กรองกระแส / สถานการณ์ฉุกเฉิน สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขัดแย้ง และแตกแยก

กรองกระแส

 

สถานการณ์ฉุกเฉิน

สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขัดแย้ง และแตกแยก

 

การประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกในเดือนมีนาคม ได้รับความเห็นชอบและสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากแทบทุกภาคส่วนของสังคม

ถือว่าเหมาะสมและสอดรับกับสภาพการแพร่ระบาดของไวรัส

เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน ทุกฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่าสถานการณ์ดีขึ้นและสมควรจะผ่อนคลายจากสถานการณ์ฉุกเฉินมาเป็นการใช้ พ.ร.บ.โรคระบาดเพียงอย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอ

แต่แล้วรัฐบาลกลับคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก

แม้จะมีบางส่วนเห็นชอบด้วย แต่หลายๆ ภาคส่วนเริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อเป็นเครื่องมือในทางการเมือง

ยืดและขยายเวลาให้กับรัฐบาล ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ปัญหาความขัดแย้ง

แตกแยกการเมือง

 

ต้องยอมรับว่าปัญหาที่รัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผชิญอยู่เป็นปัญหาและความขัดแย้งและแตกแยกที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน

1 เป็นปัญหาพื้นฐานตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

1 เป็นปัญหาจากความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

1 เป็นปัญหาภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทั้งจากภายในและภายนอก

1 เป็นปัญหาอันเกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโดยการประกาศและบังคับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในลักษณะสะสม

สะสมและสะท้อนความขัดแย้งจาก “ภายใน” และประสานเข้ากับปัญหาจาก “ภายนอก” และขยายให้ใหญ่โตขึ้นจากปัจจัยทางด้านสังคม

เมื่อใดกลายเป็นปัญหาของสังคม ปัญหาของประชาชนก็จะปะทุ ใหญ่โตและแตกหัก

 

ปัญหาภายใน

ปัญหารัฐบาล

 

การปะทุขึ้นของความขัดแย้งและแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐอันรวมศูนย์อยู่ที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอุตตม สาวนายน คืออาการหนึ่งของโรค

โรคที่ดำรงอยู่ก่อนและภายหลังเดือนมิถุนายน 2562

เหมือนกับเป็นการรุกจากอีกหลายกลุ่มฝ่ายที่ต้องการจะลิดรอนและขจัดอำนาจกลุ่มนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ออกไป

แต่หากดูจากเส้นทางการปล่อยข่าวก็จะอ่านออกว่าเป็นการปล่อยเพื่อป้องกันตัว

ด้านหนึ่ง ป้องกันสถานะของตนเอง ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เปิดโปงและทำลายเครือข่ายของอีกฝ่ายให้ตกอยู่ในสถานะตั้งรับ

แต่ที่สุดแล้วก็ยืนยันว่าความขัดแย้งดำรงอยู่จริงๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อใดที่การต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งภายในพรรคพลังประชารัฐได้รับการขยายและประสานเข้ากับการกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล

เมื่อนั้นการปรับ ครม.ครั้งใหญ่จะต้องบังเกิด

 

ความขัดแย้ง แตกแยก

ชี้ชะตาอนาคตรัฐบาล

 

ต้องยอมรับว่าปัญหาอันหนักหนาของรัฐบาลอยู่ที่ตัวของรัฐบาลเอง อาการของโรคสำแดงผ่านปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ

อาการของโรคสำแดงผ่านปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

เมื่อใดที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้จำเป็นต้องปรับ ครม. นั่นสะท้อนถึงความแตกแยกระส่ำระสาย

นั่นย่อมเป็นโอกาสที่ปัจจัย “ภายนอก” จะรุดเข้าไป

ไม่ว่าจะเป็นการรุกบนเวทีแห่งรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย

ไม่ว่าจะเป็นการรุกจากพลังของคนรุ่นใหม่ผ่านกระบวนการแฟลชม็อบ

หากประสานเข้ากับความหงุดหงิดไม่พอใจและมองไม่เห็นผลงานจากประชาชนอย่างกว้างขวางใหญ่โต

            ปลายหอกย่อมพุ่งเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา