เกษียร เตชะพีระ | ยอค่าการเมือง (1)

เกษียร เตชะพีระ

(โจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์ และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษ แสดงปาฐกถารีธของบีบีซีประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่สอง : ยอค่าการเมือง (In Praise of Politics)

ดร.ซามูเอล จอห์นสัน ปราชญ์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 คิดว่านักการเมืองเข้าไปเล่นการเมืองเพียงเพราะหลงตัวเองและมักใหญ่ใฝ่สูง มาร์ก ทเวน เชื่อว่านักการเมืองนั้นทุจริตฉ้อฉลแล้วยังหัวทึบด้วย ส่วนจอร์จ ออร์เวลล์ ก็ปัดโลกการเมืองทิ้งอย่างฮาฮืออื้อฉาวว่ามันก็แค่ “กองขี้ปดมดเท็จ ปัดป่ายบ่ายเบี่ยง งี่เง่าไร้สติ เกลียดชังคั่งแค้นและอาการป่วยจิตเภท” เท่านั้นเอง ถ้อยคำทำนองนี้เป็นสำนวนจำเจอกาลิโก ซึ่งสะท้อนความรับเชื่อของทุกยุคสมัยรวมทั้งยุคของเราด้วยออกมาอย่างซื่อๆ ตรงๆ

ดังนั้น หัวข้อปาฐกถาตอนนี้อาจฟังดูยั่วให้แย้ง อย่างน้อยผมก็หวังว่ามันจะฟังเช่นนั้น เพราะผมอยากเถียงแทนแก้ต่างให้กระบวนการทางการเมืองรวมทั้งความไม่สมบูรณ์แบบประดามีของมันนั่นแหละ

ในปาฐกถาตอนก่อน ผมเถียงว่าการใฝ่หาความปกป้องคุ้มครองจากภัยคุกคามที่เล็งเห็นได้ต่อคุณค่าต่างๆ และสวัสดิภาพของเรานั้นได้ขยายบทบาทของรัฐในชีวิตของเราออกไปอย่างเหลือวิสัยที่จะหยั่งวัดได้

ในระบอบประชาธิปไตย รัฐรวมทั้งศักยภาพอันมหึมาของมันในการทำสิ่งดีงามและเลวร้ายนั้น ท้ายที่สุดแล้วย่อมอยู่ในมือเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง

นี่จึงเป็นที่มาแห่งภาวะอีหลักอีเหลื่อพิพักพิพ่วนอย่างใหญ่หลวงของประชาธิปไตยสมัยใหม่

กล่าวคือ เราจะควบคุมอำนาจของเสียงข้างมากแห่งประชาธิปไตยซึ่งมีศักยภาพจะกดขี่คนอื่นไว้ได้อย่างไร โดยไม่เป็นการบ่อนทำลายตัวประชาธิปไตยเสียเอง?

เรามาเริ่มกันด้วยคำถามพื้นฐานบางข้อดูนะครับ ทำไมคนเราถึงเชื่อฟังรัฐล่ะ?

ความกลัวถูกลงโทษเป็นคำตอบแค่บางส่วนและไม่ใช่ส่วนสำคัญด้วยซ้ำไป

โดยพื้นฐานแล้ว เราเชื่อฟังรัฐเพราะเรายอมรับความชอบธรรมของมัน ความชอบธรรมเป็นแนวคิดแก่นสารสำคัญทว่าไหลลื่นในกิจการของมนุษย์และมันก็เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของปาฐกถาของผมชุดนี้

ความชอบธรรมด้อยกว่ากฎหมาย ทว่ามากกว่าแค่ความคิดเห็น มันเป็นสัญชาตญาณรวมหมู่ว่า เพราะเราเห็นแก่กันและกันนั่นแหละถึงได้ยอมรับอำนาจหน้าที่ของสถาบันประดามีของเรา

ต่อให้ในยามที่เราไม่ชอบสิ่งที่สถาบันเหล่านั้นกำลังทำอยู่ก็ตาม มันพึ่งพาอาศัยสำนึกอันไม่ถูกเอ่ยออกมาว่าเรามีชะตากรรมร่วมกัน มันเป็นผลของความยึดเหนี่ยวร่วมกันทางประวัติศาสตร์ ของภาษา สถานที่และวัฒนธรรม

