ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในอเมริกาเมื่อ 100 ปีก่อน ทำให้เกิดยุคมาเฟียครองประเทศ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

การออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายจังหวัดเพื่อรับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงนี้ ชวนให้ใครต่อใครที่รู้ประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ ต่างพากันนึกถึงการประกาศใช้กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่มากเหมือนกัน

แต่อันที่จริงแล้วเหตุการณ์ในอเมริกาครั้งนั้น ก็ไม่เหมือนกันกับที่นักดื่มบ้านเราเวลานี้กำลังเผชิญอยู่เสียทีเดียว

เพราะมีที่ต่างกันก็ตรงที่ ของบ้านเราเป็นการประกาศห้ามเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่อเมริกาคราวนั้น เขาออกเป็นกฎหมายกันเลยนะครับ เรียกกันว่า “Volstead Act”

ดังนั้น จึงมีการห้ามขายเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ตามที่กฎหมายฉบับที่ว่ามีผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2463-2476 ตรงกับช่วงรัชกาลที่ 6-ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยยุคที่ยังเรียกตัวเองว่า ประเทศสยาม

ซึ่งก็นับเป็นเวลา 13 ปีพอดิบพอดี

 

สําหรับชนชาวคริสต์แล้ว เลข 13 เป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยจะเป็นมงคลนัก ที่จริงต้องบอกว่าเป็นเลขที่เลวร้ายเลยต่างหาก ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะชาวคริสต์มีความเชื่อว่า ในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูนั้น พระองค์ได้เสวยอาหารมื้อนั้นร่วมกับอัครสาวกทั้ง 12 คน ก่อนที่หนึ่งในนั้นคือจูดาส ได้ทรยศพระองค์จนนำไปสู่การถูกพวกทหารโรมันจับกุม แล้วนำไปตรึงกางเขนนั่นเอง

ชาวคริสต์ถือในเรื่องนี้มาก และก็มากพอที่จะทำให้อาคารหลายแห่งนั้นถึงกับไม่มีชั้น 13 โดยเปลี่ยนเป็นชั้น 12A บ้าง หรือบางทีก็ข้ามจากชั้น 12 ไปชั้น 14 โดยไม่มีชั้น 13 มันเสียอย่างนั้น

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายมากเลยทีเดียว ที่กฎหมายฉบับนี้ถูกใช้อยู่ 13 ปี แล้วก็ถูกยกเลิกไป เพราะที่มาของกฎหมายฉบับนี้นั้นก็เกิดจากความเคร่งในศาสนาของพระคริสต์นี่แหละ

 

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า ภายหลังจากที่อเมริกันชนสามารถกระทำการที่เรียกว่า “เลิกทาส” ได้สำเร็จ หลังสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้สงบลงเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2406 พวกนักศีลธรรมทางสังคมก็ได้เบี่ยงประเด็นจากเรื่องของทาสไปยังเรื่องอื่นๆ คือเรื่องการแต่งงานแบบหนึ่งผัวหลายเมียของนิกายมอร์มอน (Mormon, ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้าและพระคริสต์มีภรรยาหลายคน เช่น เชื่อว่าเมื่อพระแม่มารีอา ผู้เป็นมารดาของพระเยซูตายลง เธอก็ได้กลายเป็นหนึ่งในพระชายาอันเป็นนิรันดร์ของพระเจ้า เป็นต้น) แต่ที่เกี่ยวข้องกับเราในที่นี้โดยตรงก็คือ ขบวนการเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า “Temperance Movement”

แน่นอนว่าขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายในการต่อต้านค่านิยมการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท โดยอ้างถึงการที่เครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ให้โทษต่อทั้งสุขภาพร่างกาย, บุคลิกภาพของผู้ดื่ม รวมไปถึงผลต่อครอบครัวของผู้ดื่มอีกด้วย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ขบวนการเคลื่อนไหวนี้จะสนับสนุนให้ผู้คนเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง

แต่ต้องเข้าใจตรงกันก่อนนะครับว่า กำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหว Temperance Movement ก็มีที่มาที่ไปของมันอยู่เหมือนกัน

 

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ นั้นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของการเป็นเครื่องดื่ม, ยารักษาโรค และสินค้าทั่วไปสำหรับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้กระทั่งเยาวชนก็ตาม

เรียกได้ว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งในสังคมตะวันตก ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ตรงกับในช่วงราวสมัยพระนารายณ์-พระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา) เป็นต้นมา

(แน่นอนว่า การยอมรับในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นคนละเรื่องกันกับอาการเมามายจนขาดสติ โดยเฉพาะเมื่อเมาแล้วเดือดร้อนผู้อื่น ที่ไม่มีใครยอมรับได้แน่ และในสังคมตะวันตกยุคโน้นก็เป็นเช่นเดียวกันนี้)

