E-DUANG : ปะทะทาง”ความคิด”ผ่าน”บรรษัทน้ำมัน”

การปรากฏขึ้นของ”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”เด่นชัดยิ่งว่าเป็นเรื่องใน ทาง “เศรษฐกิจ”

แต่ก็เป็น “เงาสะท้อน” ในทาง “ความคิด”

และก็เป็น “เงาสะท้อน” ในทาง “วัฒนธรรม”และ”การเมือง”อย่างแนบแน่น

เป็นการปะทะระหว่าง 2 ความคิดในทาง”เศรษฐกิจ”

แม้ว่าพื้นฐานของรูปแห่ง”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”มาจากความคิดในเรื่องการลงทุนและสัมพันธ์กับ”ทุน”

แต่หลักคิดต่อ “ระบบทุน” แตกต่างกัน

 

1 คือ มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นตัวแทน 1 คือมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นตัวแทน

เห็นฐานันดร”ม.ร.ว.”เหมือนกับจะเป็น “ทุนเก่า”

แต่เมื่อเห็น “โครงสร้าง”และความต้องการลึกๆอันสัมพันธ์กับกลุ่มคปพ.แล้วก็กลับ”ตาลปัตร”

ที่มากับ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ต่างหากคือ”ทุนล้าหลัง”

เพราะเป็นการมาพร้อมกับโครงครอบในแบบ”ทุนนิยมแห่งรัฐ” ซึ่งตกค้างมาจากยุคของ”เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” ในยุคแห่ง”รัฐทหาร” เพราะมาพร้อมกับ “สามทหาร”

ตรงกันข้าม การออกมา “คัดค้าน” การยอมรับไม่ได้โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ต่างหากที่เป็นตัวแทน “ทุนสมัยใหม่”

อย่างน้อยก็อาจเรียกได้ว่า “นีโอ-ลิเบอรัล”

นั่นก็คือ ยอมรับในโครงสร้าง”เสรี”แห่งทุนของ”เสรีนิยมใหม่”

มิได้ย้อนกลับไปในแบบ “เกาหลีเหนือ”

นี่คือฐาน”ความคิด”ที่แตกต่างกัน

 

พลันที่ภาพแห่ง”สามทหาร“ปรากฏขึ้นพร้อมกับพิมพ์เขียว”บรรษัท น้ำมันแห่งชาติ”

ภาพของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เด่นชัด ตามมาด้วยภาพของ จอมพล ส.ธนะรัชต์

ตามมาด้วยภาพของ จอมพล ถ.กิตติขจร

สอดรับพอดีกับภาพ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์

และแย้งขัดอย่างรุนแรงกับภาพ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มาจากสำนัก”เสรีนิยม”

นี่คือการปะทะในทาง “ความคิด” ในทาง”วัฒนธรรม”

เมื่อมีการยัดเยียด”บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”มากับ”สามทหาร”