กล่าวโดยสรุปก็คือ มันเป็นผลของเอกลักษณ์รวมหมู่นั่นเอง ทว่าแม้ในยุคสมัยที่เอกลักษณ์รวมหมู่ทั้งหลายตกอยู่ใต้แรงกดดัน ความชอบธรรมก็ยังคงเป็นพื้นฐานของความยินยอมทั้งปวง ทั้งนี้เพราะถึงแม้รัฐสมัยใหม่จะมีอำนาจมหาศาล มันก็ยังคงต้องพึ่งพาความยินยอมโดยนัยมากพอควร

การที่บรรดารัฐบาลคอมมิวนิสต์ของยุโรปตะวันออกจู่ๆ ก็พากันล้มครืนลงปลายคริสต์ศตวรรษที่แล้วนั้นนับเป็นบทเรียนเตือนสติเรื่องความสำคัญของความชอบธรรม

กระทั่งในรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ การปกครองพลเมืองก็ล่มสลายลง ณ จังหวะที่ความยินยอมโดยนัยล้มเหลวและอุดมการณ์ก็มิอาจเติมเต็มช่องว่างนั้นได้

หากนั่นเป็นจริงในกรณีระบอบเผด็จการโดยพรรคทั้งหลายของยุโรปตะวันออกซึ่งพรั่งพร้อมด้วยกลไกควบคุมทางสังคมที่ข่มขวัญผู้คนแล้ว มันจะเป็นจริงมากขึ้นถึงเพียงไหนในกรณีสังคมที่ค่อนข้างเสรีเช่นของเรา?

ความชอบธรรมแห่งปฏิบัติการของรัฐในระบอบประชาธิปไตยย่อมขึ้นอยู่กับการยอมรับกระบวนการตัดสินใจของมันโดยทั่วไป ทั้งนี้ ไม่จำต้องหมายถึงการยอมรับมติการตัดสินใจนั้นโดยตัวมันเอง ทว่าหมายถึงการยอมรับวิธีการลงมติตัดสินใจต่างหาก สังคมเสรีประกอบไปด้วยปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนนับไม่ถ้วนซึ่งมีความเห็นและผลประโยชน์ขัดกัน ภาระหน้าที่แรกของระบบการเมืองใดก็ตามทีได้แก่การปรองดองรองรับความแตกต่างเหล่านี้ไว้ด้วยกันเพื่อที่ผู้คนจะอยู่ด้วยกันได้ในชุมชนเดียวโดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกันอย่างเป็นระบบ

ระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายดำเนินการบนพื้นฐานโดยนัยที่ว่าถึงแม้เสียงข้างมากจะอนุมัตินโยบายต่างๆ ซึ่งเสียงข้างน้อยประณาม แต่ความแตกต่างเหล่านี้ก็ถูกข้ามพ้นไปโดยทั้งสองฝ่ายร่วมกันยอมรับความชอบธรรมของกระบวนการตัดสินใจของมัน เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวเองว่าการปกครองโดยเสียงข้างมากเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ทว่านั่นก็หมายความแค่ว่าเสียงข้างมากนั้นเพียงพอที่จะอนุมัติให้รัฐกระทำการต่างๆ ได้

แต่มันหาได้เพียงพอที่จะทำให้การกระทำเหล่านั้นชอบธรรมไม่

นั่นก็เพราะการปกครองโดยเสียงข้างมากหาได้เป็นอะไรมากไปกว่ากฎกติกาของการตัดสินใจไม่ มันไม่ได้ช่วยปรองดองรองรับความแตกต่างของพวกเราไว้เลย มันก็แค่กล่าวย้ำความแตกต่างที่ว่าออกมาในเชิงตัวเลขเท่านั้นเอง