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า ทัศนคติของชาวตะวันตกที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่งจะมาเริ่มเปลี่ยนไปในแง่ลบเมื่อเกิด “การปฏิวัติอุตสาหกรรม” ที่เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2303 (ตรงกับช่วงปลายสุดของกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินของพระเจ้าเอกทัศน์) ที่ความต้องการแรงงานมีเพิ่มขึ้นมาก

และก็แน่นอนด้วยว่าต้องเป็นแรงงานที่ไม่ได้เมาหัวราน้ำเข้ามาทำงานด้วย โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานกับเครื่องจักรกลหนัก ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาที่ว่านี้เอง

 

คําอธิบายในทำนองที่ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสารพัดเรื่องราวเชิงลบได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างมากมายนับตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

แต่อันที่จริงแล้ว ในสังคมตะวันตกยุคก่อนหน้าที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นเล็กน้อยนั้นก็มีแนวโน้มของการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปในเชิงลบแล้ว

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ บาทหลวง (cleric) ควบตำแหน่งนักเทววิทยาคนสำคัญชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น เวสลีย์ (John Wesley) ได้เคยเทศน์เอาไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2286 ว่า

“การซื้อ การขาย และดื่มกินสุรานั้น เป็นสิ่งชั่วร้าย (evils) ที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง เว้นก็แต่จะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง”

และก็เป็นด้วยความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ดังนี้เอง ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหว Temperance Movement แล้วค่อยเริ่มย่างกรายเข้าสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ.2363

แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วนะครับว่า เมื่อแรกที่ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวเข้ามาในอเมริกานั้น พวกอเมริกันชนที่เป็นนักศีลธรรมทางสังคม หรือที่มักจะถูกเรียกอย่างกระทบกระเทียบในปัจจุบันว่า “ตำรวจศีลธรรม” ยังหมกมุ่นอยู่กับความพยายามในการเลิกทาสกันมากกว่า ต้องรอจนกระทั่งอเมริกาประกาศเลิกทาสไปแล้วนั่นแหละ ถึงจะเป็นช่วงที่คนพวกนี้หันมาจับประเด็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันให้เป็นที่เอิกเกริก

และในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรในหลายภาคส่วน ทางการสหรัฐก็ค่อยๆ ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาทีละตัว จนกระทั่งพวกเขาก็ได้ฟินกันถึงที่สุด เมื่อรัฐบาลประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงในปี พ.ศ.2463 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้วพอดิบพอดี

 

แต่ผลจากการสั่งให้เลิกจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง กลับไม่ได้นำพาสังคมอเมริกันเข้าสู่ยุคของยูโทเปีย อย่างที่พวกตำรวจศีลธรรมวาดฝันเอาไว้

การห้ามจำหน่ายสุรากลับทำให้การค้า “เหล้าเถื่อน” กลายเป็นแหล่งทำเงินชั้นดีสำหรับพวกมาเฟีย จนทำให้พวกมาเฟียมีทั้งเงินทองและอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังไปติดสินบนทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาล จนทำให้เมื่อทำผิดก็สามารถลอยนวลไปได้ง่ายๆ แถมมาเฟียบางคนยังกลายเป็น “ไอดอล” ของยุคสมัย ที่น่ารู้จักกันดีก็คือ “อัล คาโปน” คนดังนั่นเอง

และเนื่องจากในยุคโน้น เครื่องดื่มเหล่านี้ยังมีความจำเป็นในแง่อื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของความเมา ในกฎหมาย Volstead Act จึงต้องระบุไว้ว่า ให้โบสถ์สามารถใช้ “ไวน์” ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนคลินิกทางการแพทย์ก็ยังสามารถใช้ “วิสกี้” ในการรักษาโรค ทั้งนักบวชและนายแพทย์จึงกลายเป็นยี่ปั๊วชั้นดีในการจำหน่ายสุราให้แก่ทั้งมาเฟียและประชาชนทั่วไป

ผลจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้สหรัฐอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นรัฐที่วุ่นวายจนถึงที่สุด แถมยังเป็นเวลายาวนานถึง 13 ปี อันเป็นเลขอัปมงคลสิ้นดี สำหรับประเทศที่คนส่วนใหญ่ ณ ขณะจิตนั้นเป็นชาวคริสต์ จนสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องประกาศยกเลิกกฎหมายฉบับที่ว่า

แน่นอนว่าการออกไปสังสรรค์กันพร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เพียบแปล้ในช่วงที่รัฐต้องการให้ผู้คนอยู่กันแบบ social-physical distancing เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่ดี แต่การประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทนี้โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เต็มทีอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องนัก

ตัวอย่างมีให้เห็นในกรณีคลาสสิคของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว