เศรษฐกิจ / ต่ออายุ พ.ร.ก. 1 เดือน…คลายล็อกดาวน์ เดิมพันประเทศไทยชนะโควิด เดินเครื่องเศรษฐกิจ-แรงงานกลับเข้าระบบ

เศรษฐกิจ

 

ต่ออายุ พ.ร.ก. 1 เดือน…คลายล็อกดาวน์

เดิมพันประเทศไทยชนะโควิด

เดินเครื่องเศรษฐกิจ-แรงงานกลับเข้าระบบ

 

เป็นอันชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลตัดสินใจต่ออายุพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เมษายน ออกไปอีกเดือน กับเป้าหมายสำคัญคือขจัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้หมดไป หรือควบคุมได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

พร้อมกับมีมาตรการผ่อนปรนให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กที่ไม่ติดแอร์ ตลาดสด ตลาดนัด ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม และห้างสรรพสินค้า คาดว่าดีเดย์เปิดดำเนินการของธุรกิจเหล่านี้คือ 4 พฤษภาคม พร้อมประเมินผลทุก 14 วัน

ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้เปิดจะถูกจัดความเสี่ยง กลุ่มที่เปิดก่อนคือเสี่ยงน้อย

ส่วนที่เสี่ยงมากอย่างสถานบันเทิง ถือเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่น่าจะได้รับอนุญาต

 

สัญญาณจากรัฐบาลครั้งนี้ ทำให้หลายธุรกิจเริ่มมีความหวังจะกลับมาเปิดกิจการตามปกติ และพร้อมจะดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด

โดย “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า หากรัฐมีมาตรการผ่อนคลาย ภาคธุรกิจก็พร้อมดำเนินการ แต่อยากให้ภาครัฐหารือกับภาคธุรกิจถึงแนวทางดำเนินการที่ชัดเจนด้วย

เพราะการปฏิบัติตัวคงไม่ใช่แค่ทำสะอาดฆ่าเชื้อ วัดไข้ แต่ควรมีมาตรการที่ชัดเจนของแต่ละธุรกิจ อาทิ ร้านอาหารปฏิบัติตัวอย่างไร ร้านหนังสือปฏิบัติอย่างไร เพราะตอนนี้แนวทางยังต่างคนต่างทำ ควรมีรูปแบบแนวทางที่ชัดเจนออกมา

การคลายล็อกดาวน์ ไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการมีความหวัง กลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบหลายล้านรายดีใจไปตามๆ กัน เพราะปัจจุบันมีแรงงานหลักล้านคนที่ตกงานแล้ว ส่วนที่มีงานทำก็เป็นหลักล้านเช่นกันที่อยู่ในภาวะระส่ำ โดนลดเงินเดือน ลดวันทำงาน ต่างหวังให้ตนเองกลับมามีอาชีพที่มั่นคงอีกครั้ง

ที่ผ่านมาภาคเอกชนอย่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า จากจำนวนแรงงานทั้งหมดของประเทศทุกภาคส่วน ประมาณ 38 ล้านคน คาดว่าจะมีแรงงานตกงานหลายล้านคนภายใต้โควิด-19 และหากสถานการณ์ลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน จะคำนวณตัวเลขผู้ตกงานได้ไม่ต่ำกว่าประมาณ 7.1 ล้านคนทีเดียว

แรงงานที่กำลังเคว้ง แบ่งเป็น ธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะตกงาน 8 หมื่นคน ร้านอาหาร 3.75 แสนคน สปาและร้านนวดทั้งในและนอกระบบประมาณ 2.4 แสนคน โรงแรม 9.8 แสนคน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ภาคอสังหาริมทรัพย์ 7.7 หมื่นคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน และสิ่งทอ 2 แสนคน

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินวิกฤตแรงงานปีนี้ว่า มีความเสี่ยงตกงานเป็นประวัติการณ์ ซ้ำเติมความเปราะบางภาคครัวเรือน

โดยวิกฤตดังกล่าวเป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานซึ่งมีสัญญาณความอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้างเอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นคนส่วนมากถึง 62% ของแรงงานไทย และมีความอ่อนไหวสูงต่อสภาวะเศรษฐกิจ

อีไอซียังประเมินว่า จำนวนผู้ว่างงานจะเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 3-5 ล้านคน ถือเป็นระดับที่สูงกว่าทุกวิกฤติการณ์ในอดีตของไทย เพราะผลกระทบครั้งนี้กินวงกว้างกว่าและมีการหยุดชะงักฉับพลันของหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรอาจไม่สามารถทำหน้าที่ดูดซับคนตกงานจากภาคอื่นๆ ได้เหมือนในอดีตเพราะประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน

