หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ / ‘หล่ม’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ชะนีมือขาว - ชะนีต่างจากลิงและค่าง ที่ตอนเดินทาง ชะนีจะใช้วิธีโหนไปตามกิ่งไม้ ส่วนลิงและค่าง ใช้วิธีไต่ไปตามกิ่งไม้ และกระโจน สัตว์ที่อาศัยอยู่บนเรือนยอดไม้ ก็มีด่านในการเดินทางเช่นกัน

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หล่ม’

 

ผมคุ้นเคยกับหล่ม และดูเหมือนว่ามันคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ซึ่งจะว่าไป ก็ไม่น่าแปลกอะไร เพราะชีวิตที่วนเวียนอยู่กับเส้นทางในป่า ย่อมไม่พ้นที่จะต้องพบกับหล่ม

แต่ไม่ว่าจะเป็นหล่มลึก หรือเนินลื่นไถลต่างๆ ที่พบนั้น ก็เป็นหล่มและเนินเดิมๆ นั่นแหละ รู้ทั้งรู้ว่า นำรถลงไป รถก็ติด ต้นไม้ซึ่งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสำหรับเกี่ยวสะลิงวินช์มีทุกหล่ม ต้นไม้ต้นนั้นๆ จะมีร่องรอยถูกใช้เพื่อคล้องสะลิงอย่างชัดเจน

ผมพูดถึงหล่มบ่อยๆ ทั้งในฐานะที่หล่มต่างๆ เป็นคล้ายด่าน ซึ่งต้องผ่านไปให้ได้ ถ้าอยากไปถึงจุดหมาย

รวมทั้งในความหมายว่า อาจเรียกได้ว่า เป็นชะตากรรมที่เรามักตกลงไปในหล่มเดิมๆ เสมอๆ

แต่ทุกครั้งที่นึกถึงหล่ม ผมจะคิดถึงเพื่อนร่วมทาง

ซึ่งดูคล้ายจะไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกัน เพราะคนเมื่อร่วมในเส้นทางทุรกันดาร เราจะจดจำกันได้ไม่ลืม…

 

ครั้งนี้ผมนึกถึงชายหนุ่มวัยเบญจเพส รูปร่างล่ำสัน ผิวคล้ำ ผมสั้นเกรียน แต่งกายเรียบร้อย คือ กางเกงลายพราง เสื้อยืดแขนสั้นสีดำ ยัดชายเสื้อในกางเกง สวมรองเท้าผ้าใบสีคล้ำๆ ซึ่งเดิมคงเป็นสีขาว พูดได้ว่า เขาเป็นคนแต่งตัวเรียบร้อยกว่าคนอื่นๆ ก็ได้

เจ้าหน้าที่คนอื่นในป่าทุ่งใหญ่นั้น ทุกคนแต่งตัวเรียบร้อยในชุดลายพรางป่าไม้ เฉพาะเวลาเคารพธงชาติตอนแปดโมงเช้า และขณะเดินลาดตระเวน

แต่นอกเวลางาน อยู่ในหน่วย ส่วนใหญ่จะอยู่ในชุดมอมๆ กางเกงเก่าๆ เสื้อยืดสีดำ ที่ด้านหลังเสื้อเขียนข้อความว่า “คนทุ่งใหญ่ข้ารับใช้แผ่นดิน”

ที่เหมือนๆ กันอีกอย่างคือ ทุกคนใส่รองเท้าบู๊ตยาง เนื่องจากเป็นรองเท้าที่เดินลุยโคลนได้ดี เหมาะกับสภาพที่อยู่

“ใช่ว่าจะกันเปื้อนหรือกันลื่นดีกว่ารองเท้าผ้าใบหรอกครับ แต่มันล้างออกง่ายน่ะ เราจึงใช้รองเท้าแบบนี้กัน” บุญชัย หัวหน้าช่างบอกเหตุผลของการใส่บู๊ตยาง

มีเพียงคนเดียวที่ผิดแผกไปจากคนอื่นๆ ชายหนุ่มผิวคล้ำล่ำสัน วัยเบญจเพส ที่ผมกล่าวถึง

เขาชื่อ สมพร

 

ตอนที่พบกัน สมพรเพิ่งเข้ามาทำงานได้ 3 เดือน เขามาจากบ้านสเน่พ่อง หมู่บ้านใหญ่ทางฝั่งอำเภอสังขละบุรี

“ผมอยากทำงานในป่านี่มานานแล้วละครับ แต่เพิ่งได้เข้ามาเพราะไปเป็นทหารเสียนาน” สมพรคุย เขาได้รับมอบหมายให้เดินทางกับผมช่วงเวลาหนึ่ง

สมพรปลดประจำการมาไม่นาน ลักษณะท่าทางยังเป็นทหาร เวลาพบหัวหน้าตอนเช้า คนอื่นยกมือไหว้สวัสดีหัวหน้า สมพรยืนชิดเท้าตรงพร้อมตะเบ๊ะอย่างแข็งขัน

ผมเรียกสมพรว่าพลทหาร ทุกคนเห็นชอบด้วย เรียกเขาเช่นนี้กันหมด

แต่เมื่อได้ร่วมทางกันสักพัก ผมก็เปลี่ยนมาเรียกเขาว่า “กูเกิล” เพราะความรอบรู้ที่เขามี ตอบคำถามใครๆ ได้หมด

 

ในหน้าที่ “เด็กรถ” บนเส้นทางทุรกันดาร แม้ว่าสมพรจะยังไม่มีทักษะการซ่อมแซมดูแลรถหรือมีประสบการณ์มากนัก แต่เขาชดเชยด้วยร่างกายที่แข็งแรง กำลังเยอะ ขุดดินที่ติดอกรถได้รวดเร็ว ลากสายวินช์โดยไม่ต้องมีใครช่วย

สมพรช่างคุย เขาเล่าเรื่องราวสารพัดตอนเรานั่งข้างกองไฟ เขาชอบดูสารคดีธรรมชาติ และเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

ในความเป็นทหารเกณฑ์ เขาปลดประจำการก่อนเพื่อนๆ ในรุ่น

“ผมจบ ปวศ.จากเทคนิคที่เมืองกาญจน์ครับ เลยได้สิทธิ์ประจำการลดลง” เขาบอก

นอกจากเรื่องแต่งกาย ความต่างจากคนอื่นๆ ของสมพรอีกประการคือ ไม่กินเหล้า ไม่สูบยาเส้น

“ใหม่ๆ ก็แบบนี้แหละ เห็นมาหลายคนแล้ว พออยู่ๆ ไปเอาหมดแหละ” บุญชัยเป็นลูกพี่ พูดถึงลูกน้อง

“เจ้าวรวุฒินั่นไง ตอนแรกๆ ไม่เอาเลย เดี๋ยวนี้เอาทุกอย่าง เยอะด้วย” บุญชัยพูดต่อ

ว่าไปแล้ว การกินเหล้าของคนในป่า คล้ายเป็นเรื่องปกติ เดินลาดตระเวน เผชิญหน้ากับผู้ต้องหา พบเจอซากสัตว์ป่า สะสมความเครียดไว้ไม่น้อย ถึงเวลาพัก กลับถึงหน่วย พวกเขาจึง “ตั้งวง”

เริ่มจากพูดคุยเบาๆ เป็นการเป็นงาน เสียงดังขึ้นๆ จนไปถึงร้องเพลงแนวเพื่อชีวิต

คนทำงานในป่าทุ่งใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นชนเชื้อสายกะเหรี่ยง แต่ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ มีโอกาสเข้าไปเรียนในเมือง และเลือกที่จะกลับมาทำงานในป่า หลายคนมีทักษะทางดนตรี อย่างกีตาร์และกลอง

เสียงเพลงดังขึ้น ถ้าวันไหนหัวหน้าเข้าไปประชุม และยังไม่กลับ

“พวกนี้นี่ตรงกับที่เขาพูดในโฆษณาเลยนะครับ จน เครียด กินเหล้า” สมพรพูดกับผม

“เฮ้ยไอ้พลทหาร กูว่าเอ็งหนีไม่พ้นหรอก อีกไม่นานก็เหมือนกันแหละว้า” เดชา หนึ่งในวงได้ยินพูดเสียงดัง

“ข้าอยู่ในวงล้อมเหล้าขาวมายี่สิบห้าปีแล้ว ยังไม่กินเลยโว้ย” สมพรพูดเสียงดังกลับไป…

 

“เดือนหน้าไปงานแต่งงานผมนะครับ” วันหนึ่งสมพรบอกผม เขาลากลับบ้านหลายวัน

“อ้าว จะรีบแต่งไปไหน แฟนอยู่ ม.5 เองไม่ใช่เหรอครับ” ผมแปลกใจ

“อ้า…คือ ยังไงก็ต้องแต่งละครับ มีเหตุจำเป็นแล้ว” สมพรยิ้มแห้งๆ

ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินักที่คนในหมู่บ้านรอบๆ ป่าทุ่งใหญ่จะแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ

“บอกวันแน่ๆ มาครับ ผมจะไปพร้อมคนที่เขต” ผมรับคำ

 

รุ่งขึ้นผมเดินทางกลับเข้าป่า จุดหมายมีระยะทาง 30 กิโลเมตร ฝนตกหนักมาแล้วสองวัน เส้นทางหลายช่วงอยู่ในสภาพหล่มลึก จึงไม่รู้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่

สมพรนั่งเอนหลังสบายๆ อยู่บนกองสัมภาระ หลังแต่งงาน เขาวางแผนจะลาออกไปอยู่บ้านเมียเพื่อช่วยทำไร่ข้าว ดำเนินชีวิตไปตามวิถี ใช้ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ มีลูก 5-6 คนเป็นอย่างน้อยเหมือนคนอื่นในหมู่บ้าน

ถึงวันนี้ สมพรเคยส่งข้อความบอกผมว่า เขาเป็นครูที่โรงเรียนในหมู่บ้าน ความช่างพูดและรอบรู้ที่สมพรมี

ผมเชื่อว่า เด็กๆ จะได้ความรู้ที่ดี

 

เดินทางกันวันนั้น เพียงหล่มแรก รถก็จมโคลนแล้ว สมพรกระโดดลงจากกระบะ ปลดสายวินช์ ลากไปเกาะต้นไม้อย่างแข็งขัน

หล่มทำให้นึกถึงเพื่อนร่วมทาง

และหล่มนี่แหละ ทำให้รู้ว่า วันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร เราไม่รู้หรอก

สิ่งสำคัญตอนนี้คือ นำรถขึ้นจาก “หล่ม” ให้ได้เท่านั้น…