คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (4)

คุยกับทูต อัลลัน แมคคินนอน ไทย-ออสเตรเลีย สัมพันธ์อันใกล้ชิดและราบรื่น (4)

กระทรวงศึกษาธิการได้มีความร่วมมือด้านการศึกษากับออสเตรเลียตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย เมื่อปี ค.ศ.1952

และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ออสเตรเลียส่งนักศึกษาภายใต้ทุนแผนโคลัมโบฉบับใหม่ (New Colombo Plan) ร่วมกับประเทศในอินโดแปซิฟิกจำนวน 32 ประเทศ

นายอัลลัน แมคคินนอน (H.E. Mr Allan McKinnon PSM) เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับโครงการโคลัมโบ (Colombo Plan) และโครงการโคลัมโบใหม่ (New Colombo Plan : NCP)

“สำหรับ “โครงการโคลัมโบ” นั้น เป็นการร่วมมือกันพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในภูมิภาคใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อโครงการนี้ได้มาจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติเครือจักรภพที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1950 โครงการโคลัมโบเริ่มจาก 7 ประเทศในเครือจักรภพ และทั้ง 7 ประเทศได้สนับสนุนให้นักศึกษาจากทั้ง 25 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเข้าศึกษาในประเทศออสเตรเลีย”

เป้าหมายหลักของแผนการโคลอมโบ คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยแผนได้ยึดหลักการความร่วมมือทั้งการช่วยเหลือตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนในปี ค.ศ.1954

“ระหว่างปี ค.ศ.1954-1989 นักศึกษาไทยมากกว่า 450 คนสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียผ่านโครงการโคลัมโบ และสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทยได้จัดงานเลี้ยงฉลองในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของโครงการโคลัมโบเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.2011”

ท่านทูตแมคคินนอนได้เผยรายนามศิษย์เก่าของ “โครงการโคลัมโบ” ซึ่งได้แก่

“ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับอดีตนายกฯ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานคนแรกของสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รู้จักในนามนักเศรษฐศาสตร์ไทยและศาสตราจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ

ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ”

“ส่วนโครงการ “โคลัมโบใหม่” (NCP) เป็นแผนนโยบายต่างประเทศ เพื่อมุ่งสร้างความรู้เรื่องอินโด-แปซิฟิกให้แก่ชาวออสเตรเลียโดยการสนับสนุนให้นักศึกษาชาวออสเตรเลียในระดับชั้นปริญญาตรีไปอาศัย ศึกษา ฝึกงาน และทำงาน โดยสามารถเลือกพื้นที่ได้กว่า 40 แห่งในภูมิภาคนี้”

“ตั้งแต่นำโครงการ “โคลัมโบใหม่” (NCP) มาใช้ในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ.2015 ทำให้ได้สนับสนุนนักศึกษากว่า 1,592 คน เข้าศึกษาและร่วมกิจกรรมการฝึกวิชาชีพที่ประเทศไทย”

“ในปีนี้ รัฐบาลออสเตรเลียสนับสนุนนักวิชาการโครงการ “โคลัมโบใหม่” และนักศึกษากว่า 341 คนเข้าร่วม 18 โครงการในประเทศไทย”

“โครงการทั้งหมดค่อนข้างหลากหลายและแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น วิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสุขาภิบาล ไปจนถึงสาขาด้านการศึกษา”

“อีกหนึ่งตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน (Curtin University) มาทำงานร่วมกับนักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพในโครงการออกแบบระยะเวลา 10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยจากไม้ไผ่สำหรับชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี”

“โครงการ “โคลัมโบใหม่” เป็นโครงการที่เน้นยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียกับประเทศในภูมิภาคนี้ ทั้งในระดับประชาชนถึงประชาชน และในระดับมหาวิทยาลัย ธุรกิจและการเชื่อมโยงอื่นๆ ความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นรากฐานสำหรับความร่วมมือของเรากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค”

