ มันเป็นจุดต่ำสุดที่ชุมชนการเมืองหนึ่งจะจมดิ่งลงไปได้รองจากการใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันจริงๆ เท่านั้นเอง

ในรอบหกเดือนหลังนี้ เราได้เห็นการเมืองยืนกรานตนเองกลับขึ้นมาใหม่บ้างเล็กน้อย รัฐสภาได้บีบบังคับให้พวกที่รู้สึกว่าการลงประชามติทำให้ตนมีสิทธิ์ได้ผลลัพธ์อันสัมบูรณ์ต้องยอมประนีประนอม ถ้าหากกระบวนการที่ว่านั้นออกจะมาสาย เชื่องช้าและไม่สมบูรณ์แล้ว นั่นก็เนื่องจากอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งดำเนินการมานมนานกว่าและอาจกระทั่งกลายเป็นก่อความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำไป

ปัจจัยที่ว่านี้ได้แก่การที่สาธารณชนพากันเลิกเอาธุระกับการเมืองอย่างที่ดำเนินอยู่ขนานใหญ่ จำนวนผู้ใช้สิทธิ์ออกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปโน้มต่ำลงมาหลายปีแล้ว ณ จุดหนึ่งในปี ค.ศ.2001 มันตกลงต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป อันเป็นจุดต่ำสุดเท่าที่เคยต่ำมา

ตอนต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1950 นั้น พรรคการเมืองเป็นองค์การที่มีสมาชิกมากมายใหญ่หลวงที่สุดในบริเตน พรรคอนุรักษนิยมมีสมาชิกราว 2.8 ล้านคน พรรคแรงงานมีสมาชิกราวหนึ่งล้านคนนอก เหนือจากสมาชิกในนามอันได้แก่บรรดาพวกที่สังกัดสหภาพแรงงานทั้งหลายในเครือ เมื่อคิดรวมสมาชิกของทั้งสองพรรคแล้ว คนเหล่านี้ก็น่าจะถือเป็นตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ของสาธารณชนที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคร่าวๆ ได้

ทว่าทุกวันนี้ถึงแม้สมาชิกพรรคแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม การณ์กลับปรากฏว่าราชสมาคมเพื่อการปกป้องนกกลับมีสมาชิกมากกว่าพรรคการเมืองระดับชาติทั้งสามพรรครวมกันด้วยซ้ำไป

รายงานตรวจสอบการเอาธุระทางการเมืองประจำปีฉบับล่าสุดของสมาคมฮันสาร์ด (Hansard Society สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาอิสระเกี่ยวกับรัฐสภาและกิจการรัฐสภาของสหราชอาณาจักร – ผู้แปล) บันทึกว่าจำนวนผู้ที่บอกว่าพวกเขาไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวใดๆ กับการตัดสินใจระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ยิ่งถ่างช่องว่างระหว่างนักการเมืองอาชีพกับสาธารณชนให้ห่างกันออกไป

มันหมายความว่าสมาชิกภาพของพรรคการเมืองถูกสละทิ้งให้นักเคลื่อนไหวจำนวนน้อยผู้นับวันยิ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของบรรดาผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคเหล่านี้มากขึ้นทุกที มันส่งผลสกัดขัดขวางความสามารถของพรรคที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของการประนีประนอมและจำกัดบรรดาตัวเลือกที่เสนอแก่ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้คับแคบลง

นี่นับว่าเป็นการตกอยู่ในภาวะอันตราย การที่ผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากมายถึงปานนี้พากันวางมือเลิกราจากการเมืองในปัจจุบันน่าจะนำไปสู่ลีลาการนำทางการเมืองที่เลือกพรรคฝักฝ่ายและอำนาจนิยมยิ่งขึ้นอักโขในระยะยาว

(ต่อสัปดาห์หน้า)