คนมองหนัง : 5 เกร็ดน่ารู้ (นอกจากเรื่องทีมฟุตบอล) เกี่ยวกับเมืองเลสเตอร์

คนมองหนัง

“Semper Eadem” คือคำขวัญประจำเมือง “เลสเตอร์” ซึ่งมีความหมายว่า “คงเดิมเสมอ”

ทว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับมีหลายสิ่งหลายอย่างบังเกิดขึ้นกับเมืองแห่งนี้ และเหมือนจะนำไปสู่อะไรต่อมิอะไรที่ “ดีขึ้น” มากกว่า “แย่ลง”

ทั้งการขุดค้นพบร่างของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 และล่าสุด ก็ได้แก่การผงาดขึ้นคว้าแชมป์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้

ซึ่งอาจส่งผลให้เมืองเลสเตอร์ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไป

หลังชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของทีมสุนัขจิ้งจอก “โคลิน ไฮด์” นักวิจัยผู้เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์บอกเล่าในย่าน “อีสต์มิดแลนด์ส” ของอังกฤษ และเจ้าหน้าที่ชุมชนสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ได้เขียนบทความรวบรวมเกร็ดความรู้ 5 สิ่ง เกี่ยวกับเมืองเลสเตอร์

เพื่อคนอ่านหลายๆ ราย จะได้รู้จักเมือง “กลางๆ” แห่งนี้ ให้มากไปกว่าเรื่องทีมฟุตบอล

 

โปรดเรียกเมืองนี้ว่า “เลสเตอร์/เลสตาห์”

ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าชื่อ “Leicester” นั้นมีที่มาจากไหน? แต่สันนิษฐานกันว่าชื่อนี้น่าจะมาจากคำโบราณ ซึ่งใช้เรียกขานแม่น้ำในท้องถิ่น

ที่น่าสนใจอีกประการ คือ คนอังกฤษเรียกชื่อเมืองนี้ว่า “เลสเตอร์” ไม่ใช่ “ไลเชสเตอร์” หรือ “ไลเซสเตอร์” ตามภาษาเขียน

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากออกเสียงชื่อเมือง “Leicester” ให้เหมือนคนท้องถิ่นจริงๆ คุณอาจต้องเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “เลสตาห์”

ดังที่สมาชิกวงดนตรีร็อกระดับอินเตอร์อย่าง “Kasabian” ซึ่งมีพื้นเพอยู่ในเมืองเลสเตอร์ ได้สวมเสื้อยืดสกรีนข้อความว่า “Les-Tah” ขึ้นแสดงคอนเสิร์ต

ปัจจุบัน เสื้อยืดรูปแบบดังกล่าวยังถูกวางจำหน่ายที่ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวประจำเมือง เพื่อใช้เป็นตัวอย่างในการแสดงให้เห็นว่า คนท้องถิ่นออกเสียงเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่าอย่างไร

การออกเสียงของชาวเลสเตอร์ ตลอดจนผู้คนในเมืองอื่นๆ แถบภูมิภาคอีสต์มิดแลนด์ส อาจฟังดูแปลกแปร่งหู ทว่า สำเนียงการพูดของพวกเขากลับถูกยอมรับให้เป็น “ภาษาอังกฤษสำเนียงมาตรฐาน”

เพราะย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 14 ภาวะฟูเฟื่องทางเศรษฐกิจจากการเพาะปลูกในพื้นที่บริเวณนี้ ได้ชักนำให้พ่อค้าชาวอีสต์มิดแลนด์สเดินทางลงไปขาย/กระจายสินค้าที่กรุงลอนดอน

นอกจากสินค้าการเกษตรแล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งพ่อค้าวาณิชเหล่านั้นนำติดตัวไปด้วย ก็คือ “สำเนียงการพูด”

และสำเนียงการพูดซึ่งเป็น “สะพานกลาง” ระหว่างภาษาของ “คนเหนือ” กับ “คนใต้” ก็ค่อยๆ ส่งอิทธิพลต่อ “คนเมืองหลวง” ในท้ายที่สุด

 

นี่คือเมืองที่อยู่ “ตอนกลาง” ของอังกฤษอย่างแท้จริง

เมืองเลสเตอร์ตั้งอยู่ตรง “กึ่งกลาง” ของจังหวัดเลสเตอร์เชอร์ ซึ่งอยู่ใน “ตอนกลาง” ของประเทศอังกฤษอีกที

โดยต้องขึ้นเหนือมาจากกรุงลอนดอนราว 100 ไมล์

ด้วยชัยภูมิเช่นนี้ เลสเตอร์จึงเป็น “ศูนย์กลาง” ของเส้นทางคมนาคมนานาชนิด คือมีมอเตอร์เวย์และทางรถไฟวิ่งผ่าน มีสนามบิน รวมทั้งมีคลองเข้าถึง

ไม่ใช่แค่ในเรื่องสภาพภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่หากพิจารณาถึงจำนวนประชากร เมืองเลสเตอร์ซึ่งมีประชากรราว 3.3 แสนคน ก็จัดเป็นเมือง “ขนาดกลางๆ”

ที่แม้จะไม่ใหญ่โตเท่าแมนเชสเตอร์ ซึ่งมีประชากรราว 2.5 ล้านคน หรือเบอร์มิงแฮม ซึ่งมีประชากรราว 1.1 ล้านคน ทว่า ก็มิอาจถูกนับเป็นเพียงเมืองขนาดเล็กได้

 

เมืองของกลุ่มประชากรอันหลากหลาย

เลสเตอร์นับเป็นเมืองหนึ่งของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีโครงสร้างทางประชากรอันหลากหลายมากที่สุด

ในการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ ค.ศ.2011 เมืองเลสเตอร์มีประชากรเป็น “ชาวอังกฤษผิวขาว” ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีประชากรถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งระบุว่าตนเองเป็น “ชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย”

ในแง่การนับถือศาสนา เมืองเลสเตอร์มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์ 32 เปอร์เซ็นต์, ไม่นับถือศาสนาใดๆ 23 เปอร์เซ็นต์, เป็นมุสลิม 19 เปอร์เซ็นต์ และนับถือศาสนาฮินดู 15 เปอร์เซ็นต์

ในทางประวัติศาสตร์ มีผู้อพยพจากต่างแดนเดินทางเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองขนาดกลางแห่งนี้อยู่สองระลอก

ระลอกแรก คือ การเดินทางเข้ามาของกลุ่มผู้อพยพชาวยูกันดาจากแอฟริกาและชาวเอเชียในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งส่งผลให้สภาเมืองเลสเตอร์ต้องออกนโยบายปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น “สังคมพหุวัฒนธรรม”

ก่อนที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะมีผู้อพยพจากทวีปแอฟริกาและสหภาพยุโรปเดินทางมายังเมืองแห่งนี้อีกหนึ่งระลอก

ผลการสำรวจที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง ระบุว่าผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวน 204 ราย บนถนนนาร์โบโรห์ ในเมืองเลสเตอร์นั้น มีภูมิลำเนามาจากประเทศต่างๆ มาก (และแตกต่างกัน) ถึง 22 ประเทศ

กระทั่งมีการกล่าวว่า ถนนสายนี้ ถือเป็นถนนสายที่มีความหลากหลายทางประชากรมากที่สุดในสหราชอาณาจักร

 

สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในเมืองเลสเตอร์

สภาพเศรษฐกิจของเมืองเลสเตอร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาลในช่วง 5 ทศวรรษหลัง

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมของเมืองนี้วางฐานอยู่บนการผลิตเสื้อผ้า, รองเท้า และวิศวกรรม

ณ วันวาน เลสเตอร์เคยถูกขนานนามให้เป็น “เมืองที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่ง” ของทวีปยุโรป พร้อมๆ กับการถือกำเนิดขึ้นของคำกล่าวเชิงโอ้อวดที่ว่า “โลกทั้งใบสวมใส่เสื้อผ้าซึ่งผลิตจากเลสเตอร์”

อย่างไรก็ตาม พอล่วงเข้าสู่ช่วง 25 ปีสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมหลักในเลสเตอร์ล้วนประสบภาวะวิกฤตจากผลกระทบของระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์

เมื่อสินค้านำเข้าหลายประเภทมีราคาถูกลง สินค้าจากเมืองเลสเตอร์ ซึ่งถูกผลิตขึ้นภายในประเทศ ก็เริ่มไม่เป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยมของผู้บริโภค และค่อยๆ ล้มหายตายจากไป จนกลายเป็นเพียงความทรงจำ

แน่นอนว่าเมืองเลสเตอร์ในปัจจุบันนั้นยากจนลงกว่าแต่ก่อน ทว่า อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่น, อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหารของเมืองนี้ ก็ยังมีอัตราการจ้างงานที่สูงอยู่

ทั้งยังมีแนวโน้มที่เมืองแห่งนี้จะมุ่งหน้าพัฒนาไปสู่การเป็น “ศูนย์กลาง” ของการประกอบธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูง

เห็นได้จากแผนการก่อสร้าง “อุทยานอวกาศแห่งชาติ” รอบๆ “ศูนย์อวกาศแห่งชาติ” ที่ตั้งอยู่ในเมืองเลสเตอร์

 

เลสเตอร์กับราชวงศ์อังกฤษ

ค.ศ.1068 พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 หรือ “วิลเลียมผู้พิชิต” ทรงก่อสร้างปราสาทแห่งหนึ่งขึ้นที่เมืองเลสเตอร์

ใน ค.ศ.1483 พระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ได้เสด็จฯ มาประทับที่ปราสาทแห่งนี้

ต่อมาใน ค.ศ.1485 พระองค์ทรงกลับมาที่นี่อีกครั้ง ก่อนจะเสด็จสวรรคต เพราะตกเป็นฝ่ายปราชัยในการรบที่บอสเวิร์ธ

กว่า 500 ปีหลังจากนั้น ร่างของพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 จึงได้ถูกขุดค้นพบภายใต้ลานจอดรถใจกลางเมือง ใน ค.ศ.2012

ในยุครุ่งเรืองสุดขีดของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย สมาชิกราชวงศ์อังกฤษมักเสด็จฯ มาเยี่ยมชมโรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เมืองเลสเตอร์

ล่าสุด เมื่อสี่ปีที่แล้ว เลสเตอร์ก็ถูกคัดเลือกให้เป็น “จุดหมายแรก” ของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนพสกนิกรทั่วสหราชอาณาจักร โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เนื่องในวโรกาสพัชราภิเษก


แปลเก็บความและเรียบเรียงจากบทความ
“Five things you need to know about Leicester” โดย Colin Hyde เว็บไซต์ http://theconversation.com/five-things-you-need-to-know-about-leicester-58836