มอง “โฮมสคูล” แล้วย้อนดูการศึกษาไทย เมื่อโรงเรียนไม่ใช่ความหวัง! ?

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยเรามีเครือข่ายการศึกษาแบบ “โฮมสคูล” หรือการทำ “บ้านเรียน” ที่กว้างขวางมากขึ้นกว่า 500 ครอบครัวแล้ว

มีทั้งครอบครัวที่สอนลูกหลานกันเองที่บ้าน หรือจ้างครูมาสอนที่บ้าน แต่ยังผูกโยงกับระบบของโรงเรียนอยู่บ้าง

กับครอบครัวที่ไม่ผูกกับโรงเรียน แต่มุ่งเน้นประยุกต์รูปแบบการสอนลูกหลานให้เรียนรู้จากสิ่งที่พวกเขาชอบและสนใจใฝ่รู้ ผ่านกิจกรรมต่างๆ และทำผลงานประเมินส่งเขตพื้นที่การศึกษา

วิธีหลักๆ ที่ครอบครัวโฮมสคูลส่วนใหญ่ใช้ คือให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้จากเรื่องที่ “เด็กชอบ” เช่น ลูกชอบทำอาหาร พ่อแม่ก็อาจจะบูรณาการทั้งเรื่องของภาษา การคำนวณ ทักษะที่ควรรู้ต่างๆ รวมทั้งมารยาททางสังคม เพื่อประยุกต์เข้ากับการเรียนรู้เรื่องอาหาร

โดยที่ลูกไม่ต้องนั่งท่องจำ ทำข้อสอบหลายๆ วิชาอย่างในโรงเรียนทั่วๆ ไป แต่ใช้ผลงานและดูพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กมาเป็น “เครื่องวัดผล” ทดแทน

ผศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โฮมสคูลมีเครือข่ายขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของไทยแล้ว

จากเมื่อก่อนเราจะเห็นเพียง 50-70 ครอบครัวทั่วประเทศ และกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง แต่ขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า 500 ครอบครัวทั่วประเทศ และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีก

ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่มักมองโฮมสคูลว่าเป็นกลุ่มที่มีความแตกต่าง บ้างก็เรียกว่า “พวกอินดี้” และมักถูกตั้งคำถามและมีข้อสงสัยมากมาย

ที่มาของกรอบความคิดเหล่านี้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “ค่านิยมสังคมไทย” ที่ยังยึดและผูกติดกับ “ระบบ” ค่านิยมที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า “การเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยคือคำตอบที่ดีที่สุด” จึงเทน้ำหนักและทุ่มความสำคัญไปกับ “การสอบแข่งขัน”

แต่ระบบเหล่านี้กำลัง “ทำลาย” ความสนใจใคร่รู้ของเด็กไปอย่างไม่รู้ตัว เมื่อเด็กต้องมุ่งทำคะแนนสอบ เพื่อนำตัวเองไปสู่เส้นชัยให้ได้

จนเป็นที่มาของการที่เด็กไม่รู้ความชอบ-ความสนใจของตนเองจริงๆ นำไปสู่ปัญหาการ “ซิ่ว” เปลี่ยนคณะ การเรียนตามเพื่อน ตามการบังคับจากครอบครัว ไม่มีเป้าหมาย

ครอบครัวโฮมสคูลจึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานในบ้านได้เรียนรู้ตามความสนใจใคร่รู้-ความถนัดเฉพาะตน ให้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มากกว่าจะส่งลูกหลานเข้าไปในระบบการแข่งขันภายในโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีการเปรียบเทียบกันในประเด็นศักยภาพของการจัดการศึกษา ระหว่าง “บ้าน” กับ “โรงเรียน”

ซึ่ง รศ.ดร.วีระเทพ จะมาสนทนาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงภาพรวมของระบบการศึกษาไทย

 

: การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยไม่ควรใช้เป็นเป้าหมายหลัก (ในการศึกษา)?

ค่านิยมเรื่องการศึกษาของคนไทย กำลังสวนทางกับสิ่งที่นิยามใน พ.ร.บ.การศึกษา ซึ่งหัวใจสำคัญคือ การศึกษาต้องมุ่งพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งกายและจิตใจ

แต่ปัจจุบันกลับมุ่งการแข่งขัน การทดสอบ และประเมินวัดผลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนมีปัญหา เพราะระบบการศึกษาของไทยดันไปเน้นเรื่องระบบการทดสอบ จนเกิดการแข่งขันไปในตัวจำนวนมาก

สังเกตเห็นได้จากเวลาเรานั่งรถผ่านโรงเรียนต่างๆ แต่ละโรงเรียนจะขึ้นป้ายประกาศความสำเร็จว่าได้ส่งเด็กไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือป้ายการสอบติดของเด็กในสังกัดที่ได้คะแนนสูงๆ ตามมหาวิทยาลัยชื่อดัง ทำให้การศึกษาในระบบล้วนเชื่อมโยงเข้าไปสู่การแข่งขันหรือเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

: กระทรวงศึกษาธิการยังมีปัญหาอยู่?

ผู้มีอำนาจตามลำดับชั้นในกระทรวง กลับเป็นผู้ที่ “ให้นโยบายเป็นรายวัน” ทุกหน่วยจึงพุ่งมาโฟกัสกับโรงเรียน สุดท้ายพุ่งเป้ามาที่ “ครู” จนสร้างภาระอื่นนอกจากการเรียนการสอน ทำให้ครูไม่มีเวลาพัฒนาการเรียนรู้ในห้องเรียน

ในเมื่อทุกอย่างมาลงกับโรงเรียน รวมทั้งการประเมินมาตรฐานการเตรียมผลงาน นี่จึงเป็นปัญหาที่สะสมมานานมาก และไม่ว่าครูผู้สอนและโรงเรียนจะผ่านการอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะจัดการเรียนรู้ที่ดีเลิศมากเพียงใด

แต่ด้วยความที่ต้องผูกกับ “ระบบ” เราจึงยังเห็นห้องเรียนคงสภาพเหมือนยุคเดิม พอเด็กไม่ฟังสิ่งที่ครูสอน เราก็ยังคงเห็นภาพของ “การตัดตอน” ด้วยการสั่งเสียงดังให้เด็กเงียบ นี่เป็นเพราะระบบมีปัญหา ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของนักเรียน

แทนที่พวกเขาจะได้ค้นพบตัวตนว่าสนใจอะไร มีความสามารถระดับไหน จะไปต่ออย่างไรดี จุดนี้คือสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับต้อง “ทบทวนตัวเอง”

: ความแตกต่างระหว่าง “เด็กโรงเรียน” กับ “เด็กบ้านเรียน”?

แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดวัดประสิทธิภาพเด็กโฮมสคูลกับเด็กในระบบในเชิงเปรียบเทียบ แต่ผลวิจัยเฉพาะตัวโฮมสคูลชี้ชัดว่า การศึกษารูปแบบนี้ให้คุณค่าเรื่องของความเป็นมนุษย์ ที่มีความหลากหลาย โดยการเรียนรู้จะเป็นไปตามศักยภาพของผู้เรียน

เมื่อพิจารณางานวิจัยเฉพาะเกี่ยวกับโฮมสคูล เราจะเห็นว่าเด็กจะรู้ตัวเองว่าชอบอะไรหรืออยากเป็นอะไร มากกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียน ที่ยังไม่ทราบเป้าหมายชีวิตหลังจากนั้น งานวิจัยจึงพบว่าโฮมสคูลมีทิศทางชัดเจนของเด็กที่รู้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไรในอนาคตมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวหนึ่ง ที่เด็กชอบและสนใจการเรียนรู้จากการสวดมนต์ ต่อมาเลยสนใจชอบด้านภาษา แล้วก็มุ่งเรียนต่อด้านนี้ผ่านการอ่านวรรณคดีรามเกียรติ์ ก่อนจะหันไปเอาดีทางด้านโขน

นี่เป็นการศึกษาต่อยอดไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้จบ ซึ่งจุดนี้ถือว่าน่าสนใจสำหรับโฮมสคูลในประเทศไทย

: อุปสรรคหลัก คือ หน่วยงานราชการไทย?

