ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“คุณอดุลย์ ดุลยรัตน์” และ “คุณประจวบ ฤกษ์ยามดี” สองนักแสดงอาวุโส เพิ่งล่วงลับลงในเวลาใกล้เคียงกัน
ข้อเขียนชิ้นนี้พยายามจะรำลึกถึงทั้งสองท่าน ผ่านมุมมอง การตีความ และประสบการณ์อันจำกัดจำเขี่ยของคนดูหนังรายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ติดตามผลงานของทั้งคู่มามากมายและละเอียดลออนัก
ท่านครู
ผมคงเป็นเช่นเดียวกับแฟนหนังรุ่นหลังอีกหลายคน ที่จดจำคุณอดุลย์ได้จากบทบาท “ท่านครู” ในภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, 2547)
ตามความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่า ตัวละคร “ท่านครู” ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว มี “นัยยะความหมายทางสังคม-วัฒนธรรม” อันสำคัญยิ่ง
จนสำคัญยิ่งกว่าเรื่องราว “ดราม่า-ซาบซึ้ง” ในจอภาพยนตร์ ทว่า เป็นความสำคัญที่หลุดลอยออกมาสู่บริบทการต่อสู้ทางสังคม-การเมืองนอกโรงหนัง นับแต่ช่วงก่อนเดือนกันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน
กล่าวคือ ท่านครูในโหมโรง มิใช่ตัวแทนของ “ความเป็นไทยแท้บริสุทธิ์” ที่ไม่ยอมเจือปนกับองค์ประกอบแปลกปลอมใดๆ ที่ “ไม่ไทย” เสียทีเดียว
เพราะถ้ายังจำกันได้ ฉากคลาสสิกหนึ่งของโหมโรง ก็คือ ฉากที่ท่านครูตีระนาดผสานการบรรเลงเปียโนของลูกชาย อันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการปรับประสานต่อรองซึ่งกันและกัน ระหว่าง “ดนตรีไทย” กับ “ดนตรีฝรั่ง”
จุดยืนของหนังเรื่องโหมโรง ก็ไม่ต่างกับ “ทวิภพ” ฉบับ “สุรพงษ์ พินิจค้า” ที่ออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน
ภาพยนตร์เรื่องทวิภพของสุรพงษ์มิได้นำเสนอภาพชนชั้นนำสยาม (ใหม่) ที่ปฏิเสธฝรั่งอย่างถึงรากถึงโคน หรือตั้งเป้าจะยอมพลีชีพในการรบกับฝรั่ง
หากชนชั้นนำเหล่านั้นพร้อมจะปรับประสานต่อรองทางอำนาจกับชาติตะวันตก และยินดีจะแสวงหา-สั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆ ในแบบฉบับของฝรั่ง
ด้วยเหตุนี้ โหมโรงและทวิภพ จึงมิได้ปฏิเสธหรือยืนกรานต่อต้านอิทธิพลในทางความคิด-วัฒนธรรมของ “ต่างชาติ/ฝรั่ง/ตะวันตก” อย่างหัวเด็ดตีนขาด
แต่คำถามสำคัญที่หนังสองเรื่องตั้งขึ้น ก็ได้แก่ คนไทยกลุ่มไหนกัน? ซึ่งควรจะเป็น “ด่านหน้า” ในการนำเข้าแนวคิด-วัฒนธรรมเหล่านั้นมาสู่สังคมไทย แล้วค่อยๆ ปรับแปร/ดัดแปลง “ของนอก” ให้กลายเป็น “ของไทยๆ”
อันง่ายต่อการซึมซับซึมซาบลงสู่วิธีคิด-วิถีชีวิต-พฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ และไม่สูญเสีย “เอกลักษณ์ไทย”
คำตอบที่หนังให้ ก็คือ ผู้ต้องแบกรับภาระหน้าที่ดังกล่าว ควรเป็น “ชนชั้นนำจารีต” อันมี ท่านครู, ขุนอัครเทพวรากร และหลวงราชไมตรี เป็น “ภาพแทน” ขั้นเบื้องต้นสุด
มากกว่าจะเป็นนายทหารในระบอบ “พิบูลสงคราม” และนักการเมือง-นักธุรกิจในกระแสโลกาภิวัตน์
ทิพย์
ไม่ต่างจากกรณีคุณอดุลย์ ผมได้ดูหนังที่คุณประจวบแสดงอยู่เพียงไม่กี่เรื่อง
