จรัญ มะลูลีม : ที่มาของ “ดะอ์วะฮ์”

จรัญ มะลูลีม

อาจกล่าวได้ว่า การเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่คุ้นเคยกันในชื่อดะอ์วะฮ์ที่มีชาวมุสลิมเข้าร่วมเป็นจำนวนนับพันคนไปจนถึงล้านคน ซึ่งเป็นรองเฉพาะพิธีฮัจญ์ที่มีผู้คนมารวมกันในแต่ละปีไม่ต่ำกว่าสองล้านห้าแสนคนในสองนครศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามคือ ที่นครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ของซาอุดีอาระเบียนั้นถือกำเนิดในเอเชียใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย

เป็นอินเดียที่ในอีกสิบปีข้างหน้าจะมีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นพี่น้องชาวฮินดูก็ตาม โดยจำนวนชาวมุสลิมในอินเดียจะแซงหน้าประเทศอินโดนีเซียที่ปัจจุบันมีชาวมุสลิมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านคน ทั้งๆ ที่อินเดียได้แตกออกมาเป็นประเทศมุสลิมอีกสองประเทศคือปากีสถาน (อดีตปากีสถานตะวันตก) และบังกลาเทศ (อดีตปากีสถานตะวันออก)

ขบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่ถือกำเนิดในอินเดีย มีชื่อว่า ตับลีฆ ญะมาอัต (Tabligh Jamaat) หรือการรวมตัวกันของผู้เผยแผ่ศาสนา (อิสลาม)

 

การถือกำเนิดของตับลีฆ ญะมาอัต

กลุ่มตับลีฆ ญะมาอัต หรือการรวมตัวกันของผู้เผยแผ่ศาสนา (Congregation for religious prop agenda) หรือขบวนการดะอ์วะฮ์ก่อตั้งขึ้นในประเทศอินเดียโดยนักการศาสนาที่รู้จักกันในนามเมาลานา อิลยาส (Maulana Ilyas 1885-1944) ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดตับลีฆ ญะมาอัต ขึ้นราวปี 1927 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิซอมุดดีน (Nizamuddin) กรุงนิวเดลี

สำหรับนักศึกษาไทยยุคใหม่ที่เรียนอยู่ในอินเดียในเวลานี้ เวลาเดินทางกลับไปอินเดียก็ไม่จำเป็นต้องนำเอาเงินรูปีหรือเงินดอลลาร์พกติดตัวมาเหมือนรุ่นพี่ๆ อีกแล้ว

เพราะที่นิซอมุดดีน อันเป็นแหล่งการรวมตัวของชาวมุสลิมแห่งนี้มีเงินหลายสกุลที่สามารถเปลี่ยนเป็นรูปีได้ รวมทั้งเงินไทย และอัตราแลกเปลี่ยนก็จะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมาก สะดวกและรวดเร็วเพราะมีคนจากทั่วโลกมารวมกันที่นี่ทุกปีตามตารางที่กำหนดเอาไว้

เมาลานา อิลยาส เปิดตัวตับลีฆ ญะมาอัต ด้วยความมุ่งมั่นในการปฏิรูปตามหลักการอิสลาม (Islamic revivalism) ที่มาจากความริเริ่มของตัวเขาเอง

ตับลีฆ ญะมาอัต จึงเป็นขบวนการหนึ่งที่ต้องการให้มุสลิมมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และแยกออกมาจากสังคม-วัฒนธรรมหลักของอินเดีย

เมาลานา อิลยาส สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษแห่งครอบครัวคัลดัลวี (khandulwi) แห่ง United Province ซึ่งปัจจุบันคืออุตตรประเทศ (Utra Pradesh) รัฐที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และปัจจุบันรัฐนี้รัฐเดียวมีประชากรมากกว่าประเทศไทยทั้งประเทศ

เป็นหนึ่งในผู้นิยมแนวทางอิสลาม (Islamist) ผู้มีความเชื่อว่าการกลับไปสู่ศักราชของท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นคำตอบให้กับการฟื้นฟูพลังของอิสลามขึ้นมาในอินเดีย

เขาได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดที่มีอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งในอินเดียนั่นคือจะต้องมีผู้นำมุสลิมอยู่ในขบวนการปลดปล่อยอินเดีย

