ในประเทศ / ‘ใคร’ ล็อก ‘คลาย’ ล็อก

ในประเทศ

 

‘ใคร’ ล็อก

‘คลาย’ ล็อก

 

ถ้าถามว่า ใครล็อกดาวน์ ก็ต้องตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถ้าถามต่อไปอีกว่า ใครคลายล็อก ก็ต้องตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์เช่นกัน

แล้วถามว่า พล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีเช่นไรในปัจจุบัน

 

พิจารณาจากท่าที พล.อ.ประยุทธ์ ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ที่กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการตามประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า วันนี้แม้สถานการณ์ดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับมาหลายวันแล้ว

แต่ต้องดูต่อ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

“อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายคนเรียกร้องให้ปลดนู่นปลดนี่ในเวลานี้ แต่ผมคิดว่าต้องระมัดระวังอย่างที่สุด และฟังข้อมูลด้านสาธารณสุขและแพทย์ด้วย รวมถึงมาตรการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้การตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายอย่าง แต่อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าเริ่มหรือปลดเร็วเกินไป สิ่งที่ตามมาหากแพร่ระบาดขึ้นอีก สิ่งที่ทำมาทั้งหมดด้วยระยะเวลานานล้มเหลวแล้วจะทำอย่างไร เป็นสิ่งที่ผมต้องดูแลเป็นพิเศษ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ส่วนการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า จะมีการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันอังคารหน้า (28 เมษายน) ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ สถิติต่างๆ ทางด้านการสาธารณสุขจะเป็นตัวชี้วัดสิ่งเหล่านี้

 

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์โยนไปยังข้อมูลสาธารณสุข

ก็คงต้องฟัง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.)

ที่ระบุว่า แม้จำนวนการติดเชื้อไวรัสลดลงตามลำดับ

แต่แนวทางการป้องกันการติดเชื้อระลอกใหม่ หรือ Second Wave ยังต้องเข้ม

เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยในต่างประเทศ

นพ.ทวีศิลป์ย้ำว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรืออีโอซี ได้มีการพุดคุยกันว่า จากนี้จะต้องมีการสื่อสารให้ตรงกันใน 3 เรื่อง หากมีมาตรการอะไรออกมาจากนี้

  1. ไม่ได้เป็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นการผ่อนปรน
  2. การผ่อนปรนนี้ต้องมองเห็นร่วมกันว่าเป็นการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งภาพใหญ่ของทั้งประเทศของมาตรการนี้คือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  3. ต้องมีจุดจัดการและปฏิบัติต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ เพราะในระดับจังหวัด โดยผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดให้ความร่วมมือ

ดังนั้น หากไม่ว่ามาตรการอะไรที่ ครม.จะประกาศออกมาในช่วงสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้าเพื่อผ่อนปรนในจังหวัดใด หรือช่วงเวลาไหนนั้น จะขึ้นกับสถิติที่นายกฯ บอกไว้ทั้งหมด

“แม้เรื่องสุขภาพกับปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราจะไล่เรียงลำดับกันขึ้นมา เพื่อให้ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน เรื่องสังคมจะได้ตามมา อย่างไรก็ตาม วันนี้เราอยู่ในตัวเลขสองหลักของผู้ติดเชื้อในแต่ละวัน ต้องช่วยกันให้ต่ำสิบให้ได้อย่างน้อยๆ 14 วัน เพื่อทำให้เห็นหน้าเห็นหลังของสถานการณ์” น.พ.ทวีศิลป์ระบุ

 

ประเมินจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ และ นพ.ทวีศิลป์ ข้างต้นแล้ว

เชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คงจะถูกต่ออายุออกไปอย่างแน่นอน

โดยอาจจะยืดออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน คือ ตลอดเดือนพฤษภาคม

เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ไขปัญหา

ยิ่งกว่านั้น การมีอำนาจตาม พ.ร.ก. ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถกำชับอำนาจมาอยู่ในมือ

สามารถขับเคลื่อนการบริหารภายใต้ความคุ้นชิน คุ้นเคยและถนัด

นั่นก็คือ ใช้ระบบราชการรวมศูนย์ สั่งการไปยังปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยราชการอื่นโดยตรง

ไม่ต้องผ่านเจ้ากระทรวงซึ่งเป็น “นักการเมือง” และเกี่ยวโยงไปยังพรรคการเมือง ที่ทำให้การตัดสินใจไม่รวมศูนย์

 

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ดึงอำนาจตรงนั้นมาไว้ในมือ

แม้จะมีการกล่าวหาทำนองว่า นี่เป็นการยึดอำนาจเงียบ แต่การชิงการนำมาไว้ที่ทำเนียบ โดยสามารถกันการเมืองออกไป

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถือว่าตนเองมีความคล่องตัวกว่า เบ็ดเสร็จกว่า

ไม่ต้องมาพะวงกับการช่วงชิงการนำ และดูเหมือนประชาชนจำนวนไม่น้อยก็สนับสนุนแนวทางนี้