ถ้าจำไม่ผิด อาจมีแค่ “โรงแรมนรก” (รัตน์ เปสตันยี, 2500) และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” (มารุต, 2498)
หากวัดเอาจากความตลกและความมีเสน่ห์ ผมคงชอบบทบาทของคุณประจวบในโรงแรมนรกมากกว่าในชั่วฟ้าดินสลาย
อย่างไรก็ตาม บทบาทและไดอะล็อกสั้นๆ ในชั่วฟ้าดินสลายของคุณประจวบ กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนบางอย่างในใจผมได้มากล้นและยั่งยืนกว่า
ไดอะล็อกที่ว่า เกิดขึ้นหลังจากมีตัวละครคนงานขนไม้เดินตัดหน้าจนแทบจะชน “ทิพย์” ผู้จัดการปางไม้ ซึ่งรับบทโดยคุณประจวบ
ทิพย์จึงด่าคนงานกลับไปว่า “เฮ้ย! เดินดูตาม้าตาเรือซะบ้างสิ ไอ้นี่มีความรู้สึกจองหองในใจนี่”
(ขอขอบคุณสเตตัสเฟซบุ๊กของ คุณมนทกานติ รังสิพราหมณกุล บรรณาธิการบริหารนิตยสารมาดามฟิกาโร ที่ชี้ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์และไดอะล็อกนี้)
ก่อนหน้าจะได้ชม “ชั่วฟ้าดินสลาย” เวอร์ชั่นดังกล่าว (เอาเข้าจริง คือ เวอร์ชั่นแรกที่ผมได้ดู) และก่อนหน้าจะได้อ่านนิยายของ “มาลัย ชูพินิจ”
ผมเคยเข้าใจมาโดยตลอดว่า จุดใหญ่ใจความในหนัง/นิยายเรื่องนี้ คือ เรื่องราวการแสดงอำนาจสัมบูรณ์ของ “นายห้างพะโป้” ที่สามารถบงการและลงทัณฑ์หนุ่มสาวผู้ฝ่าฝืนท้าทายกฎเกณฑ์ของเขาได้อย่างอยู่หมัดและเด็ดขาด
ทว่า พอได้ดู “ชั่วฟ้าดินสลาย ปี 2498” ผมกลับพบว่า ตนเองเข้าใจอะไรผิดไปเยอะแยะ
เพราะท่ามกลางการจัดการกับขบถรุ่นเยาว์อย่าง “ส่างหม่อง” และ “ยุพดี” พะโป้และปางไม้ของเขา กลับต้องประสบกับปัญหาสำคัญ อันเนื่องมาจากภาวะความชอบธรรมทางอำนาจที่ตกต่ำลดลงจนเห็นได้เด่นชัด
ภาวะที่ว่า ปรากฏผ่านหลายสถานการณ์ในหนัง เช่น แม้นายห้างพะโป้อาจมีอำนาจสิทธิ์ขาด และสามารถตบหน้าคนใช้ที่พูดจาเสียดแทงใจตนเองได้ แต่อย่าลืมว่าคนใช้ก็สามารถเดินเข้าไปพูดจากระทบกระแทกจิตใจของเจ้านายได้อย่างกล้าหาญเช่นกัน
เช่นเดียวกับยุพดี ที่ถูกบรรดาคนใช้พยายาม “ลองของ” ในตอนต้นเรื่อง
แม้แต่ทิพย์ที่มีสถานะเป็นผู้ช่วยของนายห้าง ก็ยังแสดงกิริยาอาการกดขี่คนงานต่างๆ ตลอดเวลา จนคล้ายกับเขากำลังพยายามลอกเลียนการใช้อำนาจของผู้เป็นนายอยู่
ที่น่าสนใจ คือ คนงานในปางไม้กลับมีทีท่าเพิกเฉยไม่สนใจไยดีต่อการใช้อำนาจ “ปลอมๆ” ของทิพย์
และไดอะล็อกของทิพย์ที่ก่นด่าคนงานว่า “มีความรู้สึกจองหองในใจ” ก็เป็นอาการบ่งชี้ข้อหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พะโป้และระบอบอำนาจของเขา กำลัง “ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ไม่อยู่”
ก่อนที่โศกนาฏกรรมความรักจะเกิดขึ้นกับส่างหม่องและยุพดี ก่อนที่คนงานปางไม้จะก่อหวอดประท้วงพะโป้ เพราะไม่เห็นด้วยกับการลงโทษคู่รักหนุ่มสาวอย่างโหดเหี้ยมไร้ขีดจำกัด
กระทั่งมีการขว้างปาก้อนหินใส่รูปเหมือนของนายห้าง กระทั่งนายห้างต้องสิ้นใจตายกลางกองเพลิงที่ตนเองเป็นผู้จุดขึ้น
ขออนุญาตสรุปปิดท้ายว่า คุณค่าจากผลงานเก่าๆ ของคุณอดุลย์และคุณประจวบนั้นมีอยู่แน่ๆ และคุณค่าเช่นนั้นจะเปล่งประกายอย่างเจิดจ้า หากสามารถนำมาใช้อธิบาย “ปัจจุบัน” ได้