คนมองหนัง : ปาล์มทองคำตัวที่สองของ “เคน โลช” ผู้กำกับ “สัจสังคมนิยม” จากอังกฤษ

คนมองหนัง
AFP PHOTO / LOIC VENANCE

“เคน โลช” ผู้กำกับภาพยนตร์อาวุโสชาวอังกฤษ เพิ่งนำหนังเรื่องล่าสุดของตนเองชื่อ “I, Daniel Blake” ขึ้นคว้า “รางวัลปาล์มทองคำ” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ที่เพิ่งปิดฉากลงไป

นับเป็นครั้งที่สอง ที่โลช นักรณรงค์ทางสังคมและนักทำหนังแนว “สัจสังคมนิยม” เจ้าของผลงานภาพยนตร์กว่า 50 เรื่อง ในวัยย่าง 80 ปี สามารถคว้ารางวัลเกียรติยศดังกล่าวมาครอบครอง

หลังจาก “The Wind That Shakes the Barley” หนังของเขาที่เล่าเรื่องราวว่าด้วยการทรยศหักหลัง บาดแผล และความร้าวรานภายในขบวนการปฏิวัติไอริช เคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำเมื่อปี 2006

 

“I,Daniel Blake” เป็นผลงานลำดับที่ 13 ของโลช ซึ่งถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์

หนังเล่าเรื่องราวของ “แดเนียล เบลค” ชายวัยกลางคนชาวเมืองนิวคาสเซิล ผู้ล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน จนไม่สามารถกลับมาประกอบอาชีพการงานได้ตามปกติอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อแดเนียลเข้าทดสอบร่างกายกับหน่วยงานของรัฐ ผลการทดสอบกลับระบุว่าเขายังสามารถทำงานได้ตามปกติ

ส่งผลให้ชาย “ไร้งาน” ผู้นี้ไม่ได้รับสวัสดิการสังคม ซึ่งตนควรจะได้รับ จนต้องตกทุกข์ได้ยากในที่สุด

ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ “พอล ลาเวอร์ตี้” ซึ่งทำงานร่วมกับโลชมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ส่วนผู้มารับบทเป็น แดเนียล เบลค คือ “เดฟ จอห์นส์” นักเดี่ยวไมโครโฟนชื่อดัง

คณะกรรมการตัดสินรางวัลได้ยกย่องการแสดงของจอห์นส์ ว่าสามารถเปิดเผยให้เห็นถึงชะตากรรมของตัวละคร ที่ตกอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก และถูกแวดล้อมไว้ด้วยรั้วรวดหนามของระบบรัฐสวัสดิการอังกฤษอันพิกลพิการ

ซึ่งย้อนแย้งกับความเชื่อหรือวาทศิลป์ที่ชอบถูกป่าวประกาศอย่างมักง่ายในสังคมอังกฤษยุคสมัยใหม่ว่า “คนขยันไม่มีวันอดตาย แต่ที่จะตายคือคนเกียจคร้านมากกว่า”

ขณะที่นักแสดงนำผู้นี้กล่าวถึงหนังเอาไว้ว่า “เมื่อ 50 ปีก่อน เคนเคยทำหนังเรื่อง “Cathy, Come Home” (เล่าเรื่องราวชีวิตของคนไร้บ้าน) ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็เป็นเรื่องราวแบบเดียวกันกับหนังที่ผมนำแสดงนี่แหละ เพราะพวกมันต่างเล่าเรื่องของผู้คนที่ต้องตกอับและพยายามต่อสู้ดิ้นรนอยู่แถวๆ ใต้ถุนสังคม”

 

ด้านโลชได้กล่าวความในใจ ขณะขึ้นรับรางวัลบนเวทีว่า “เราจำเป็นต้องส่งสารแห่งความหวัง เราจำเป็นต้องบอกกล่าวออกไปถึงความเป็นไปได้ในการมีระบบสังคมแบบอื่นๆ”

“โลกปัจจุบันของพวกเรากำลังตกอยู่ในภาวะอันตราย เรากำลังโดนโอบรัดด้วยโครงการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจอันน่าสะพรึงกลัว ซึ่งถูกผลักดันโดยแนวคิดที่เราเรียกกันว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ ภาวะเช่นนี้กำลังนำพาพวกเราไปสู่หายนะ” ผู้กำกับเจ้าของสองรางวัลปาล์มทองคำ กล่าว

โลชให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขาต้องการใช้หนังเรื่องนี้เปิดโปงระบบรัฐสวัสดิการอันฟอนเฟะของสหราชอาณาจักร

“ผมต้องการทำให้ผู้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้หัวใจสลาย และรู้สึกโกรธแค้นไปพร้อมๆ กัน”

เขาชี้ว่าชีวิตของเหล่าตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง “I, Daniel Blake” เปรียบเสมือนภาพถ่ายที่บันทึกวิถีการดำรงชีวิตของชาวอังกฤษในปี 2016

“ผมต้องการสำรวจตรวจสอบผลกระทบที่ผู้คนได้รับจากนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยมองผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และพิจารณาว่ามีคนกลุ่มใดบ้างที่ต้องประสบความยากลำบากจากนโยบายเหล่านี้”

 

โลชยังกล่าวผ่านสถานีวิทยุบีบีซีว่า “ถ้าพวกคุณไปอยู่ท่ามกลางผู้คนอดอยากยากเข็ญในธนาคารอาหาร ซึ่งจะมีอาหารตกถึงท้อง ก็ต่อเมื่อมีคนร่ำรวยมาบริจาคทานให้พวกเขา พวกคุณย่อมได้ตระหนักว่า นี่มันเป็นเรื่องน่าขยะแขยงและหดหู่แบบสุดๆ ที่พวกเราต้องมาใช้ชีวิตเช่นนั้น ในประเทศนี้ ในยุคสมัยนี้”