ดังนั้น จึงชัดเจนว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินคงจะเดินหน้าต่อไป

เพราะนี่คือจุดเสริมความแข็งแกร่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากที่เสื่อมทรุดมาตลอดนับจากเป็นรัฐบาลผสมเป็นต้นมา

จึงไม่แปลกกับท่าทีอันเด็ดเดี่ยวของผู้นำรัฐบาล

ที่ย้ำว่าทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน

แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือสุขภาพ

ถ้ามีการบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร

สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะสูญเสียเป็นศูนย์ในทันที และจะเรียกกลับมาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน จึงจะมีมาตรการดังกล่าวมาได้

“อันนี้ขอให้รับทราบด้วย”

 

แม้จะขอให้ “รับทราบ” จากผู้นำรัฐบาล

แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ ขณะนี้ภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลงตามลำดับ

แต่มาตรการในเชิงบังคับ ทั้งการมีเคอร์ฟิว การห้ามร้านค้า ห้างสรรพสินค้าดำเนินธุรกิจ การห้ามเดินทาง การทำกิจกรรมทางสังคมที่มีการชุมนุมของคนมากๆ มิได้มีการผ่อนปรนลง

ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน คนตกงาน ไม่มีเงินใช้จ่าย เพื่อตอบสนองปัจจัย 4 สินค้าอุปโภคบริโภคก็ขาดแคลน หรือมีราคาแพง

ทำให้ทั้งคนจนเมือง ทั้งคนจนในชนบท ไม่มีจะกิน เกิดภาวะอดอยาก ต้องเปลี่ยนสภาพคนจนหาเช้ากินค่ำ กลายเป็นคนที่ต้องถูกสงเคราะห์ กลายเป็นผู้แบมือขอ

สร้างทั้งภาวะเดือดร้อน สร้างทั้งภาวะคับแค้นในการมีชีวิต

เหล่านี้เอง ทำให้เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลคลายล็อกลงบ้างก็ดังกระหึ่ม

เพราะแม้รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยา เช่น การจะช่วยเหลือให้ค่าตอบแทน 5,000 บาท 3 เดือน แต่ก็มากด้วยปัญหา มากด้วยความไม่เท่าเทียมและไม่ได้มาตรฐาน

เพิ่มความคับข้องใจยิ่งขึ้นไปอีก

จนต้องลดแรงกดดันด้วยการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับการเยียวยาจาก 9 ล้านคนเป็น 14 ล้านคน ซึ่งก็คงลดแรงกดดันลงระดับหนึ่ง

กระนั้น แม้รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563 จำนวนไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 จัดตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้จำนวน 4 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดย ธปท.มีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาทออกมา

แต่ก็ยังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ต้องใช้เวลาอีกตามสมควร

ทำให้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่เพียงพอและทั่วถึง

บางส่วนต้องไปเข้าคิวรอคอยคนนำอาหารมาแจก

เสียงร้องให้ผ่อนคลายล็อกที่มุ่งเน้นเรื่องโรคระบาดอย่างเดียว จึงดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ

ท่ามกลางข่าวร้ายโดยเฉพาะการจนมุม คิดสั้นถึงขั้นฆ่าตัวตาย มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แต่ดูเหมือนไม่มีการตอบสนองเท่าใดนัก

 

หรือที่มีการตอบสนองก็เป็นเพียงการเตรียมการ

อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมแนวทางการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยมีทีมที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม ปรากฏว่ามาตรการที่ถกกันและเห็นร่วมกันว่า เวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย

คนระดับล่างๆ จะทนไหวหรือไม่

นี่จึงทำให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะแกนนำคณะก้าวหน้า ได้แสดงความรู้สึกถึงการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ ว่า ต้องมีการรักษาสมดุลระหว่างการดำเนินการทางเศรษฐกิจ กับการหยุดยั้งการแพร่ระบาด

หากจะใช้วิธีการหยุดยั้งการแพร่ระบาดแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด หรือ semi-lockdown ต่อไป ก็ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

และรัฐบาลก็ต้องทำให้มั่นใจว่าการเตรียมการด้านสาธารณสุขมีการเตรียมการที่ดีขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทุกครั้ง

“ทั้งนี้ จะต้องมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกึ่งเปิดกึ่งปิด เมื่อผมลงพื้นที่ก็พบว่าคนเดือดร้อนจริงๆ อดตายกันหมด ผมจึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า อย่าให้ประชาชนอดตาย อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน” นายธนาธรกล่าว

แม้จะเป็นน้ำเสียงของนักการเมืองในสายตาของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่คำเตือน อย่าให้ประชาชนอดตาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง

และสอดคล้องกับเสียงของคนอีกจำนวนมากที่เห็นว่าคงต้องหาวิธีคลายล็อกที่เร็วกว่าเดิม

  เพื่อคลายทุกข์คนไทย