คนของโลก : เบนนี่ แกนซ์ อดีตทหารสู่สนามการเมืองอิสราเอล

เบนนี่ แกนซ์ อดีตเสนาธิการทหารบก ที่ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองในฐานะขั้วตรงข้ามที่มาท้าทายอำนาจของนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล บรรลุข้อตกลงแบ่งอำนาจกับนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว

โดยทั้งคู่จะแบ่งกันครองตำแหน่งฝ่ายละ 18 เดือน โดยเนทันยาฮูจะรับหน้าที่ก่อน

หัวหน้าพรรคบลูแอนด์ไวต์ วัย 60 ปี ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนแต่ถูกมองในฐานะนักการเมืองปฏิบัตินิยม คู่แข่งทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีปีกขวาอย่างเนทันยาฮู

แกนซ์กลายเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอิสราเอลทั่วประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเขาประกาศที่จะลงสนามเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคมในปี 2018

ภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากนั้น พรรคบลูแอนด์ไวต์ของแกนซ์สร้างความตกตะลึงให้กับเวทีการเมืองอิสราเอลด้วยการคว้าเก้าอี้ได้สูสีกับพรรคลิคุดของเนทันยาฮู ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน

และถึงขั้นคว้าเก้าอี้ได้มากกว่าเล็กน้อยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งทั้งสองครั้ง ทั้งแกนซ์และเนทันยาฮูไม่สามารถครองเก้าอี้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 120 เสียงได้ ส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม

หลังการเลือกตั้ง ขั้วการเมืองฝ่ายต่อต้านนายเนทันยาฮู แม้จะมีความแตกแยกกันอยู่ก่อนหน้านี้กลับหันมาสนับสนุนแกนซ์กันอย่างพร้อมเพรียงและเสนอให้แกนซ์เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลขึ้น

ทว่าหลังจากขั้วการเมืองฝ่ายต้านเนทันยาฮูกดดันประธานรัฐสภาอย่างยูลิ อเดลสตีน ออกจากตำแหน่งได้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แกนซ์สร้างความประหลาดใจด้วยการเสนอตัวนั่งในตำแหน่งดังกล่าวแทนก่อนที่จะได้รับเลือกในวันที่ 26 มีนาคม

และในการแถลงครั้งแรก แกนซ์เรียกร้องให้มีรัฐบาลฉุกเฉินขึ้น นำไปสู่การทำข้อตกลงกันระหว่างแกนซ์และเนทันยาฮู เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา

 

แกนซ์เกิดในวันที่ 9 มิถุนายน 1959 ในหมู่บ้านทางใต้ของประเทศ หมู่บ้านซึ่งพ่อ-แม่ผู้เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น

แกนซ์เข้ารับใช้ชาติในกองทัพในปี 1977 ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยชาลแด็ก หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศอิสราเอล

แกนซ์ นายทหารที่มีส่วนสูง 182 เซนติเมตร ได้รับฉายาในกองทัพว่า “เบนนี ฮูตา” การเล่นคำที่มีความหมายว่า “ไม่รีบ” สะท้อนบุคลิกผ่อนคลายของแกนซ์เอง

ในปี 1994 แกนซ์กลับมายังกองทัพบกอีกครั้ง ได้รับหน้าที่บัญชาการกองพัน รวมถึงบัญชาการกองทัพในเขตยึดครองเวสต์แบงก์

ก่อนที่ต่อมาจะก้าวไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหาร ที่สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2005 และหมดวาระลงในปี 2009

แกนซ์กลับมาดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกในปี 2011 จนถึงปี 2015 และทำงานใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูมาโดยตลอด

ผลงานล่าสุดในปี 2014 แกนซ์บัญชาการปฏิบัติการของกองทัพบก สู้รบกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา สามารถสังหารกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์ และโจมตีเป้าหมายได้จำนวนมาก

 

แกนซ์เข้าสู่เวทีการเมืองด้วยการตั้งพรรครีซิเลนซ์ เข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรบูลแอนด์ไวต์ กลุ่มพรรคแนวคิดสายเหยี่ยวด้านความมั่นคง และมีสมาชิกที่แปรพักตร์มาจากพรรคลิคุดจำนวนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังบลูแอนด์ไวต์เสียแรงสนับสนุนจากสมาชิกอีกจำนวนหนึ่งหลังจากแกนซ์ประกาศจะทำข้อตกลงทางการเมืองกับเนทันยาฮู

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แกนซ์ยังคงสามารถเรียกคะแนนจากประชาชนได้ หลังจากเนทันยาฮูถูกตั้งข้อหาทุจริต และต้องเข้ารับการไต่สวนในช่วงเวลาหลังจากนี้

นโยบายของแกนซ์ถูกมองว่ายังคงมีความคลุมเครือในหลายๆ เรื่อง เช่น การออกมาสนับสนุนแผนสันติภาพของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับเนทันยาฮู แผนสันติภาพที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอียงฝั่งอิสราเอล ขณะที่ปาเลสไตน์ปฏิเสธแผนดังกล่าวอย่างหนักแน่น

แต่แกนซ์เองก็ดูเหมือนจะสงวนท่าทีบางอย่างที่ทำให้มองได้เช่นกันว่าแกนซ์สามารถฉีกแผนดังกล่าวทิ้งในภายหลังได้

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ความตกลงทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองขั้วการเมืองในอิสราเอล จะนำพาประเทศพ้นวิกฤตโควิด-19 ระบาดได้หรือไม่

โฉมหน้าการเมืองหลังวิกฤตการแพร่ระบาดจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม