คุยกับ ส.ส.นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำไมรัฐบาลไม่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ (เท่าที่ควร) ในการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด “รัฐบาลดิจิตอล” เกิดขึ้นจริงไม่ได้?

“ผมมีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 ที่ผ่านมามีผมเป็นหัวเรือหลักของพรรคที่ทำเรื่องงบประมาณรัฐบาลดิจิตอล เราเห็นว่างบฯ รัฐบาลด้านดิจิตอลที่ผ่านมาเป็นงบฯ ที่ซ้ำซ้อนซ้ำซากและขาดวิสัยทัศน์” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือเท้ง ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เคยเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แล้วปัจจุบันนี้มีสถานะเป็นรองเลขาธิการพรรคด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เล่าให้ฟังถึงสาเหตุที่รัฐบาลเรายังไม่สามารถผลักดันเรื่องรัฐบาลดิจิตอลได้เต็มที่มาจาก 3 ปัจจัยหลัก

ส.ส.ณัฐพงษ์ชี้ว่า ถ้าเรามีรัฐบาล หรือคนที่มีความเข้าใจเรื่องดิจิตอลที่ดีกว่านี้ เราจะสามารถจัดทำงบประมาณได้ดีกว่านี้

เช่นกรณีของ “ความซ้ำซ้อน” ในงบฯ ปี 2563 ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ามีการขอ Cloud (คลังการเก็บข้อมูล) เข้ามาทุกหน่วยงานทุกกระทรวง

การที่ทุกหน่วยขอให้มี datacenter ขนาดใหญ่ คุณควรจะมีการรวมศูนย์ไว้ที่ตรงกลาง และมีการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ถ้ารัฐมีความเข้าใจตรงนี้ว่า “Cloud กลาง” ของภาครัฐ จะต้องไม่มีความซ้ำซ้อน

ผมและพรรคก้าวไกลถ้าเราเป็นรัฐบาลแล้วจะบอกสำนักงบประมาณว่า ถ้ามีหลายหน่วยงานของบฯ มาเหมือนกันในเรื่องนี้ เราไม่เอา ขอให้มีเจ้าภาพหนึ่งหน่วยงานที่จะสร้าง “Cloud กลาง” ให้สำเร็จ เพื่อให้มี Big Data แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เรื่องต่อมาคือเรื่องความซ้ำซาก ที่จริงแล้วประเทศไทยเรามีแผนที่จะพัฒนาเป็นรัฐบาลดิจิตอลและมีคนที่เล็งเห็นความสำคัญด้านนี้ แต่ที่ผ่านมาย้อนหลังไปประมาณ 10 ปีเราจะเห็นว่าทศวรรษที่ผ่านมาเราเป็นทศวรรษที่สูญเปล่าของรัฐบาลดิจิตอล

ดังจะเห็นได้จากการตั้งงบฯ ที่ผ่านมา เราล้วนมีการปรากฏคำต่างๆ มากมาย เช่น บล็อกเชน AI Big Data เราเห็น keyword ต่างๆ เหล่านี้ตลอดแต่ทำไม่เคยสำเร็จเลย แต่ก็ยังมีการของบแบบนี้เข้ามาซ้ำซากทุกปี

ผ่านมาแล้วเกือบ 10 ปี ถ้าเรามองย้อนกลับไปว่าคุณบอกจะมีแผนต่างๆ จากวันแรกที่คุณทำคุณขอมา ณ วันนี้มันเกิดผลอะไรแล้วหรือยัง มีแต่สุญญากาศ สูญเปล่าไม่เกิดอะไรขึ้น

ประการต่อมาคือการขาดวิสัยทัศน์ คือถ้าคุณรู้ว่าการทำไม่สำเร็จคุณต้องทำต้องแก้ที่ตรงไหน ถ้าคนมีความเข้าใจว่า คุณจะไม่ปล่อยให้มีการซ้ำซ้อนซ้ำซากเกิดขึ้น คุณต้องหยุดแล้วมอบให้หน่วยงานใดไปขับเคลื่อนเป็นเจ้าภาพ

ถ้ากระบวนการทุกอย่าง ก็มีความเข้าใจ ภาพรวมทั้งหมด ผมคิดว่ามันก็สามารถทำให้รัฐบาลดิจิตอลเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

ผมอยากมองในแง่บวก ว่าจากการที่เราเข้าไปทำงานในสภาแล้วจะเห็นได้ว่าข้าราชการหลายคนมีความรู้ความสามารถ มีคนเรียนจบดีกรีสูงๆ มีความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ดี

แต่สำคัญที่สุดคือ “ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ” สุดท้ายนี้หนีไม่พ้นการจัดทำการงบประมาณที่จะต้องมาจบอยู่ที่สำนักงบฯ เราอยากจะชี้ให้เห็นว่าการที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความสำคัญตรงที่ สุดท้ายถ้า ครม.เป็นคนอนุมัติ ถ้ามีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์มีความเข้าใจในเรื่องนี้ คุณก็จะไม่ปล่อยให้งบประมาณซ้ำซ้อนซ้ำซากแบบนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นผู้แทนฯ หลายคนที่พูดถึงรัฐบาลดิจิตอลกันมากขึ้น ผมเริ่มเห็นทิศทางที่เปลี่ยนไปแล้ว

ก็ยังคิดในเชิงบวกว่าหลังจากนี้ งบฯ ปี 2564 2565 เรามีความเข้าใจและลงทุนด้านนี้มากขึ้นได้

ส่วนมาตรการรัฐที่ออกมากระตุ้นพยุงเศรษฐกิจ อันมีผลพวงมาจากวิกฤตโควิด-19 เกือบ 2 ล้านล้านบาท ต้องบอกว่าตัวเลขไม่ได้สูงเกินไป ถ้าดูจากกรอบวงเงินกู้ที่รัฐบาลออกมาก็ถือว่ายังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คำถามสำคัญคือเงินจะถึงมือชาวบ้านได้เท่าไหร่?

อย่างมาตรการแจกเงิน 5,000 บาท เว็บเราไม่ทิ้งกัน.com ก็ยังเห็นว่ายังมีปัญหาหลายๆ อย่างที่บางคนอาจจะเข้าถึงเทคโนโลยีไม่ได้ ไม่สามารถลงทะเบียนได้ หรือระบบทะเบียนมีปัญหา เป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องลองกลับไปคิดดูว่าจะปรับปรุงอย่างไร

สิ่งที่เราอยากจะเห็นมากที่สุดก็คือช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภายใต้โจทย์ที่ว่าจะแจกอย่างไรให้ถึงมือคนที่ขาดแคลนและมีความต้องการจริงๆ

อย่างข้อเสนอของพรรคก้าวไกลได้มีการเรียกร้องอยากจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในการจัดทำงบประมาณปี 2564 เรื่องสำคัญที่สุดที่เราคิดว่าจะสามารถเข้ามาช่วยในวิกฤตครั้งนี้ได้คือการนำเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้

รวมไปถึงเรื่องการที่ทำอย่างไรในที่จะผลักดันเรื่องสวัสดิการมากขึ้นกว่านี้

วิกฤตนี้เหมือนจะเป็นช่วงสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของสวัสดิการ โจทย์คือจะทำอย่างไรในการดึงประชาชนให้เข้าสู่ระบบสวัสดิการมากขึ้น

และทำให้คนเห็นว่ายินดีที่จะจ่ายและระบบมันสามารถช่วยเขาได้จริงในยามวิกฤต ส่งผลดีให้ประชาชนได้ในระยะยาว

แต่เมื่อพิจารณาไปในเชิงโครงสร้างการทำงบประมาณของ “รัฐบาลไทย” มันกลายเป็นปัญหาสะสมเชิงโครงสร้างมานานแล้ว ในกระบวนการจัดทำงบประมาณมันมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่การทำแผนขออนุมัติการเบิกจ่ายและการประเมินผลมันจะกินกรอบระยะเวลาประมาณ 1 ปี กลายเป็นของปีชนปีและทำต่อกันไปเรื่อยๆ

คำถามก็คือว่า ระบบงบประมาณในอดีตที่ผ่านมาเขาจะใช้วิธีการทำจากฐานเดิมก็คือ ยกเอาโครงสร้างปีที่แล้ว คิดในกรอบเดิมแล้วก็บวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไปเพิ่ม

แล้วถ้าหน่วยงานไหนต้องการได้รับโครงการไหนขึ้นมาเป็นพิเศษก็บวกงบประมาณเข้าไปเป็นรายโครงการ โดยเอาฐานเดิมจากปีก่อนมาต่อยอด

ซึ่งการจัดทำงบประมาณแบบนี้มันทำให้บางครั้งมันไม่ตอบโจทย์ของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วที่สุด