“มีนักเรียนไทยจำนวนหลายพันคนได้ไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ และคงไม่มีใครสำคัญไปกว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงเข้าศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารที่ดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย (Royal Military College, Duntroon, Canberra) และสำเร็จปริญญาตรีหลักสูตรทางการทหารที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (University of New South Wales)”

“เมื่อปีที่แล้ว มีนักศึกษาไทยกว่า 17,000 คนศึกษาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลออสเตรเลียก็มีความภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้ให้การสนับสนุนนักศึกษาออสเตรเลียที่มีความสามารถและฉลาดเฉลียวเข้ามาศึกษาที่ประเทศไทยภายใต้โครงการ “โคลัมโบใหม่” (NCP)”

“มีชาวออสเตรเลียประมาณ 30,000 คนอาศัยอยู่ในประเทศไทยแบบถาวร เพราะชอบอากาศ ความเป็นอยู่สบายๆ และวัฒนธรรมไทย”

“ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ ชาวออสเตรเลียกว่า 800,000 คนชอบมาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลายคนมาที่นี่เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษที่เป็นเชลยศึกและเสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟเชื่อมประเทศไทย-พม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียจัดพิธีรำลึกประจำปีที่ช่องไฟนรก (Hellfire Pass) และที่สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก”

ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆ ได้แก่ วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์, วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์ และวัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษ

คำว่า ANZAC ย่อมาจาก Australian and New Zealand Army Corps ซึ่งเป็นชื่อเรียกกองกำลังทหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมด้วยเหล่าทหารจากสหราชอาณาจักร อินเดีย และฝรั่งเศส ที่ได้ยกพลขึ้นบก ณ ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแกลลิโปลี (Gallipoli Peninsula) ในออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) เพื่อเปิดฉากยุทธการดาร์ดาเนลส์ (Dardanelles) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ของเช้าวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1915 โดยมีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

เฉพาะทหารชาวออสเตรเลียที่เสียชีวิตในการสู้รบครั้งนั้น มีจำนวนมากกว่า 8,000 นาย ส่วนทหารชาวนิวซีแลนด์ที่เสียชีวิตก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

ต่อมา ชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จึงร่วมกันจัดวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือ ANZAC Day ขึ้น

มีการจัดพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1

สำหรับในประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในการจัดพิธีกรรมที่จังหวัดกาญจนบุรีทุกปี โดยใช้สุสานทหารพันธมิตร (ดอนรัก) เป็นอนุสรณ์สถาน

และขณะเดียวกันก็มีพิธีในเวลาเช้ามืดที่ช่องเขาขาด หรือ Hell-Fire Pass ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือทางรถไฟสายมรณะในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

“ช่องเขาขาดและสุสานทหารสัมพันธมิตรในกาญจนบุรี เป็นสถานที่พิเศษในหัวใจของพวกเรา เรามีหน้าที่ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่า จิตวิญญาณแห่งแอนแซค (ANZAC) จะถูกส่งต่อไปยังชนรุ่นหลังเพื่อรักษา เคารพ และเชิดชูไว้เป็นส่วนสำคัญแห่งคุณลักษณะความเป็นชาติของเรา”

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา สถานทูตออสเตรเลียในกรุงเทพฯ ได้แจ้งยกเลิกงานวันอนุสรณ์ทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ หรือ ANZAC Day

“วัน ANZAC เป็นวันที่ระลึกประจำชาติในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งระลึกถึงชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทุกคนที่รับใช้และเสียชีวิตในทุกสงครามความขัดแย้งและปฏิบัติการรักษาสันติภาพ โดยกำหนดในวันที่ 25 เมษายนของทุกปีเพื่อเป็นเกียรติแก่สมาชิกกองทัพน้อยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์”

“แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก จึงมีการตัดสินใจให้ยกเลิกพิธีกรรมในปีนี้ ทั้งที่ช่องเขาขาดและที่สุสานทหารพันธมิตร (ดอนรัก) กาญจนบุรี”

“สถานทูตออสเตรเลียขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ให้การสนับสนุนพิธีการรำลึกนี้ เราหวังว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 จะได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว และสามารถจัดงานนี้ได้ในเดือนเมษายนปีหน้า”