เทศมองไทย : หมอกควันกับโควิด ภัยคุกคามขนาบอาเซียน

ผมลืมไปแล้วว่า ระหว่างมิถุนายนถึงตุลาคมทุกปีในไทยและประเทศในย่านใกล้เคียงในกลุ่มอาเซียนด้วยกันทั้งหลายคือ “ฤดูกาลแห่งหมอกควัน” ที่ก่ออันตรายแบบตายผ่อนส่งให้กับผู้คนไม่น้อยในแต่ละปี ถ้าไม่ได้เจอะเจอบทวิเคราะห์ของไมเคิล เทย์เลอร์ แห่งธอมป์สัน รอยเตอร์ส ฟาวเดชั่น เมื่อ 22 เมษายน

ข้อเขียนที่เตือนภัยเอาไว้ว่า ระวังให้ดี ไทยกับประเทศในย่านนี้อาจเผชิญหน้ากับศึกสองด้าน คือมีหมอกควันพิษจากอินโดนีเซียแผ่คลุมเข้ามาในขณะที่กำลังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่มือเป็นระวิงนั่นเอง

หลังสุด คือเมื่อปี 2019 ไมเคิล เทย์เลอร์ บอกว่า หมอกควันพิษจากอินโดนีเซียเล่นงานเอาสนามบินหลายแห่งต้องปิดทำการบิน โรงเรียนจำนวนมากต้องปิดการเรียนการสอน หลังจากพื้นที่ราว 16,000 ตารางกิโลเมตรที่อินโดนีเซียเผชิญกับไฟป่า

ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับอินโดนีเซียมากถึง 5,200 ล้านดอลลาร์

 

นั่นเป็นข้อมูลสถิติจากธนาคารโลก ที่บอกด้วยว่า มีรายงานผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจจากการสูดดมเอาหมอกควันที่ว่านี้เข้าไปมากกว่า 900,000 คนในปีที่แล้วเพียงปีเดียว

เงื่อนปมของปัญหาในเวลานี้ก็คือ อินโดนีเซียก็เหมือนกับเพื่อนบ้านละแวกเดียวกันอีกหลายประเทศ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาด แต่ที่ต่างออกไปก็คือ รัฐบาลอินโดนีเซียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งจากความล่าช้าในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาด และความขาดแคลนการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งจัดอยู่ในระดับต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

เจ้าหน้าที่ในจาการ์ตาเองประเมินเอาไว้ว่า พอถึงเดือนมิถุนายน วันเริ่มต้นของฤดูกาลหมอกควัน จำนวนผู้ติดเชื้อในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นถึงระดับพีกสุดของการระบาดพอดี

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมจะเพิ่มเป็น 100,000 คนโดยประมาณ

 

เฮเลนา วาร์กคีย์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมาลายาในกัวลาลัมเปอร์ เตือนเอาไว้ว่า

“ที่น่าห่วงก็คือ การรักษาระยะห่างซึ่งกันและกัน และการล็อกดาวน์ของอินโดนีเซีย อาจไม่สามารถบังคับใช้และตรวจสอบเฝ้าระวังได้อย่างเข้มงวดในพื้นที่ชนบท”

ซึ่งจะส่งผลให้อินโดนีเซียต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำหน้าที่เพื่อการนี้เยอะมาก แล้วทำให้การตรวจตราการลักลอบเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกที่ทำง่าย แต่ผิดกฎหมายและอันตราย ไม่มีคนตรวจตราดูแล

มหกรรมเผาป่าจะเกิดขึ้นตามมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นต้นเหตุให้เกิดความร้าวฉานทางการทูตระหว่างมาเลเซียกับอินโดนีเซียมาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

วาร์กคีย์ศึกษาเรื่องหมอกควันจากอินโดนีเซียมานานกว่า 15 ปี ชี้ให้เห็นว่า ถึงจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ไฟป่าก็ยังเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ป่าทางเหนือของไทยในจังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนที่ผ่านมา

“ถ้าเรามองเหตุการณ์ในไทยที่ผ่านไปแล้วเป็นเหมือนอุทาหรณ์ ก็แสดงว่าโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบใดๆ กับการเผาป่าหรือลดปัญหาหมอกควัน”

นั่นบอกเป็นนัยว่า ฤดูกาลเผาป่าที่นั่นจะยังเกิดขึ้นและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นอีกต่อไปในปีนี้

 

ข้อเท็จจริงก็คือ แม้ว่าจะมีมาตรการล็อกดาวน์ เลิกเทศกาลรอมฎอน ในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มลดลง ราคาน้ำมันปาล์มลดลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับราคาเดือนมกราคม

แต่สวนปาล์มทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย สองประเทศผู้เพาะปลูกที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังคงดำเนินกิจกรรมของตนอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด

รัสมัดยา มาฮารุดดิน แห่งกรีนพีซอินโดนีเซีย ตราบใดที่อุตสาหกรรมยังคงยึดถือผลประโยชน์ในการผลิตของตนเป็นที่ตั้ง ตราบนั้นก็จะยังคงมีหมอกควันพิษต่อไป

ถ้าไม่แย่เท่า ก็อาจเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา เธอย้ำ

ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียได้โยกเอางบประมาณจากหลายส่วนกลับเข้ามาใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาด กระทรวงสิ่งแวดล้อมถูกหั่นไป 17 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นอินโดนีเซียก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ราวๆ 9 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งจะส่งผลใหญ่หลวงกับการจัดการกับปัญหาไฟป่าในปีนี้อย่างหนักแน่นอน

 

มาฮารุดดินบอกว่า ยังกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อปัญหาสาธารณสุขให้กับหลายชาติในภูมิภาคนี้ยังไม่มากพอ ต้องสร้างหมอกควันที่ก่อให้เกิดผู้ป่วยเป็นเรือนล้านขึ้นมาอีกอย่างยังไงยังงั้น

ริโก คูร์เนียวาน ผู้อำนวยการเวทีเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งอินโดนีเซีย บอกว่า

ระเบิดเวลาลูกนี้จะนำไปสู่ไฟป่าครั้งใหญ่ที่จะสร้างหมอกควันมหาศาลจากป่าพรุในอินโดนีเซียครับ