Yves Klein ศิลปินผู้ไขว่คว้าความงามในความว่างเปล่า

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในวันที่ 28 เมษายนนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 92 ปีของศิลปินคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ (ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่น่ะนะ) ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

อีฟว์ ไคลน์ (Yves Klein)

ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ทรงอิทธิพลและมีชื่อเสียงโดดเด่นและอื้อฉาวที่สุดในยุคทศวรรษที่ 50-60 เขาเป็นศิลปินหัวหอกของกลุ่มนูโวเรียลลิสต์ (Nouveau réalisme) หรือสัจนิยมใหม่ของยุโรปในยุคหลังสงครามโลก

ในช่วงแรกเขาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดนามธรรมเอกรงค์ (สีเดียว) ที่ใช้สีน้ำเงินสดใสแน่นหนักอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เขาคิดค้นจดสิทธิบัตรขึ้นในชื่อว่า International Klein Blue (IKB)

Untitled Blue Monochrome (IKB 100) (1956)

ยุค 1950s ที่งานศิลปะนามธรรมครอบครองวงการศิลปะในฝรั่งเศสอย่างเบ็ดเสร็จ ผลงานภาพวาดนามธรรมเอกรงค์สีน้ำเงินของไคลน์ เป็นเหมือนการเสียดสีความไร้รูปลักษณ์และเรื่องราวของศิลปะนามธรรม

มันไม่เพียงเป็นภาพวาดที่ไม่มีเส้นสาย ลวดลาย องค์ประกอบ หรือรายละเอียดอันใด อันที่จริงมันเป็นภาพวาดที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากสีน้ำเงินอันว่างเปล่า เขายังใช้สีน้ำเงินชนิดนี้กับงานประติมากรรมและศิลปะแสดงสด

นอกจากนี้ เขายังทำผลงานภาพวาดเอกรงค์ด้วยทองคำเปลวและเปลวไฟ.

Untitled Monogold (MG 45) (1959)
Untitled Fire Painting (F 27 I) (1961

หนักข้อยิ่งกว่านั้น เขายังถึงกับทำงานศิลปะที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมสีขาวอันว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรให้เห็นเลยนอกจากตัวผู้ชมที่เดินเข้าไปดูงานเท่านั้น

“Empty” room dedicated to the “Immaterial Pictorial Sensibility” (1961)

คไลน์หลงใหลในแนวคิดอันลึกลับและความไม่แน่นอนอันสมบูรณ์แบบและไม่มีที่สิ้นสุด

การทำงานในลักษณะนี้ของเขาเป็นการปลดปล่อยผู้ชมจากการชี้นำของศิลปิน และเปิดโอกาสให้ความคิดของพวกเขาเป็นอิสระ

เขาเชื่อว่าเส้นสายรายละเอียดบนภาพวาดนั้นไม่ต่างอะไรกับกรงขัง มีเพียงสีสันและความว่างเปล่าเท่านั้นที่เป็นหนทางไปสู่เสรีภาพ

ถึงแม้ไคลน์จะไม่แสดงการต่อต้านการสร้างวัตถุในงานศิลปะอย่างชัดแจ้ง แต่ผลงานหลายชิ้นของเขาก็แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งการใช้วัตถุที่เป็นสื่อในการแสดงศิลปะ และเสาะหาหนทางในการถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์สู่ผู้คนโดยตรงมากกว่า

ด้วยผลงานเช่นนี้ เขามุ่งเน้นในการแสดงออกด้วยความรู้สึกมากกว่าจะแสดงออกด้วยรูปทรงอื่นใด

ถึงจะมีช่วงชีวิตในการทำงานอันแสนสั้น แต่ผลงานและแนวคิดของเขาก็ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกแนวทางใหม่ๆ ของงานศิลปะแสดงสด (Performance art) และเป็นต้นธารและแรงบันดาลใจให้กับศิลปะมินิมอลลิสต์ (Minimalism) และป๊อปอาร์ต (Pop art)

นักวิจารณ์บางคนยกให้เขาเป็นเหมือนหนึ่งผู้สืบทอดของศิลปินพ่อทุกสถาบันอย่างมาร์แซล ดูชองป์ ในฐานะศิลปินจอมป่วนผู้เล่นกับนิยามใหม่ๆ ของงานจิตรกรรม และถากถางเส้นทางไปสู่พรมแดนใหม่ๆ ของโลกศิลปะ

บ้างก็เปรียบเทียบภาพวาดเอกรงค์ของเขาว่ามีอิทธิพลต่อศิลปะนามธรรมเทียบเคียงได้กับผลงานของศิลปินหัวก้าวหน้าอย่างคาซีมีร์ มาเลวิช เลยทีเดียว

ผลงานศิลปะแสดงสดที่เขาทำในช่วงท้ายๆ ของชีวิตการทำงาน ไคลน์ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกหนทางและแนวคิดใหม่ๆ ในการทำงาน ไม่ต่างกับศิลปินแสดงสดหัวก้าวหน้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างโจเซฟ บอยส์

ผลงานศิลปะแสดงสดของคไลน์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขามีชื่อว่า Anthropométrie sans titre Anthropometry (การวัดร่างกายมนุษย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ปราศจากชื่อ) (1961)

Anthropométrie sans titre Anthropometry (1961) ภาพจากhttp://www.creja.nl/ik-wist/yves-klein—blauw/

ศิลปะแสดงสดที่ใช้ร่างกายมนุษย์เป็นสื่อในการทำงานชุดนี้ ถูกแสดงต่อหน้าผู้ชมที่ถูกเลือกมาจำนวนหนึ่งร้อยคนให้แต่งกายในชุดสีดำและจิบค็อกเทลสีน้ำเงินนั่งรอชมศิลปะแสดงสดของเขา

Anthropométrie sans titre Anthropometry (1961) ภาพจากhttp://www.creja.nl/ik-wist/yves-klein—blauw/

คไลน์ปรากฏตัวในชุดสูททักซิโด้สีดำ ออกท่าทางเตรียมกำกับวงดนตรีออเคสตราสิบชิ้นที่กำลังจะเล่นเพลงที่เขาแต่งขึ้นในปี 1949 ที่มีชื่อว่า Monotone Symphony ซึ่งทั้งเพลงประกอบด้วยโน้ตแค่เพียงตัวเดียว

การแสดงเริ่มต้นขึ้นเมื่อนางแบบสามคนปรากฏกายออกมาด้วยร่างเปลือยเปล่าไร้อาภรณ์

ทันทีที่เสียงดนตรีเริ่มต้นขึ้น พวกเธอก็ละเลงสีน้ำเงิน IKB อันเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าของไคลน์บนร่างกายเปล่าเปลือยของตัวเอง และไถลเถือกเกลือกกลิ้งและแนบร่างกายเปื้อนสีลงไปบนพื้นและผนังหอศิลป์ที่ปูและปิดด้วยผืนผ้าใบและกระดาษแผ่นใหญ่หลายแผ่นต่อกันตามแต่ที่ศิลปินจะสั่งการ

ประหนึ่งจะใช้เรือนร่างของพวกเธอระบายสีต่างพู่กัน หรือเป็นแม่พิมพ์ประทับร่องรอยร่างกายของพวกเธอลงไป

กิจกรรมแสดงสดทางศิลปะอันน่าตื่นตะลึงจนแทบหยุดหายใจนี้ดำเนินไปเป็นเวลา 20 นาที

และเมื่อดนตรีซิมโฟนีที่มีโน้ตเพียงตัวเดียวนั้นหยุดบรรเลง ทุกอย่างในห้องก็หยุดนิ่งเงียบกริบเป็นเวลาพอๆ กัน

เหล่าคนดูเองก็ดูเหมือนจะจงใจแช่แข็งตัวเองอยู่กับภวังค์อันเงียบงันราวกับพวกเขากำลังต้องมนต์มายาแห่งศิลปะอันสุดพิลึกพิลั่นของไคลน์ก็มิปาน

ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายร่องรอยเงาของคนที่ประทับบนพื้น ซึ่งเกิดจากระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ รวมถึงอ้างอิงไปถึงผลงานของศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์อย่างแจ๊กสัน พอลล็อก ที่วาดภาพด้วยการเท หยด และสลัดสีลงบนผืนผ้าใบ

หากแต่การใช้ร่างกายของมนุษย์ต่างพู่กันวาดภาพของไคลน์ ท้าทายความคาดหวังของผู้ชมเกี่ยวกับกระบวนการทำงานศิลปะและสร้างแนวทางใหม่ของศิลปะแสดงสดอันน่าทึ่งขึ้นมา ด้วยการใช้เรือนกายเปลือยเปล่าของมนุษย์เป็นสื่อกลางในการสร้างงานศิลปะ ไคลน์ต้องการให้ผู้ชมของเขาได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่พวกเขาสามารถจะรู้สึกและทำความเข้าใจกับแนวความคิดทางศิลปะไปพร้อมๆ กันได้

การแสดงสดชุดนี้ถือเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับคไลน์อย่างมหาศาล และถือเป็นห้วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะเลยก็ว่าได้

ดูวิดีโอผลงานได้ที่นี่ https://bit.ly/2VoMaKb

อย่างไรก็ดี การใช้ร่างกายของผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะของไคลน์เช่นนี้ก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์และถูกต่อต้านจากเหล่าบรรดานักสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ ซึ่งในภายหลัง เหล่าศิลปินเฟมินิสต์เองก็ใช้ร่างกายของพวกเธอเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะด้วยตัวเอง แทนที่จะถูกศิลปินเพศชายอย่างไคลน์ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะอย่างที่เคยทำมา

ไคลน์มีความคิดว่าทั้งชีวิตของเขาคือผลงานศิลปะ เขากล่าวว่า “ศิลปะอยู่ในทุกหนแห่งที่ศิลปินไปถึง” เขาเชื่อว่าความงามนั้นปรากฏอยู่ในทุกที่ แต่อยู่ในสภาวะที่มองไม่เห็น หน้าที่ของศิลปินก็คือการคว้าจับเอาความงามนั้นไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหน แม้แต่ในอากาศอันว่างเปล่าก็ตาม

อุปมาเช่นในผลงาน Le Saut dans le vide (Leap into the Void) หรือกระโจนออกไปสู่ความว่างเปล่า (1960) ศิลปะแสดงสดและภาพถ่ายที่แสดงภาพของคไลน์กระโจนออกจากหลังคาลอยคว้างอยู่กลางอากาศ ผลงานชุดนี้แสดงนัยยะเสียดสีการเดินทางสำรวจดวงจันทร์ขององค์การนาซ่าว่าเป็นภาพตัดต่อ เช่นเดียวกับภาพถ่ายการแสดงสดภาพนี้ของเขาที่ลบภาพเตียงผ้าใบที่รองรับเขาอยู่เบื้องล่างออกในกระบวนการแต่งภาพขั้นตอนสุดท้ายนั่นเอง

Le Saut dans le vide (Leap into the Void) (1960) ภาพจากhttps://bit.ly/2Rzq8n

ด้วยผลงานเหล่านี้ อีฟว์ ไคลน์ บุกเบิกแนวทางการทำงานศิลปะอันก้าวล้ำที่ทำลายพรมแดนระหว่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะแสดงสด และคอนเซ็ปช่วลอาร์ตอย่างสิ้นเชิง

นอกจากแนวคิดทางศิลปะแล้ว ไคลน์ยังหลงใหลในปรัชญาและแนวคิดตะวันออก

เขาศึกษาปรัชญาของพุทธศาสนานิกายเซน และฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่นอย่างยูโดจนถึงระดับสายดำชั้น 4

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการทำงานศิลปะของเขาอย่างมาก

อีฟว์ ไคลน์ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี 1962 ด้วยวัยเพียง 34 ปี

เหลือทิ้งไว้เพียงแต่ผลงานที่ยังคงส่องประกายแห่งแรงบันดาลใจอันเจิดจ้ามาจวบจนถึงทุกวันนี้

Blue Venus (The Venus of Alexandria) (1962)

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก http://www.yvesklein.com/, https://bit.ly/2V2pOzo