อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : หน้ากากวิเศษ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

วิกฤตคือโอกาส มหาวิกฤตคือมหาโอกาส

โรคระบาดใหม่โควิดยังเปิดเผยให้เราเห็นความโลภทั่วไปหมด

ความโลภที่ไม่มีชาติ พรมแดน ชาติ วัฒนธรรม เพศสภาพและชนชั้น

หน้ากากอนามัยช่วยให้เราเห็นสิ่งนี้ชัดเจนขึ้น

 

การเมืองของหน้ากาก

แทบไม่น่าเชื่อว่า หน้ากากอนามัย นำพาให้เราต้องหันมาใช้แนวทางการวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่หลากหลาย แทนที่เราจะวิเคราะห์หน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์อยู่ในขณะนี้ด้วยกรอบคิดและวิธีวิทยาในด้านสาธารณสุขและการแพทย์สมัยใหม่

เช่น ประสิทธิภาพของเส้นใย ความคงทนอันนำมาสู่การป้องกันเชื้อโรคไวรัส แบคทีเรีย เชื้อโรคเขตร้อนหรือเขตหนาว หรือการวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีด้านเส้นใย การผลิตเชิงปริมาณ เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ทว่า เรากลับต้องมาอธิบายมิติทางวัฒนธรรมของบรรดาเซเลบนานาชาติผู้ประดิษฐ์และสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วยลวดลายของชาติพันธุ์ต่างๆ อันสวยงาม เป็นที่ต้องตาในวงการแฟชั่นและตลาดการค้า

ด้านแฟชั่นซึ่งอาจวางแผนเสื้อผ้าในฤดูกาลต่างๆ อันมีหน้ากากอนามัยที่ทั้งเท่ มีเสน่ห์และแพงเอาไว้ขายประจำคอลเล็กชั่นของตนก็ได้

ในเวลาเดียวกัน การวิเคราะห์ทางรัฐศาสตร์ อันได้แก่ มิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างอภิมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาที่หักคำสั่งซื้อหรือออเดอร์ หน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยบริษัท 3 M ผู้ผลิตหน้ากากอนามัยรายใหญ่สัญชาติอเมริกาที่มีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

หากพวกเรายังจำกันได้ มิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีอันสืบเนื่องจากโรคระบาดใหม่ COVID-19

โดยเฉพาะการแย่งชิงทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ของผลิตภัณฑ์ยาเพื่อใช้รักษาโรคระบาดใหม่ที่ค้นคิดได้ในระดับหนึ่งแล้วจากบริษัทด้านเภสัชกรรมชั้นนำของเยอรมนี

โดยการล้วงลึกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกาต้องการซื้อ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ยารักษาไวรัสโควิดแต่เพียงผู้เดียวของโลก

ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากไปทั่วโลก ว่าประธานาธิบดีสหรัฐต้องการใช้กำลังบังคับเพื่อผูกขาดยารักษาโรคระบาดใหม่โควิดแต่เพียงผู้เดียว

โดยไม่สนใจกติกาการค้าระหว่างประเทศ ไม่แยแสประเด็นมนุษยธรรม

ทว่าเป็นข้ออ้าง American First เพื่อคนอเมริกันแต่คิดแบบเห็นแก่ตัวตามแนวทางระบบเสรีนิยมใหม่ มือใครยาวสาวได้สาวเอามากกว่า

การช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ในการเมืองระหว่างประเทศอาจนำมาเป็นกรอบด้านคอนเซ็ปช่วลเฟรมเวิร์กด้านรัฐศาสตร์จนได้ในกรณี หน้ากากอนามัย ยารักษาโรคโควิด การเป็นผู้นำนานาชาติด้านการต่อต้านโรคระบาดใหม่ทั่วโลกที่แข่งขันกันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐเยอรมนี

ช่างเห็นคนเป็นผักเป็นปลา ไร้คุณค่าความเป็นมนุษย์เสียนี่กระไร

 

หน้ากากวิเศษ : ในมิติวัฒนธรรมไทย

ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้กล่าวตรงๆ ผมเบื่อดราม่าเต็มทนแล้ว ความจริงจะไปโทษเทคโนโลยีด้านสังคมออนไลน์ก็ไม่ถูก

เทคโนโลยีดังกล่าวที่รวดเร็ว ทันสมัยและเข้าถึงแบบทะลุทะลวงไปทั่วทุกอณูของโลกอยู่ในขณะนี้ ผมมองแต่ในแง่ดีที่ว่า เทคโนโลยีก่อประโยชน์อย่างอเนกอนันต์และสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

ดราม่าไม่ว่าที่ไหนในโลก นับเป็นปรากฏการณ์ปกติของเหล่ามวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ทุกเพศและทุกวัย

ผมอดสะเทือนใจไม่ได้ที่เห็นคุณหมอระดับศาสตราจารย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขมานั่งเย็บผ้าเพื่อทำถุงคลุมเท้าบุคลากรทางการแพทย์เพื่อใช้ในห้องที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด

บางคนอาจมองว่าช่างน่ารักที่คุณหมอนำเอาจักรเย็บผ้าของคุณแม่มาใช้เย็บอุปกรณ์ทางการแพทย์

ทว่าผมยิ้มไม่ออก ไม่เพียงสงสัยว่าสังคมไทยเป็นอะไรไปที่นำพาคุณหมอระดับชั้นนำของประเทศ แทนที่จะไปรักษาคนไข้หรือประชุมเชิงนโบยายด้านสาธารณสุข กลับมานั่งเย็บถุงผ้า

ภาพน่าหดหู่นี้ได้สะท้อนความเลวร้ายของสังคมการเมืองไทย ยามเกิดวิกฤตด้านโรคระบาดใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก

วิกฤตการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายชนิดที่แพทย์ต้องระดมขอรับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ

ทว่า มหาวิกฤต คือมือที่มองเห็น ฉกฉวยประโยชน์จากความเป็นความตายของคนอื่นมาเป็นความมั่งคั่งและความมั่นคงของตนและหมู่คณะอีกวาระหนึ่ง

ผมคิดว่า ไม่ต้องใช้กรอบคิดทางรัฐศาสตร์ว่าการเมืองไทยมีระบบอุปถัมภ์ (patronization) อมาตยาธิปไตย (Bureaucratic polity) พ่อขุนอุปถัมภ์ (Despotic Paternalism) อำนาจนิยมนายพล (Junta authoritarianism) อำนาจนิยมประชานิยม (Populist authoritarianism) หรือแม้แต่อำนาจนิยม-ด้อยประสิทธิภาพก็ตาม วิกฤตเป็นโอกาสของคนบางกลุ่ม

ฉันใดก็ฉันนั้น มหาวิกฤตเป็นมหาโอกาส ที่สร้างความมั่งคั่งชั่วข้ามคืน ชั่วพริบตาให้กับกลุ่มคนที่รู้จักใช้อำนาจ ใช้เครือข่าย รีดเร้นทรัพย์สินจากผู้คน หรือปล้นภาษีชาวบ้านด้วย

ไข่ไก่ก็เป็นไข่ไก่ที่หายไปสู่ ไข่ไก่วิเศษ อันหายากราคาแพงไปได้ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าควบคุม

ในทำนองเดียวกัน หน้ากากอนามัยก็เป็นหน้ากากอนามัยหายไปไหน ไปสู่หน้ากากวิเศษ ที่ราคาแพงและหาไม่ได้ในท้องตลาด ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าควบคุม เป็นสินค้าห้ามการส่งออก หากจะส่งหน้ากากอนามัยต้องขออนุญาตทางการเป็นรายๆ ไป

ภาพหมอนั่งเย็บผ้าด้วยจักรเย็บผ้ารุ่นคุณแม่ ช่วยระเบิดให้สังคมการเมืองไทยแตกหักครั้งมโหฬารว่า ไม่ว่าสังคมการเมืองไทยจะมีรูปแบบและมีระบบอุปถัมภ์ที่ซึมลึกหรือไม่ก็ตาม หน้ากากอนามัยกลายเป็นทรัพย์สินที่ผู้คนนับตั้งแต่ประชาชนทั่วไป ผู้คนทุกหมู่เหล่า เหล่าแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขในบ้านเรา จำเป็นต้องใช้ แต่หาไม่ได้

ในขณะที่ผู้ค้าหน้ากากอนามัยซึ่งไม่ได้เป็นคนผลิต รวยเอาๆ บนความจำเป็นของผู้คนทุกหมู่เหล่า

จากหน้ากากอนามัยจำนวน 200 ล้านชิ้นเป็นหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้จากโรงงานภายในประเทศ 11 โรงงาน หายไปไหน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิต แต่หน้ากากอนามัยก็หายไป และยังจะหายไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด

นอกจากหน้ากากอนามัยประเทศไทยไม่น่าจะขาดตลาดเพราะยังมีหน้ากากอนามัยอีก 3 ประเภทอันเป็นหน้ากากอนามัยภายใต้ระบบการจัดการของรัฐท่าน ไม่ว่าหน้ากากอนามัย ก. ผลิตเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ข. หน้ากากอนามัยผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ค. หน้ากากอนามัยที่ผลิตตามข้อตกลงทางการค้า

แม้ว่าเราจะไม่มีใครรู้ว่า หน้ากากอนามัยประเทศไทยผลิตได้ทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไร แต่ในความเป็นจริง ควรมีหน้ากากอนามัยพอใช้ภายในประเทศแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ทว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่

ผมคิดว่า มือที่มองเห็นและความโลภเป็นที่มาและคำตอบว่า

หน้ากากอนามัยหายไปแล้วเปลี่ยนเป็น super rich ชั่วพริบตา