หลังจบการศึกษาจากสำนักคิดทางศาสดาที่มีชื่อเสียงของอินเดีย คือสำนักคิดเดียวบัน (Deoband) แล้ว เมาลานา อิลยาส ก็ได้รับอิทธิพลจากคำสอนของอิสลามอันบริสุทธิ์ (puritanical sect of Islam) ของสำนักคิดวะฮะบีย์ (Wahhabi) ภายใต้การนำของมุฮัมมัด บิน อับดุล วะฮ้าบ ผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดีอาระเบีย ร่วมกับอัล สะอูด (al – Saud) ซึ่งชื่อของพระองค์กลายเป็นชื่อของประเทศซาอุดีอาระเบียในที่สุด

เมาลานา อิลยาส เข้าศึกษาในสถาบันดารุ้ลอุลูมเดียวบันด์ (Dar-ul- Uloom Deoband) ในปี 1908 และต่อมาได้กลายมาเป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันที่เป็นดั่งสาขาหนึ่งของสำนักเดียวบัน นั่นคือสถาบันมซาฮิรุลอุลูม (Mazalur-ul-Uloom) ที่เมืองสะฮารานปุร (Saharanpur)

หลังการจากไปของผู้เป็นพี่ชาย เขาได้ไปตั้งรกรากที่นิซอมุดดีน กรุงนิวเดลี เพื่อดูแลมัสญิดที่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาไปด้วยในตัว ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยมุฮัมมัด อิสมาอีล ผู้เป็นบิดาของเขาเอง

ในการให้กำเนิดขบวนการดะอ์วะฮ์เผยแผ่ศาสนาในนามตับลีฆ ญะมาอัต เมาลานา อิลยาส เริ่มต้นใช้ชีวิตอยู่ในนิซอมุดดีนเป็นด้านหลักโดยลำพังในเบื้องต้น

ต่อมาเขาได้เริ่มการเผยแผ่จากประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเขามีความรู้สึกว่าชาวมุสลิมที่นั่นต้องการได้รับการเผยแผ่ด้านศาสนามากกว่าชาวมุสลิมในอินเดีย

แต่ที่ย้อนแย้งที่สุดก็คือในซาอุดีอาระเบียซึ่งอิสลามถือกำเนิดที่นี่ เขากลับไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการเผยแผ่คำสอนของอิสลามแต่อย่างใด

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียในเวลานั้นมีข้อสงสัยว่าการเผยแผ่ศาสนาของเขาจะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองและจะมาค้านกับคำสอนของสำนักคิดวะฮะบีย์ซึ่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเดินตามคำสอนของสำนักคิดนี้อยู่

 

เมื่อย้อนกลับไปหาคำตอบถึงสาเหตุแห่งความตกต่ำของผู้ปกครองมุสลิมในอินเดีย เมาลานา อิลยาส รู้สึกว่า มุสลิมของอินเดียกำลังกลายเป็นผู้ที่ขาดความเข้าใจในอิสลามอย่างแท้จริง จึงเป็นภารกิจของเขาที่จะทำการไถหว่านพรวนดินให้ผืนแผ่นดินแห่งนี้ที่ชาวมุสลิมมีชีวิตอยู่ด้วยมีความสมบูรณ์ทางจิตวิญญาณจนเจริญงอกเงยในทางจริยธรรมได้

เมาลานา อิลยาส ได้เริ่มต้นขบวนการเผยแผ่ศาสนาอิสลามที่เขาถือเป็นภารกิจสำคัญของชีวิตด้วยการทำให้ขบวนการของเขาค่อยๆ ปรากฏตัวขึ้นเป็นขบวนการสำคัญในหมู่ชาวมุสลิมที่แยกตัวออกมาจากการเมือง

เขาเริ่มปฏิเสธการตีความอิสลามแบบสมัยนิยม ขบวนการตับลีฆ (Tablighis) หรือขบวนการดะอ์วะฮ์ของเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกของขบวนการมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ผู้คนที่มารวมตัวและหลับนอนเพื่อการทำความดีอยู่ในมัสญิดแห่งนี้มีที่มาจากทุกชนชั้นของสังคม

ศูนย์กลางการดะอ์วะฮ์หรือการเผยแผ่ศาสนาอิสลามของเมาลานา อิลยาส ได้กลายมาเป็นที่อยู่ของอาสาสมัครที่มารวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 3-4 วัน ก่อนที่จะเดินทางออกไปเผยแผ่ในที่อื่นๆ

มัดเราะซะฮ์หรือโรงเรียนสอนศาสนาที่นิซอมุดดีนก็ได้กลายเป็นที่เรียนรู้คัมภีร์อัล-กุรอานและหะดีษ (แบบอย่างและคำสอนของศาสดามุฮัมมัด) มาเป็นเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน

 

คําสอนและข้อปฏิบัติสำคัญของตับลีฆ ญะมาอัต มีดังนี้

1. กะลีมะฮ์คือคำปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์และศาสดามุฮัมมัดนั้นเป็นศาสนทูตของพระองค์

2. การละหมาด (สำหรับผู้เป็นครูและผู้เข้าร่วม)

3. อิลม์ (ความรู้จากตำราอิสลาม)

4. อิกรอม มุสลิม (การให้ความเคารพต่อชาวมุสลิม)

5. อิคลาส นิยาต (ความมุ่งมั่นอันบริสุทธิ์และจริงใจ)

6. ตัฟรีอีวักต์ (ใช้เวลาเพื่อการเดินทางออกไปเผยแผ่)

มุสลิมทุกคนเมื่อเดินทางออกไปยังดินแดนต่างๆ เพื่อการเผยแผ่จะต้องปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1. ปรากฏตัวด้วยการแต่งกายแบบชาวมุสลิม

2. ปฏิบัติตามแนวทางของอิสลามและปฏิเสธแนวทางที่มิได้มีอยู่ในศาสนาอิสลาม

3. อยู่แยกกับสุภาพสตรี

4. จัดการสมรสตามหลักการอิสลาม

5. สุภาพสตรีต้องแต่งกายตามหลักการของอิสลาม

6. ไม่เบี่ยงเบนไปจากความเชื่อของอิสลาม

7. ปกป้องและรักษาสิทธิของกันและกัน

8. ร่วมมือกับผู้มีความรับผิดชอบในทุกๆ การประชุมและการรวมตัวกัน

9. ปฏิญาณตนว่าจะไม่มีการสอนให้เดินตามแนวทางฆราวาสนิยมแก่เด็กๆ ก่อนที่พวกเขาจะจบการศึกษาทางศาสนา

10. ยืนหยัดต่อสู้และอุทิศตนเพื่อการเผยแผ่ศาสนา

11. ยืนหยัดที่จะปกป้องและให้ความเคารพต่อกันและกัน

12. รักษาความสะอาด

 

ตับลีฆ ญะมาอัต เป็นขบวนการที่ผู้เข้าร่วมต้องใช้เงินของตัวเองในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ผู้อยู่ในขบวนการนี้จะต้องสละเวลาหนึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งวัน หรือหนึ่งวันต่อหนึ่งสัปดาห์ทุกๆ เดือน หรือหนึ่งหรือสองเดือนต่อหนึ่งปีเพื่อเดินทางเป็นกลุ่มก้อนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง และเชิญชวนชาวมุสลิมในพื้นที่ที่ตนเองเดินทางไปให้ถึงซึ่งบางครั้งอยู่ไกลถึงบราซิล แอฟริกาใต้หรือฟิจิทีเดียว

ทั้งนี้ ขบวนการหรือกลุ่มดะอ์วะฮ์จากประเทศไทยก็เดินทางไปเผยแผ่ยังประเทศต่างๆ กับผู้คนที่มารวมตัวกันที่นิซอมุดดีนในอินเดียแล้วเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนดเอาไว้หรือบินจากประเทศไทยไปสมทบยังจุดหมายปลายทางในประเทศต่างๆ ตามที่ได้มีการกำหนดเอาไว้เช่นกัน ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยก็อาจเผยแผ่อยู่แค่ภายในประเทศ แต่โดยปกติการรวมตัวกันที่สำคัญจะอยู่ในปากีสถาน อินเดียและบังกลาเทศ

แม้เมาลานา อิลยาส จะจากไปในปี 1944 แต่สำนักงานใหญ่ของตับลีฆ ญะมาอัต ก็ยังคงอยู่ที่นิซอมุดดีน ของอินเดียจนถึงปัจจุบัน

เมาลานา อิลยาส เป็นผู้ที่ทำให้ขบวนการของเขามีความเป็นปึกแผ่นไปทั่วอนุทวีปอินเดีย โดยมีศูนย์กลางแห่งที่สองอยู่ที่ปากีสถานและบังกลาเทศ

Encyclopedia of Islam กล่าวถึง ตับลีฆ ญะมาอัต ว่าเป็นขบวนการของโลกที่สามารถขยายตัวออกไปอย่างก้าวไกล และปฏิบัติการอย่างเป็นระบบอยู่ในห้าทวีปของโลก