การศึกษา / รวม ‘โอเน็ต-9 วิชาสามัญ’ ปรับใหญ่ทีแคสปี 2566

การศึกษา

 

รวม ‘โอเน็ต-9 วิชาสามัญ’

ปรับใหญ่ทีแคสปี 2566

 

ทีแคสกำลังจะปรับใหญ่อีกครั้งเมื่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไประดมสมองกันว่าจะรวมข้อสอบโอเน็ต, GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ เข้าด้วยกันได้หรือไม่ เพื่อลดความเครียดให้กับน้องๆ ม.6 ที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ซึ่งที่ผ่านมาต้องสอบหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดความเครียด

ซึ่งถ้าลดข้อสอบได้สำเร็จก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครองได้ด้วย จากการที่บุตรหลานต้องวิ่งรอกสอบหลายครั้ง

ผลจากการหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ 1.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 2.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ 3.ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน

ได้คำตอบเบื้องต้นว่า มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะรวมข้อสอบโอเน็ตกับ 9 วิชาสามัญเข้าด้วยกัน โดยการปรับข้อสอบใหม่ดังกล่าวจะใช้ในปีการศึกษา 2566

ซึ่งถือเป็นการปรับใหญ่จึงต้องประกาศให้เด็กทราบล่วงหน้า 3 ปี หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2563 นี้

 

นายอํานาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า แนวคิดการรวมข้อสอบนี้ เพราะไม่อยากให้นักเรียนวิ่งรอกสอบ หรือมีค่าใช้จ่ายสูงในการสอบ เพราะจะสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงคิดว่าสามารถสอบครั้งเดียวจบได้หรือไม่

“มองว่ารูปแบบข้อสอบสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ที่ผ่านมาเด็กๆ ต้องสอบโอเน็ต GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ รวมถึงสมัครทีแคสทำให้วุ่นกับการเตรียมตัวอย่างมาก รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จึงสั่งการให้หารูปแบบการทดสอบที่วัดสมรรถนะผู้เรียนได้ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” เลขาธิการ กพฐ.ระบุ

ด้านนายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ ทปอ.เผยว่า การรวมโอเน็ตกับ 9 วิชาสามัญ ตรงกับสิ่งที่ ทปอ.คิด เนื่องจาก ทปอ.มีแนวคิดจะปรับปรุงข้อสอบและจะใช้ในปีการศึกษา 2566 อยู่แล้ว

โดยเห็นว่าควรลดจำนวนการสอบลง ซึ่งข้อสอบวัดความรู้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนความรู้ แบ่งเป็น ความรู้พื้นฐาน (โอเน็ตเดิม) และความรู้ประยุกต์ (9 วิชาสามัญ) และ 2.ส่วนความถนัด

 

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการของ ทปอ. ระบุว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่จะลดการสอบให้น้อยลง และหวังให้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย เป็นเหมือนต่างประเทศที่สอบวิชาเดียวแล้วใช้คะแนนไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ทปอ.เองก็เคยมีข้อเสนอเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าโอเน็ตและ 9 วิชาสามัญเป็นข้อสอบวัดเนื้อหาในแนวเดียวกัน โดยโอเน็ตวัดเนื้อหาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ 9 วิชาสามัญวัดความรู้ในระดับที่สูงขึ้น

แต่ข้อเสนอนี้ต้องตกไป เพราะจะเป็นการไปแทรกแซงภาระงานของหน่วยงานอื่น

อีกทั้งโอเน็ตได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ขณะที่ 9 วิชาสามัญ เก็บเงินค่าสมัครสอบจากนักเรียน การนำมารวมกันจึงอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ เมื่อ ศธ.เสนอแนวทางนี้อีกครั้ง ทปอ.จะนำกลับมาทบทวนและหารือกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่ต้องการใช้ข้อสอบ 9 วิชาสามัญอย่างเข้มข้น

แต่การปรับครั้งนี้ถือเป็นการปรับใหญ่ โดยจะใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี 2566 ดังนั้น ต้องประกาศให้นักเรียนทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งหากจะรวมข้อสอบโอเน็ต และ 9 วิชาสามัญเข้าด้วยกัน ก็ต้องสรุปผลและประกาศให้นักเรียนทราบภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัว

“ตอนนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่ทิศทางเท่าที่หารือ จะนำข้อสอบโอเน็ตกับ 9 วิชาสามัญมารวมกัน แบ่งเป็นสองส่วน คือ ข้อสอบ A-Level หรือแอดวานซ์เลเวล และ B-Level หรือเบสิกเลเวล ให้มหาวิทยาลัยเลือกนำไปใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ในส่วน มธ.เห็นด้วย เพราะจะทำให้เด็กสอบน้อยลง การเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะเด็กที่เก่งวิชาการ ก็ใช่ว่าจะเรียนได้ดี ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญต่อการอยู่ร่วมกันและการออกไปทำงานในอนาคตด้วย”

นายชาลีกล่าว

 

นายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะอาจทำให้ระบบการรับเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยยุ่งยากกว่าเดิม

ทั้งนี้เพราะการสอบโอเน็ตเป็นการประเมินผลการเรียนระดับขั้นพื้นฐาน ส่วน 9 วิชาสามัญเป็นการประเมินวิชาสามัญขั้นสูง เพื่อคัดเลือกเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เด็กไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เลือกเฉพาะวิชาที่คณะกำหนด หากนำมารวมกัน จะทำให้มหาวิทยาลัยเกิดความสับสน

ที่สำคัญ กังวลว่าจะทำให้แต่ละคณะไม่สามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามความต้องการ

อีกทั้งทุกวันนี้ เด็กที่เข้ามาเรียนในหลายคณะ ก็ไม่สามารถเรียนได้จริง มหาวิทยาลัยต้องปรับพื้นฐานใหม่

โดยเฉพาะเด็กที่เรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสัตวศาสตร์ ต้องมาปรับพื้นฐานวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อให้เด็กสามารถเรียนได้ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

“ผมว่าหากนำข้อสอบโอเน็ตและ 9 วิชาสามัญมารวมกัน จะทำให้ยุ่ง ของเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่ควรเปลี่ยน เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยปวดหัวในการคัดเลือกเด็ก ซึ่งหากจะเปลี่ยนจริงๆ ควรไปปรับที่ข้อสอบในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของ ทปอ.มากกว่า ไม่ใช่มาปรับรวมโอเน็ต จะทำให้เกิดปัญหา เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมให้เด็กตก ผลสอบจึงไม่ออกมาตามจริง”

นายชัยชาญกล่าว

 

ว่าไปข้อเสนอให้รวมโอเน็ต GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญดังกล่าว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้สมัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็เคยมีข้อเสนอว่าประเทศเราไม่ควรมีการสอบเยอะทั้งโอเน็ต GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ แต่ควรจะเหลือการสอบเพียงอย่างเดียว และควรต้องเป็นข้อสอบที่ใช้วัดทั้งมาตรฐานและการสอบแข่งขันได้ด้วย

แม้ฝ่ายปฏิบัติอย่างมหาวิทยาลัย (บางแห่ง) จะคัดค้าน แต่ต้องยอมรับว่าระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยยังสร้างปัญหาให้กับนักเรียนและผู้ปกครองที่นำมาสู่ความเครียดและภาระค่าใช้จ่าย

   ขณะที่สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง จึงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งถ้าลดความซ้ำซ้อนของการสอบลงได้ก็จะส่งผลดีต่อเด็กไทย