นงนุช สิงหเดชะ : “สถานการณ์” เกาหลีใต้ สถานการณ์ “คล้ายคลึงไทย”

ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ มีคำตัดสินยืนตามมติของรัฐสภาที่ให้ถอดถอน นางสาวปาร์ก กึน เฮ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองของเกาหลีใต้ คล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างไม่ได้นัดหมาย

นั่นก็คือมีการพูดถึงความแตกแยกของคนในประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาปรองดองกันเพื่อเดินหน้าประเทศ

บ้างก็เรียกร้องให้เคารพคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่างกันนิดเดียวตรงที่ว่า ประเทศไทยนั้นหลังจากแตกแยกกันมานับสิบปีจนเหนื่อยอ่อน บัดนี้พักสงบศึกและกำลังเริ่มกระบวนการปรองดอง (ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่)

แต่สำหรับเกาหลีใต้นั้น ความแตกแยกเพิ่งเริ่มต้นและยังไม่แน่ใจว่าจะยุติลงได้โดยเร็วหรือไม่

ดังนั้น เท่ากับว่าเกาหลีใต้กำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่

AFP PHOTO / KIM HONG-JI

ความแตกแยกของประชาชนเกิดขึ้นแบบเดียวกับที่เกิดในไทยคือมีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน นางปาร์ก กึน เฮ

โดยในครั้งแรกที่รัฐสภามีมติถอดถอนไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรง

แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสิน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นที่สิ้นสุด ปิดประตูการดำรงตำแหน่งของนางสาวปาร์ก ก็ทำให้เกิดการชุมนุมประจันหน้ากันระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุน

จนตำรวจต้องนำกำลังออกมาคั่นมวลชนสองฝ่าย

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้เสียชีวิต (ฝ่ายสนับสนุนปาร์ก) 2 ราย เพราะไปปีนรถบัสของตำรวจแล้วพลัดตกลงมา

ปาร์ก กึน เฮ ถูกถอดถอนด้วยข้อหารู้เห็นเป็นใจการคอร์รัปชั่น ปล่อยให้เพื่อนสนิทคือ นางชอย ซุน ชิล ใช้ความเป็นเพื่อนประธานาธิบดีไปรีดไถเงินจากบริษัทยักษ์ใหญ่ (แชโบล) คือซัมซุง ราว 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แถมยังปล่อยให้นางชอยที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลเข้าถึงข้อมูลความลับของประเทศและแก้ไขสุนทรพจน์ของปาร์ก อีกทั้งยังแทรกแซงคุกคามสื่อและเหล่าศิลปินที่วิจารณ์เธอ

พลันที่ข่าวถูกปูดออกมา ได้สร้างความโกรธแค้นให้ชาวเกาหลีใต้ ถึงขั้นคนเรือนล้านออกมาชุมนุมต่อเนื่องนานนับเดือนเรียกร้องให้ลาออก

แต่เธอไม่ออก ทำให้ในที่สุดต้องใช้กระบวนการรัฐสภาจัดการ

รัฐสภามีมติถอดถอนเธอ (โดยที่สมาชิกพรรคของนางสาวปาร์กกระโดดเข้าร่วมกับฝ่ายค้านด้วย) เพื่อลดความตึงเครียดของการเมืองบนท้องถนน

แต่ม็อบฝ่ายต่อต้านก็นับว่าอึด เพราะยังชุมนุมเป็นระยะเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนตามรัฐสภา จนมีผลออกมาอย่างที่เห็น

การชุมนุมยืดเยื้อของม็อบต่อต้านนางสาวปาร์ก คือการแสดงออกอีกครั้งหนึ่งที่คนเกาหลีใต้มีความมุ่งมั่นแรงกล้าที่จะขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งเรื้อรังหนักหน่วงมายาวนาน เนื่องจากความสัมพันธ์ฝังแน่นระหว่างธุรกิจยักษ์ใหญ่ (แชโบล) และนักการเมือง-ข้าราชการ ที่มักแลกผลประโยชน์กันเสมอ

และคนเกาหลีใต้นั้นก็รู้สึกไม่พอใจพวกแชโบล (ซัมซุง ล็อตเต้ ฮุนได แอลจี ฯลฯ) มานานแล้วเพราะรู้สึกว่าบริษัทเหล่านี้มีอภิสิทธิ์มากมาย เครือข่ายธุรกิจกว้างขวางเหมือนหนวดปลาหมึกยักษ์

การกระทำของนางชอยและนางสาวปาร์กจึงสร้างความผิดหวังและโกรธแค้นอย่างแรงให้กับคนเกาหลีใต้เนื่องจากรู้สึกว่าถูกทรยศ

การให้ของขวัญหรือสินน้ำใจกลายเป็นวัฒนธรรมฝังแน่น และเป็นเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการให้ของขวัญธรรมดากับการจ่ายสินบนเพื่อแลกประโยชน์ จนทำให้ต้องมีความพยายามจะกำจัดปัญหาเหล่านี้

โดยปลายปีที่แล้วได้ออกกฎหมายกำหนดมูลค่าของขวัญหรือค่าเลี้ยงอาหารข้าราชการออกมา ซึ่งระบุว่าห้ามประชาชนซื้ออาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐเกิน 30,000 วอนหรือประมาณ 27 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 บาท) ห้ามมีกุ้งล็อบสเตอร์ เบียร์หรือเหล้าราคาแพง ห้ามให้ของขวัญเกิน 45 ดอลลาร์สหรัฐ ห้ามบริจาคเกิน 90 ดอลลาร์

ใครฝ่าฝืนอาจถูกจำคุก 3 ปี

AFP PHOTO / JUNG Yeon-Je

ชาวเกาหลีใต้ร้อยละ 77 เห็นด้วยกับการถอดถอนนางสาวปาร์ก และไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังเรียกร้องให้นำเธอมาลงโทษให้ได้ (ติดคุก) ซึ่งก็สะท้อนว่าอารมณ์ของคนเกาหลีใต้ที่อยากปราบการโกงนี้รุนแรงและไม่ประนีประนอมเลย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สื่อเกาหลีใต้วิพากษ์วิจารณ์เธอก็คือการที่เธอไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล หนังสือพิมพ์ เดอะ โคเรียไทม์ส เขียนบทความระบุว่า “ประธานาธิบดีที่ถูกขับออกจากตำแหน่ง ยังไม่แสดงความรับผิดชอบจนถึงนาทีสุดท้าย”

บทความบรรยายว่า ทั้งที่วิกฤตของประเทศนั้นเกิดจากการคอร์รัปชั่นของเธอ แต่เธอกลับพูดว่าจะไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ทำตัวไม่สมกับภาวะผู้นำ แบบเดียวกับผู้สนับสนุนเธอที่ออกมาประท้วงโดยใช้ความรุนแรง

และอันที่จริงความไม่รับผิดชอบของเธอก็แสดงออกตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะตอนแรกพูดว่ายินดีจะให้ความร่วมมือในการสอบสวน แต่นับจนถึงวันที่ถูกถอดจากตำแหน่งเธอก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้

นอกจากนี้ก็ไม่เคยปรามผู้สนับสนุนเธอให้หยุดก่อความรุนแรง

AFP PHOTO / SEO YOUNG-SOO

ปาร์ก กึน เฮ ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ มาอย่างสง่างาม แต่หลุดจากตำแหน่งอย่างไร้เกียรติ ประเด็นที่น่าจับตาหลังจากนี้ก็คือ กระบวนการนำเธอมาลงโทษเพราะเมื่อหลุดจากตำแหน่งเธอก็หมดอภิสิทธิ์ความคุ้มครองใดๆ จากการถูกดำเนินคดีอาญา

คงต้องย้ำอีกว่าสถานการณ์เกาหลีใต้กับไทยช่างประจวบเหมาะกัน อย่างน้อยอดีตผู้นำหญิงทั้งสองประเทศก็อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีเหมือนกัน โดนคดีคล้ายๆ กันคือเกี่ยวพันกับปัญหาทุจริต

AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN

สถานการณ์เกาหลีใต้ อาจทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่อาจนำเรื่องเลือกตั้ง-ประชาธิปไตยมาอยู่เหนือปัญหาทุจริต ไม่อาจอ้างเอาความเป็นเพศหญิง ไม่อาจอ้างเรื่องถูกกลั่นแกล้งรังแกป้ายสีทางการเมืองเพื่อปกป้องอดีตผู้นำที่พวกเขาสนับสนุน

อีกอย่างหนึ่งคนเกาหลีใต้ที่เคยวิจารณ์และตำหนิม็อบคนไทยที่ออกมาชุมนุมขับไล่ผู้นำทุจริตที่มาจากการเลือกตั้ง คงจะได้รู้ซึ้งว่าคนคนหนึ่งสามารถสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนได้อย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะเมื่อผู้นำนั้นไม่ยอมรับผิด ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล และคงจะได้รู้ซึ้งขึ้นไปอีกว่า ความแตกแยกเกิดขึ้นเพราะอะไร อย่างไร

Tens of thousands of protesters hold candles during an anti-government rally in central Seoul on November 19, 2016 aimed at forcing South Korean President Park Geun-Hye to resign over a corruption scandal./ AFP PHOTO / POOL / JUNG YEON-JE

สักวันหนึ่งหากเกาหลีใต้เกิดความแตกแยกจนมีการเขียนงานศิลปะออกมาเพื่อเป็นอาวุธในการประท้วง แล้วงานศิลปะนั้นถูกคัดเลือกให้มาจัดแสดงในเมืองไทย ก็หวังว่าคงไม่มีคนเกาหลีบางกลุ่มส่งหนังสือตามมาประท้วงงานศิลปะนั้นโดยหาว่าไม่สนับสนุนประชาธิปไตย (เพราะขับไล่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง) แบบที่ผลงานศิลปะของศิลปินไทยรายหนึ่งถูกกลุ่มคนไทยหยิบมือหนึ่งตามไปราวีถึงเกาหลีใต้บีบบังคับให้ผู้จัดแสดงถอดออก

เพียงเพราะศิลปินคนนั้นอยู่คนละสีคนละฝ่ายกับพวกเขา