พูดให้ชัดก็คือวิกฤตโรคโควิดในครั้งนี้งบปี 2564 (ที่เริ่มถูกจัดทำขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว) ที่จะต้องเข้าสู่ขั้นตอนของสภาเพื่ออนุมัติอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะเห็นเองว่าโครงสร้างงบประมาณไม่ได้ตอบโจทย์วิกฤตนี้เลยแม้แต่น้อย

ผมเชื่อว่า พรรคฝ่ายค้านเราคงจะไม่ยอมให้โครงสร้างงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์วิกฤตเหล่านี้ผ่านสภาได้อย่างแน่นอน

จุดนี้จะชี้ให้เห็นเลยว่าความสำคัญของสภาผู้แทนราษฎรที่ควรจะต้องอยู่เหนือระบบราชการเป็นอย่างไร

เราต้องเอาปัญหาวิกฤตเฉพาะหน้าของประชาชนเข้าไปพิจารณาในสภา

คิดดูว่าถ้าเราไม่มีสภา มีแต่ระบบราชการ ราชการก็จะทำตามกระบวนการปกติเท่านั้น งบประมาณก็ไม่มีใครมาสะท้อนมุมต่างๆ

อย่างข้อเสนอที่พรรคก้าวไกลเราค่อนข้างเน้นย้ำมากที่สุดคือการที่เราอยากให้เริ่มจัดทำงบประมาณในกรอบวิธีคิดใหม่ๆ แทนที่คุณจะยกเอาประมาณ 1 ปีที่แล้วมาบวกต่อยอด ให้คุณเริ่มมาดูเป็นรายโครงการจะดีกว่า ว่าโครงการใดมีความจำเป็น อย่างวิกฤตนี้เราต้องการงบฯ การลงทุนไปที่เรื่องของการแพทย์และสาธารณสุขจะเพิ่มอย่างไรที่จะยกระดับความสามารถและประสิทธิภาพให้รองรับวิกฤตสำคัญของโลกที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพ แต่ระยะยาวคือปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ

ถ้ารัฐจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดล็อกดาวน์หรือวันหนึ่งยกระดับเป็น 24 ชั่วโมง เมื่อนั้นระบบเศรษฐกิจพังแน่นอน

โจทย์คือจะทำอย่างไรที่จะเสนอมาตรการผ่อนปรนได้มากกว่านี้ให้คนดำเนินกิจวัตรประจำวันระบบเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับปกติให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว

คำตอบก็คือ คุณก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข มีเครื่องช่วยหายใจมากขึ้น มีห้องปลอดเชื้อมากขึ้น คู่ขนานกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดมี 3 โมเดลของจีน ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่สามารถจัดการกับวิกฤตได้ดีเพราะเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้

เช่น ไต้หวัน เพียงไม่กี่วันเขาสามารถขึ้นระบบที่กระจายหน้ากากอนามัยได้อย่างรวดเร็ว มีระบบการลงทะเบียน 1 คนซื้อได้กี่ชิ้นในสัปดาห์

สิงคโปร์สามารถขึ้นระบบติดตามผู้ป่วยออนไลน์ไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตามบ้าน

จีน ไม่กี่วันก็สามารถคัดกรองด้วยระบบคิวอาร์โค้ดตามจุดต่างๆ ได้

ถามว่าเขามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เก่งกว่าบ้านเราหรือเปล่าก็ไม่ใช่ แต่เพราะว่าเขามีโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ Data Center ขนาดใหญ่

หน่วย Cloud กลางของภาครัฐ มีดิจิตอลเซ็นเตอร์ที่สำเร็จมาแล้วหลายปีก่อน บ้านเราตรงนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่าถ้ารัฐบาลไทยมีผู้บริหารประเทศ มีรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งลงทุนไม่มากเท่าไหร่ ระบบเหล่านี้ลงทุนหลักร้อยล้าน หลักพันล้าน ซึ่งมาเทียบกับงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทมันเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยมากๆ แต่ลงทุนแล้วได้ผลประโยชน์มหาศาล

ถ้ารัฐบาลมีกรอบวิสัยทัศน์ มีกรอบการคิดการทำงบประมาณ คุณก็จะต้องมีการปฏิรูประบบราชการเพื่อปฏิรูประบบสารสนเทศของภาครัฐใหม่

https://www.youtube.com/watch?v=xE1u3f9ajt4