มิหนำซ้ำความเสี่ยงในตลาดแรงงานมีแนวโน้มส่งผลต่อเนื่องไปยังคุณภาพชีวิตของภาคครัวเรือนที่มีความเปราะบางอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

โดยครัวเรือนไทยประมาณ 60% มีสินทรัพย์ทางการเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายเกิน 3 เดือน

 

ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย รายงานว่า หากโควิด-19 ทั่วโลกยังยืดเยื้อไปอีก 1-2 เดือนข้างหน้า จะส่งผลกระทบให้กิจการใน 14 คลัสเตอร์ ที่มีมูลค่าส่งออกติดลบต่อ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีอาจปิดตัวลง สิ่งที่ตามมาคือการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งภาคผลิตมีแรงงานในระบบประมาณ 6.1 ล้านคน

นอกจากนี้ยังกังวลว่าแรงงานในภาคการเกษตรอีก 9 ล้านครัวเรือนหรือราว 12 ล้านคน อาจเป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงตกงานเช่นกัน แต่สาเหตุหลักมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2563 บวกกับได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ติดลบจากโควิด-19 ซึ่งล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรด้วยการแจกเงิน รูปแบบคล้ายกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน

สถานการณ์ตึงเครียดข้างต้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือหลักคือมาตรการทางการเงิน เพื่อใช้เยียวยาเร่งด่วน รัฐบาลจึงตัดสินใจออกกฎหมาย 4 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพื่ออุ้มธนบัตรเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท และพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563

นอกจากนี้ รัฐบาลยังตัดสินใจตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบ่งเป็น 5 คณะ คือ

  1. คณะทำงานการปรับปรุงและพัฒนาเงื่อนไขการปล่อยซอฟต์โลนที่จะปล่อยให้กับภาคเอกชน
  2. คณะทำงานในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะการกลับมาดำเนินและเปิดธุรกิจของสถานประกอบการต่างๆ
  3. คณะทำงานเพื่อเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน
  4. คณะทำงานเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี
  5. คณะทำงานเรื่องการวางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ซึ่งทั้ง 5 คณะต่างมีมาตรการต่างๆ ออกมา ส่งต่อให้รัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการ หนึ่งในข้อเสนอที่ประชาชนรอคอยคือ การเปิดบางธุรกิจเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ที่ตึงเครียด ซึ่งรัฐบาลก็รับดำเนินการ

ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจและสังคมให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีไทย 20 อันดับแรก เพื่อชวนให้ร่วมกอบกู้ประเทศด้วยกัน

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากการคลายล็อกดาวน์ที่หลายคนเฝ้าหวังให้สถานการณ์เศรษฐกิจกลับไปเป็นปกติ แต่หลายฝ่ายทราบดีว่าความบอบช้ำครั้งนี้ต้องมีมาตรการฟื้นฟู เพราะธุรกิจจำนวนมากที่ปิดตัวใช่ว่าจะกลับมายืนได้เร็ววัน เช่นเดียวกับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง แล้วก็ใช่ว่าทุกคนจะกลับเข้าทำงานได้ในตำแหน่งเดิม รายได้เท่าเดิม

ประเด็นนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าอยู่ระหว่างร่วมกับกระทรวงการคลังเตรียมทำแผนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการปลดล็อกดาวน์ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (โลคอล อีโคโนมี) ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาทอยู่แล้ว หลังพบว่าไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นของโลกที่เตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังการติดเชื้อลดลงมาก และน่าจะจบภายในเร็วๆ นี้

“เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่การส่งออก การท่องเที่ยว คงไม่ฟื้นในเร็วๆ นี้ หากหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาโตเช่นอดีตคงยาก ถ้าสหรัฐและยุโรปยังพบการติดเชื้อจำนวนมากเช่นนี้อยู่ ดังนั้นการบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐจึงสำคัญมาก เพราะแรงงานจะกลับมาสู่โรงงานทั้งหมดไม่ได้ ดังนั้น ต้องสนับสนุนให้พวกเขาเข้าไปสู่การผลิตภาคการเกษตรที่การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป นี่คือทางรอดที่จะหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้ข้ามผ่านจุดนี้ไปได้” รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ

นับถอยหลัง 1 เดือนจากนี้ หากคนไทยร่วมมือกันฝ่าวิกฤตสกัดโควิดสำเร็จ ภายใต้มาตรการคลายล็อกดาวน์ ความหวังที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโต วิกฤตแรงงานเบาบางลง ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก…