ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 พฤษภาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“Ten Years” ภาพยนตร์อิสระทุนสร้างต่ำ ที่ประกอบด้วยหนังสั้นจำนวน 5 เรื่อง ผลงานการกำกับของ อึ้ง กาเหลียง, เจวอนส์ อู่, โจว กวนไว, หว่อง เฟยพ่าง และ กัว ซุ่น เพิ่งคว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ประจำปี 2015 บนเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แต่การดำรงอยู่ของภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสร้างความวิตกกังวลให้แก่รัฐบาลจีนที่กรุงปักกิ่ง
เนื่องจากหนังนำเสนอ “ภาพแทน” ของสังคมฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีนในอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า (ปี 2025) ที่ไม่ดีงามสักเท่าใดนัก
โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบริบททางการเมืองที่ว่า หนังถูกสร้างขึ้นคล้อยหลังเหตุการณ์ “ปฏิวัติร่ม/อ็อคคิวพายเซ็นทรัล” ซึ่งยังก่อแรงกระเพื่อมใต้น้ำอยู่มิรู้จบสิ้น
หนังสั้นทั้ง 5 เรื่อง ที่ถูกเรียงร้อยกันเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวชิ้นนี้ ได้รับโอกาสให้ออกฉายตามโรงภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ในช่วงเวลาอันจำกัด
ขณะที่บางโรงภาพยนตร์ก็ปฏิเสธไม่ยอมฉายหนัง
ทางออกของผู้ผลิตจึงได้แก่ การนำหนังไปตระเวนฉายตามมหาวิทยาลัย, การต้องเช่าโรงเพื่อจัดฉายหนังด้วยตัวเอง รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก
อย่างไรก็ตาม หนังที่มีทุนสร้างเพียง 5 แสนดอลลาร์ฮ่องกง (ราวสองล้านบาท) เรื่องนี้ กลับโกยรายได้เกินความคาดหมายไปมากถึง 6 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 27 ล้านบาท)
การถูกจำกัดพื้นที่ฉายหนังบนเกาะฮ่องกงเกิดขึ้นสอดคล้องกับการที่หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีน เขียนวิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ “บ้าบอคอแตกสิ้นดี” “มองโลกในแง่ร้ายสุดๆ” และมีสถานะเป็น “เชื้อไวรัสร้ายในทางความคิด”
ขณะเดียวกัน ทีวีช่องหลักของจีนแผ่นดินใหญ่ก็ตัดสินใจระงับโปรแกรมการถ่ายทอดสดงานประกาศรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่า เหตุผลสำคัญน่าจะอยู่ที่การมีชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่ของ Ten Years นั่นเอง
นี่จึงเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1991 ที่ผู้ชมในจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ดูการถ่ายทอดสดงานมอบรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ทางจอโทรทัศน์
ซู ข่าย นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และนักวิชาการประจำสถาบันศิลปะการแสดงแห่งฮ่องกง กล่าวถึงปฏิกิริยาดังกล่าวของจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็น “สิ่งผิดพลาด”
“แน่นอน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องโง่เง่ามาก ที่จีนแผ่นดินใหญ่ตัดสินใจระงับการถ่ายทอดสดงานมอบรางวัล แต่นี่ก็เป็นปฏิกิริยาที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อพวกเขาไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับรู้บางสิ่งบางอย่างมากเกินไป” ซู ข่าย วิพากษ์รัฐบาลจีน ก่อนจะกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง Ten Years ว่า
“หนังเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนี่คือภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบทศวรรษ ที่พยายามขบคิดถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกง”
ด้าน แอนดรูว์ ชอย โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ระบุภายหลัง Ten Years ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ว่า
“ความหมายของรางวัลนี้ คือ การแสดงให้เห็นว่าฮ่องกงยังคงมีความหวัง รางวัลนี้ย้ำเตือนให้พวกเราตระหนักว่า เราพึงมีความกล้าหาญในการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ผมขอขอบคุณผู้ชมทุกคนที่ตีตั๋วมาดูหนังเรื่องนี้”
ขณะที่ อึ้ง กาเหลียง หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ ระบุว่า เขาไม่สนใจว่าทางการปักกิ่งจะคิดอย่างไรกับหนังเรื่องนี้ เขาสนใจแต่เพียงว่าคนฮ่องกงคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับตัวหนังมากกว่า
“ถ้าพวกคุณถามผมถึงปฏิกิริยาที่ทางปักกิ่งอาจมีต่อพวกเรา (คนทำหนัง) ผมก็จะตอบว่า มันไม่เห็นมีน้ำยาตรงไหนเลย เพราะหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประชาชนชาวฮ่องกง พวกเราคนทำหนังต่างเปิดใจกว้างเพื่อรับฟังเสียงของคนดูที่ชอบและไม่ชอบภาพยนตร์
“พวกเราหวังเพียงแค่ว่าคนฮ่องกงจะมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนเองออกมา พวกเราต้องการให้ผู้คนคิดถึงอนาคตของเกาะแห่งนี้” อึ้ง กาเหลียง กล่าว
ส่วน ดีเรค ยี ประธานจัดงานมอบรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ได้กล่าวข้อคิดก่อนจะประกาศให้ Ten Years ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ว่า “ประธานาธิบดีรูสเวลต์เคยพูดเอาไว้อย่างหนึ่งว่า สิ่งเดียวที่เราพึงกลัว ก็คือ การมีความขลาดกลัวนั่นเอง”
หนังสั้น 5 เรื่องชุดนี้ ฉายภาพโลกอนาคตในภาวะ “ดิสโทเปีย” (สังคมในจินตนาการที่เลวร้าย เต็มไปด้วยการกดขี่ควบคุมอันโหดเหี้ยมรุนแรง) ของผู้คนบนเกาะฮ่องกง ที่มีความวิตกกังวลเกาะกุมสภาพจิตใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อพวกเขาถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง ซึ่งเข้ามากุมอำนาจบนเกาะแห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กระทั่งภาษาจีนท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์การเกษตรที่เคยใช้อยู่แต่เดิม ก็ยังถูกห้ามใช้
หนังสั้นตอนหนึ่ง เล่าเรื่องราวของกลุ่มเยาวชน (อายุไม่กี่ขวบ) ที่สวมใส่ชุดยูนิฟอร์มทหาร ออกเดินสำรวจตรวจตราพฤติกรรมการต่อต้านรัฐบนท้องถนน
หนังอีกตอน กล่าวถึงภาวะสูญหายของภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งคนฮ่องกงเคยใช้สื่อสารกัน
ส่วนหนังสั้นปิดท้าย ก็มีฉากผู้ประท้วงเผาตนเองหน้าสถานกงสุลสหราชอาณาจักร (ซึ่งส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีนในปี 1997) จนทำให้คนดูหลายรายถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่
แรมซี่ เยาวชนวัย 18 ปี ที่ได้ชม Ten Years ให้สัมภาษณ์ว่า หนังเรื่องนี้ทำให้เขาคิดออกว่า “เราต้องออกมาเคลื่อนไหว…. และสิ่งเลวร้ายที่สุดบางประการที่ถูกทำนายว่าอาจเกิดขึ้นในยุคอนาคต (ของภาพยนตร์) ก็ได้เกิดขึ้นมาจริงๆ แล้วในยุคปัจจุบัน ผมจึงไม่มีความเชื่อมั่นในจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป และแม้แต่อังกฤษก็ไม่สามารถช่วยเหลือพวกเราได้แม้แต่น้อยเช่นกัน เพราะไม่มีใครกล้าจะยืนชนกับจีน”
สอดคล้องกับคนดูบางส่วนที่เห็นว่าควรปกป้องฮ่องกง จากภาวะเสื่อมทรุดขนาดหนัก และภาวะสูญสิ้นซึ่งอัตลักษณ์
“เป็นความจริงว่าสิ่งแย่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับฮ่องกง ณ ปัจจุบันนั้น มันถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้าสถานการณ์ในยุคอนาคตของภาพยนตร์เรื่องนี้เสียอีก” โจว กวนไว หนึ่งในผู้กำกับหนัง ระบุ
น่าสนใจว่า หลัง Ten Years ออกฉาย ผู้จำหน่ายหนังสือวิพากษ์รัฐบาลจีนจำนวนห้าคนก็หายสาบสูญจากเกาะฮ่องกง ก่อนจะถูกออกข่าวว่าโดนจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจีน
นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์ตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้า ระหว่างการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงในช่วงตรุษจีน
“หลายๆ คนบอกกับเราว่า พวกเราไม่ต้องรอไปจนถึงสิบปีหรอก เพราะเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้มันได้เกิดขึ้นแล้วในโลกความจริง” อึ้ง กาเหลียง บอก และว่า “พวกเราต้องการภูมิปัญญาและความกล้าหาญ เพื่อใช้เผชิญหน้ากับอนาคต เพื่อใช้เผชิญหน้ากับสภาวการณ์ไร้สาระอันน่าขำขื่น ซึ่งฮ่องกงกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้”
“หนังของพวกเราไม่ใช่คำพยากรณ์ แต่มันคือความปรารถนาที่จะเผชิญหน้ากับอนาคตร่วมกัน เมื่อปีศาจผงาดขึ้นครองอำนาจ พวกเราต้องไม่สูญเสียความหวังไปโดยเด็ดขาด” อึ้ง กาเหลียง กล่าวทิ้งท้าย