ผู้กำกับวัยเกือบแปดทศวรรษเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มิใช่ “อุบัติเหตุ” ซึ่งภาครัฐเป็นผู้ก่อโดยไม่ได้ตั้งใจ

“ความยากจน, ไร้เกียรติ และอัปยศอดสูของผู้คนจำนวนมาก มันเกิดขึ้นผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี” โลชฟันธง

“รัฐน่ะไร้ประสิทธิภาพและโหดเหี้ยมอย่างจงใจ พวกเขารู้ดีว่าจะมีสมาชิกของสังคมเป็นจำนวนมากที่ถูกผลักไสให้ไปตกอยู่ในภาวะอึดอัด หดหู่ หิวโหย กระทั่งอาจฆ่าตัวตาย

“แต่แล้วผู้ออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง กลับถูกสร้างภาพให้กลายเป็น “ไอ้พวกหัวขโมย” โดยสื่อมวลชน ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยระบุว่า ในบรรดาผู้เรียกร้องสิทธิจากนโยบายรัฐสวัสดิการ มีอยู่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เป็นพวกต้มตุ๋น และแน่นอนว่านักต้มตุ๋นเหล่านี้ มันมีจำนวนน้อยกว่าพวกคนรวยที่หลีกเลี่ยงภาษีเสียอีก

“มิหนำซ้ำ มันยังเกิดทัศนคติที่ว่า ถ้าคุณจน นั่นก็เป็นความผิดของคุณ ถ้าคุณตกงาน นั่นก็เป็นข้อบกพร่องของคุณ เพื่อเบี่ยงเบนลดทอนความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งสุดท้าย ผู้ต้องรับกรรมก็คือกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม”

 

โลชและลาเวอร์ตี้เปิดเผยว่าฉากน่าสะเทือนใจในหนัง ซึ่งมีแม่คนหนึ่งเดินเข้าไปยังธนาคารอาหาร โดยมิได้กินอะไรมานานหลายวัน เป็นเรื่องเล่าที่พวกเขาได้รับฟังจากผู้หิวโหยในธนาคารอาหาร เมืองกลาสโกว์

“การเกิดขึ้นของธนาคารอาหาร กลายเป็นความภาคภูมิใจของรัฐ โดยปราศจากความละอายใดๆ มันน่าตื่นตระหนกว่า ในปี 2016 มีคนจำนวนมากจำเป็นต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการมีอาหารยังชีพ หรือการมีเครื่องทำความร้อน

“เมื่อปี 1945 ภายหลังสงครามโลก คนอังกฤษต้องตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้นถึงขีดสุด แต่มันไม่มีทางเลย ที่พวกเขาจะอดตาย เพราะยังมี “ชุมชนต่างๆ” คอยโอบอุ้มค้ำจุนพวกเขาเอาไว้

“แต่สถานการณ์ที่พวกเราต้องเผชิญในทุกวันนี้ มันคือมรดกตกทอดจากนโยบายที่พยายามสร้างความเป็นปัจเจกนิยม ซึ่งรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าต่างส่งไม้ต่อกันมาเป็นทอดๆ

“มันน่าตกใจว่าเราเป็นชาติที่ร่ำรวย โดยมีความอู้ฟู่ฟุ้งเฟ้ออันวิกลสถิตอยู่ตรงด้านบน ขณะที่ตรงฐานล่าง กลับเต็มไปด้วยความยากจนระทมทุกข์และความหวาดกลัว” โลชวิพากษ์สังคมสหราชอาณาจักรยุคปัจจุบัน

 

ภายหลังการเสียชีวิตของ “มาร์กาเร็ต แธตเชอร์” อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม เมื่อปี 2013 โลชได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า แธตเชอร์ คือ นายกรัฐมนตรีผู้ก่อให้เกิดการแบ่งแยกและการทำลายล้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษยุดใหม่

“มรดกที่เธอทิ้งไว้ คือ ภาวะว่างงานของมวลชน, การปิดตัวลงของโรงงานอุตสาหกรรม และการถูกทำลายลงของชุมชนต่างๆ

“แธตเชอร์เป็นนักสู้ ทว่า ศัตรูของเธอกลับกลายเป็นชนชั้นแรงงานอังกฤษ ชัยชนะของเธอได้รับการเกื้อหนุนจากบรรดาผู้นำพรรคแรงงานและสหภาพแรงงาน ที่มีความฉ้อฉลในทางการเมือง

“มันก็เป็นเพราะนโยบายหลายอย่างที่เธอเริ่มต้นขึ้นนั่นแหละ พวกเราถึงได้ชุลมุนวุ่นวายกันอยู่ในทุกวันนี้…

“จำได้ไหม? ว่าแธตเชอร์เคยบอกว่า (เนลสัน) แมนเดล่า เป็นผู้ก่อการร้าย มิหนำซ้ำ เธอยังไปนั่งดื่มชากับอาชญากรและนักละเมิดสิทธิมนุษยชนชื่อ (ออกุสโต) ปิโนเชต์

“เราควรให้เกียรติเธออย่างไรดีล่ะ? อ้อ มา “แปรรูป” งานศพของเธอกันดีไหม เราน่าจะเปิดโอกาสให้มีผู้เข้ามาแข่งขันเพื่อประมูลจัดงานศพ ใครเสนอราคาถูกสุด คนนั้นก็ได้จัดงาน นี่อาจเป็นสิ่งที่แธตเชอร์ต้องการนะ”