ปัญหาส่วนใหญ่ของโฮมสคูลมาจากทัศนคติและความไม่พร้อมของหน่วยงานราชการไทย ที่ยังชินและให้ความสำคัญกับระบบโรงเรียนอยู่มาก จนทำให้การดำเนินการของเครือข่ายโฮมสคูลไม่ราบรื่น หน่วยงานราชการไทยต้องใจกว้างกว่านี้

เคยมีวิทยานิพนธ์ชิ้นหนึ่งที่ตีแผ่ปัญหาความพร้อมในการจัดการศึกษาของครอบครัว “บ้านเรียน” ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีปัญหาอยู่หลายจุด และต้องอาศัยการปรับตัวอยู่ตลอด จึงต้องพึ่งพาความร่วมมือจากเครือข่ายโฮมสคูล ให้เข้าไปช่วยพูดคุยกับหน่วยงานราชการในเขตพื้นที่ โดยงัดข้อกฎหมายไปใช้

มีการฟ้องศาลปกครองหลายครั้ง ในหลายกรณี อาทิ หน่วยงานราชการไม่ให้ใบจบการศึกษา ไม่ยอมประเมินต่างๆ โดยอ้างว่าจะยึดแนวทางกลุ่ม 8 สาระการเรียนรู้แบบโรงเรียน

ผลปรากฏว่าครอบครัวและเครือข่ายก็ชนะคดีทุกครั้งไป ดังนั้น เราจะให้โฮมสคูลปรับตัวอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ ทางเขตการศึกษาพื้นที่และบุคลากรในกระทรวงศึกษาธิการต้องปรับตัวด้วย

: อะไรคือข้อเรียกร้องของกลุ่มบ้านเรียน?

สำหรับข้อเสนอ-ความต้องการจากครอบครัว “บ้านเรียน” ส่วนใหญ่จะสะท้อนความต้องการว่าขอให้มีการปลดล็อควิธีการและหลักสูตรการจัดการศึกษาที่เคร่งครัดตายตัวเกินไป และอยากให้การประเมินผลมีความหลากหลาย

เพราะเครือข่ายโฮมสคูลมองว่าไม้บรรทัดเดียวจะใช้วัดทุกๆ คนไม่ได้ ที่สำคัญรัฐและผู้เกี่ยวข้องในวงการการศึกษาต้องเปิดใจรับฟังมากกว่านี้ และมีการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ส่วนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ต้องได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง

สุดท้าย สิ่งที่พ่อแม่ครอบครัว “บ้านเรียน” ต้องการ คือการได้รับโอกาสจัดการเรียนรู้อย่างมีอิสระ ไร้กรอบจำกัด

: พ่อแม่ยุคใหม่ไม่ควรฝากความหวังไว้กับโรงเรียน?

จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้ว ก็สามารถพูดได้ว่าฝากความหวังไว้ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ปกครองต้องทบทวนว่าเราทำอะไรกันอยู่ ครูที่โรงเรียน ผู้คนในระบบ ก็รู้ว่าปัญหานี้เรื้อรังอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธ “ระบบโรงเรียน” เสียทีเดียว แต่พ่อแม่มีสิทธิพูดอะไรบางอย่างกับโรงเรียน ทั้งการกระตุ้นเตือน ไปคุยไปนำเสนอกับผู้บริหารว่าอยากให้โรงเรียนปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม โรงเรียนก็น่าจะยินดีรับฟัง

ดีกว่าปล่อยให้โรงเรียนสอนอย่างเดียว ทว่า ผู้ปกครองที่เป็นกลไกสำคัญในการศึกษากลับไม่ช่วยลูกหลานตัวเองเลย เพราะดันเอาภาระและความหวังทุกอย่างไปฝากไว้กับสถานศึกษาในระบบ

การที่บอกให้ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วม ฟังดูไม่รู้จะเป็นอุดมคติขนาดไหน แต่ถ้าได้พลังจากตรงนี้เข้าไปร่วมรับผิดชอบ ก็จะเป็นทางออกของปัญหาการศึกษาไทยได้

และหากโรงเรียนทำอะไรเสียหาย คุณก็มีสิทธิฟ้องร้องได้ เพราะต้องยอมรับว่าในสังคม ไม่มีพ่อแม่ทุกคนกล้าออกมาสอนลูกตัวเองแบบโฮมสคูลด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้แก่ลูกตัวเองได้

ด้วยเหตุนี้ แต่ละช่วงเวลาที่ได้อยู่กับลูกๆ พ่อแม่ต้องรับฟังเด็กมากขึ้น ไม่ใช่แค่การสอนเขา แต่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ช่วยกันประคับประคองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน รักกัน และเข้าใจกัน อันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการสอนหนังสือ