คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ฮินดูที่เพิ่งสร้าง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ที่จริงผมนึกถึงคำนี้มาสักระยะหนึ่ง แม้จะชวนให้นึกถึงหนังสือ “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แต่ที่ผมคิดวนอยู่ในหัวคือเรื่องศาสนาฮินดู ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสืออาจารย์ท่าน

ครั้งหนึ่ง ผมไปร่วมเสวนาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจัดโดยโครงการตำราฯ ของท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในเวทีเสวนาวันนั้นเราคุยกันเรื่องอินเดียโดยมี ผศ.ดร.สิงห์ สุวรรณกิจ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. ร่วมอยู่ด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผมสะดุดใจในวันนั้นคือ พอผมพูดถึงคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ คล้ายๆ อาจารย์สิงห์จะบอกว่า บางเรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องโบราณ ที่จริงมันใหม่กว่านั้น คือบางเรื่องเป็นสมัยอังกฤษด้วยซ้ำ เสียดายผมปากหนัก เลยไม่ได้ถามแหล่งข้อมูลที่จะสืบค้นต่อ

ผ่านวันนั้นมาหลายปี หลังจากเขียนคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์มาได้สักพัก ค้นคว้าอะไรเพิ่มเติมมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเค้าลางของ “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” ได้อย่างเลาๆ

หากค้นคว้าอย่างทุ่มเทจริงๆ ก็น่าจะเกิด “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” เป็นหนังสือได้สักเล่มย่อมๆ ทว่าผมยังไม่มีทั้งฉันทะและเวลาที่จะค้นคว้า จะว่าเป็นข้ออ้างก็ได้ครับ เพราะทำงานที่บ้าน ใจมันจะเรียกร้องให้เอนหลังอยู่เรื่อย แถมไกลตำราที่จะค้นคว้าอีก

ดังนั้น ในเมื่อหนังสือยังไม่ปรากฏ ก็ขอเอาไอเดียตรงนี้มาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านไปก่อนนะครับ

 

อินเดียเป็นประเทศที่ทั้งเก่าและใหม่ในเวลาเดียวกัน อินเดียเพิ่งได้รับเอกราชในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 มีเอกราชราวๆ เจ็ดสิบกว่าปีเท่านั้นเอง

แม้ว่าอินเดียจะมีอารยธรรมยาวนานกว่านั้นมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังได้รับเอกราชคือการ “ออกแบบ” ประเทศใหม่ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการออกแบบในทางสังคม การเมือง แต่ยังต้องออกแบบเรื่องศาสนาและวัฒนธรรมด้วย

ทำไมการออกแบบประเทศจึงเป็นเรื่องสำคัญหนักหนา ก็เพราะอินเดียนั้นเป็น “อนุทวีป” มีความแตกต่างทั้งทางชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรมอย่างมากมายมหาศาล โจทย์คือทำอย่างไรให้เกิด “ประเทศเดียว” ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายนั้น ซึ่งไม่ง่ายเลย ยังไม่นับโจทย์อื่นๆ อีก เช่น ปัญหาความยากจน โครงสร้างทางการเมือง แนวทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ภาระของการออกแบบสิ่งเหล่านี้โดยมากก็เป็นของนักชาตินิยม ซึ่งที่จริงคนเหล่านี้คิดกันมาก่อนการได้รับเอกราชเสียอีก กล่าวคือ นักชาตินิยมอินเดียเริ่มคิดถึงอินเดียที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ภายหลังอังกฤษถอยอำนาจลงในระดับโลก

แต่เนื่องจากอังกฤษหรือบริติชราชย์นั้นปกครองมานานเหลือหลาย ปกครองก่อนนักชาตินิยมจะเกิดมาเสียอีก หน้าตาของอินเดียแบบนี้จะเป็นอย่างไร จึงต้องใช้ “จินตนาการ” มากพอควรครับ

พูดถึงตอนนี้ก็เศร้า เพราะผมและคนรุ่นหลังผม ส่วนหนึ่งไม่สามารถจะจินตนาการถึงประเทศของตัวที่ดีกว่านี้ได้ บางคนที่จินตนาการออกเพราะหูตากว้างไกล แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ประเทศของเราไปสู่ปลายทางแบบนั้น เพราะอุปสรรคขวากหนามมากมาย

เสือตัวที่ห้ากลับกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย นับวันดูแต่จะแย่ลง

 

การออกแบบประเทศของอินเดียในเวลานั้น คล้ายๆ เรียกร้องให้ต้องรู้จักอะไรๆ นอกอินเดียออกไป นักชาตินิยมในอินเดียโดยมากเรียนเมืองนอกและมีการศึกษาสูงกว่าคนส่วนใหญ่ การรู้จักอะไรข้างนอกจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน อินเดียที่มีอารยธรรมของตัวเองยาวนานและยังมีชีวิตในหมู่คนทั่วไป ก็เรียกร้องให้นักชาตินิยมทำความรู้จักกับอินเดียให้มากที่สุดอีกด้วย

ดังนั้น เมื่อคานธีกลับมายังอินเดีย เขาจึงได้รับการแนะนำให้เดินทางไปท่องเที่ยวทั่วอินเดียเสียก่อนเป็นภารกิจแรก เพื่อที่จะได้รู้จักและเข้าใจอินเดีย

การออกแบบประเทศของอินเดียเป็นอย่างไร ผลก็ปรากฏออกมาให้เราได้เห็นแล้ว ในแง่ดี รัฐธรรมนูญอินเดียนั้นไม่เคยโดนฉีกและอินเดียไม่เคยมีการรัฐประหาร อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบรรยายว่า ก็เพราะการออกแบบประเทศตั้งแต่สมัยบัณฑิต เยาวหราล เนห์รู กำหนดให้การพัฒนาอาวุธอยู่ในฝั่งวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ฝั่งทหาร อีกทั้งทหารในอินเดียต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือนเช่นตะวันตก ทหารจึงมีอำนาจน้อย รัฐประหารเป็นไปได้ยาก

อันนี้คือผลของการออกแบบประเทศที่ดีครับ ผมถึงบอกว่ามันสำคัญมากๆ

 

ส่วนในแง่เสียนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านด่าเช้าด่าเย็นว่า ก็เพราะเนห์รูไม่ยอมตามคานธี คือคานธีพยายามส่งเสริมเศรษฐกิจระดับหมู่บ้านเพื่อขจัดความยากจน แต่เนห์รูต้องการพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมและเน้นมหภาค อาจารย์สุลักษณ์ด่าว่าก็เพราะไม่เชื่อคานธี อินเดียจึงยังเผชิญปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกจนบัดนี้ อันนี้ผมไม่ได้เชื่อตามอาจารย์สุลักษณ์ แต่คิดว่าน่าสนใจดี

นอกเหนือจากเรื่องการเมือง ที่จริงต้องบอกว่า นักชาตินิยมเหล่านั้นต่างก็เป็นนักคิดหรือนักปฏิรูปศาสนาด้วย ไม่ว่าจะราชาราม โมหัน รอย ท่านคุรุเทพรพินทรนาถ ฐากูร ท่านศรีอรพินโท มหาตมะ คานธี ท่านอาจารย์ราธกฤษณัน ฯลฯ

แนวโน้มที่ท่านเหล่านี้มีร่วมกันคือ เชื่อว่าอินเดียมีของดีอยู่แล้วในอดีต หน้าที่ของท่านคือการเข้าไปขุดค้นของดีเหล่านั้นออกมาแล้วทำให้ของดีเหล่านั้นเป็นของใช้ได้ในปัจจุบัน

กล่าวคือ นอกจากออกแบบประเทศแล้ว ยังต้องออกแบบ “ศาสนา” ที่เหมาะกับประเทศที่ออกแบบนั้นด้วย คือเหมาะกับความแตกต่างของผู้คนและไปกันได้กับอุดมการณ์ของประเทศใหม่นั้น

แม้ว่าศาสนาฮินดูจะเก่าแก่แค่ไหน แต่ด้วยความแตกต่างของแนวปฏิบัติ ผมคิดว่า นักชาตินิยมอินเดียยังไม่พอใจต่อวิถีปฏิบัติที่ชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งความไม่เป็นสมัยใหม่ ความไม่มีเหตุผลและยังไม่กว้างขวางพอที่ทุกคนจะยอมรับได้

ราชาราม โมหัน รอย และท่านเทพนทรนาถ บิดาของท่านมหากวีรพินทรนาถจึงตั้ง “พรหโมสมาช” ขึ้น สมาชหรือสมาคมทางศาสนานี้ยกเลิกการนับถือรูปเคารพ การแบ่งชนชั้นวรรณะ เน้นให้เคารพ “พรหมัน” หรือพระเจ้าสูงสุดผู้ไร้รูป แต่ผมเข้าใจว่าไม่ได้แพร่หลายและไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

สมาคมในลักษณะเดียวกันนี้ยังมีอีก เช่น อารยสมาช ซึ่งก่อตั้งโดยท่านสวามีทยานันทะ สรัสวตี สมาคมนี้เน้นการกลับไปสู่ระบบศาสนาพระเวท เลิกการบูชารูปเคารพ และท่านยังขับเน้นความสำคัญของคัมภีร์ “มนูธรรมศาสตร์” ในฐานะหลักปฏิบัติทางศีลธรรม

 

นอกจากการ “ทดลอง” ตั้งองค์กรทางศาสนาใหม่ๆ นักชาตินิยมยังทำงานร่วมกับนักภารตวิทยาชาวตะวันตก โดยการแปลคัมภีร์ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างภควัทคีตา มนูธรรมศาสตร์ ฯลฯ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบศาสนาฮินดูในยุคสมัยนั้นด้วย

น่าสนใจว่า การเลือกคัมภีร์เหล่านี้ ไม่ได้ปลอดจากการเมืองเรื่องศาสนา กล่าวคือ คัมภีร์ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญในวิถีชีวิตของศาสนิกชาวบ้านมาก่อน กลับได้รับการยกย่องเมื่อกล่าวถึงศาสนาฮินดูในระดับสากล และให้ภาพ “ภูมิปัญญาโบราณ” อันยาวนานของอินเดีย

นอกจากนี้ยังมีการ “รื้อฟื้น” องค์กรและตำแหน่งนักบวชตามประเพณีให้กลับมามีความสำคัญ เช่น ตำแหน่งศังกราจารย์แห่งพัทริกาศรม ซึ่งได้ขาดช่วงลงหลายร้อยปีก็ได้รับการสถาปนาขึ้นมาใหม่ ยังไม่นับสำนักอื่นๆ อีกมากมาย

 

ที่จริงตั้งแต่สมัยอังกฤษยังปกครองนั้นก็มีการปรับเปลี่ยน หรืออะไรใหม่ๆ ทางศาสนาในอินเดียอยู่แล้ว มีคนให้ข้อมูลผมว่า ที่จริงการปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างวรรณะไม่ใช่เรื่องเก่าแก่ ชาวบ้านไม่เคยแบ่งแยกกันด้วยเรื่องวรรณะขนาดนั้น แต่แยกกันด้วยลักษณะของความเป็นกลุ่มก้อนและวิถีชีวิตที่ต่างกัน

ดังนั้น เรื่องนี้ถูกทำให้สำคัญเพราะอังกฤษมีนโยบายแยกปกครอง ให้คนวรรณะสูงและต่ำเข้าทำงานคนละตำแหน่ง ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างกัน วรรณะจึงค่อยๆ กลายมาเป็นเรื่องสำคัญในสังคมฮินดูในที่สุด เรื่องนี้น่าสนใจมากๆ

การยกเลิกหรือไม่ให้ความสำคัญกับวรรณะ จึงกลายเป็นลักษณะสำคัญขององค์กรทางศาสนาในสมัยเอกราช ยิ่งการกลับไปรื้อฟื้น ขบวนการภักติ (ซึ่งก็เป็นการปฏิรูปในสมัยมุสลิมปกครอง) เพราะสอดคล้องกับแนวทางใหม่พอดี

ตัวอย่างบทความที่เคยเขียนไปแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องวัว เรื่องมังสวิรัติ เรื่องภควัทคีตา ฯลฯ ค่อยๆ เผยให้เห็นการสร้างใหม่ของศาสนาฮินดู และผมยังคงหาเรื่องแบบนี้เขียนได้ต่อครับ

ส่วนหนังสือที่จะสร้างใหม่ “ฮินดูที่เพิ่งสร้าง” ยังไม่ถูกออกแบบและยังอยู่ในสายลม