ประชาธิปไตยมิอาจดำเนินการบนพื้นฐานหลักการที่ว่าลำพังแค่มีเสียงข้างมากก็พอแล้วที่จะได้สินศึกทางการเมืองไปร้อยทั้งร้อย หากเป็นเช่นนั้น ประชาธิปไตยก็จะเป็นที่พำนักของกลุ่มชนขนาดใหญ่ต่างๆ ผู้ไม่พอใจอย่างถาวรอยู่ในใจกลางของตนซึ่งหาได้มีความผูกพันร่วมกันกับเสียงข้างมากที่จะข้ามพ้นความแตกต่างระหว่างกันที่มีอยู่แต่อย่างใดไม่ ก็แลรัฐที่ตั้งอยู่บนหลักการนั้นย่อมหมดสิ้นสภาพที่เป็นชุมชนการเมืองไปอย่างรวดเร็ว

นั่นคือเหตุผลที่ทำไมระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายจึงวิวัฒน์คลี่คลายวิธีการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อจำกัดหรือเจือจางอำนาจเสียงข้างมากลง

ผมใคร่ขอพูดถึงวิธีการดังกล่าวนั้นสองประการ เอาเข้าจริงแล้วที่สำคัญก็มีแค่วิธีการสองประการนี้เท่านั้นแหละครับ

ประการหนึ่งได้แก่ การเมืองแบบแทนตน (representative politics)

ส่วนอีกประการได้แก่ กฎหมาย

เมืองเบอร์มิ่งแฮมที่ผมกำลังแสดงปาฐกถาอยู่นี้อาจกล่าวอ้างโดยชอบได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของการเมืองแบบแทนตน ในการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่พระราชบัญญัติปฏิรูปปี ค.ศ.1832 อันยิ่งใหญ่นั้น ธอมัส แอตวูด กับสหภาพการเมืองเบอร์มิ่งแฮมเป็นหัวใจของการรณรงค์ให้มีผู้แทนในรัฐสภาจากทั่วทั้งบริเตน

ทุกวันนี้ กล่าวในทางทฤษฎีแล้ว เราสามารถยกเลิกการเมืองแบบแทนตนได้ อันที่จริงเราอาจยกเลิกการเมืองแบบที่เรารู้จักไปได้เลยทีเดียว นั่นก็เพราะนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่พลเมืองทั้งมวลของกรุงเอเธนส์ในยุคโบราณมารวมตัวกัน ณ สนามราษฎร์ใจกลางเมือง (the Agora) เพื่อดำเนินกิจการส่วนรวมกันนั้น บัดนี้มันเป็นไปได้แล้วในทางเทคนิคที่ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะโหวตกันโดยตรงในทุกๆ มาตรการ แต่ในทางเป็นจริง ก็ไม่มีระบอบประชาธิปไตยใดดำเนินการเช่นนั้น ระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายดำเนินการผ่านสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้งมา ที่พวกเขาทำเช่นนั้นหาใช่เพียงเพราะเหตุผลทางปฏิบัติไม่ หากเป็นเพราะเหตุผลเชิงหลักการเลยทีเดียว

ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งของเจมส์ เมดิสัน ที่ร่วมสมทบส่วนอยู่ในเดอะเฟเดอรัลลิสต์เปเปอร์ เอกสารความคิดการเมืองอเมริกันนั้น หัวเรี่ยวหัวแรงในการยกร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐผู้นี้ได้ยกเหตุผลคลาสสิคที่ให้ความชอบธรรมแก่หลักการแทนตนมาแสดงไว้

กล่าวคือ น่าจะเป็นไปได้น้อยกว่าที่คณะพลเมืองซึ่งถูกคัดเลือกมาจะยอมสละผลประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศเพื่อเห็นแก่ข้อคำนึงระยะสั้น แรงดลใจโดยไม่ยั้งคิดหรือผลประโยชน์เฉพาะส่วนทั้งหลายแหล่ เขาเขียนว่า “ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ว่านั้น อาจเป็นได้ว่าเสียงสาธารณะที่เปล่งโดยบรรดาผู้แทนราษฎรจะคล้องจองกับประโยชน์สุขส่วนรวมกว่าที่ราษฎรเปล่งออกมาเอง”

ในประเทศอังกฤษ เอ็ดมันด์ เบิร์ก นักการเมืองและนักปรัชญาร่วมสมัยกับเมดิสัน ผลักความคิดที่ว่านี้ไกลออกไปอีก เขากล่าวว่า “รัฐสภาไม่ใช่สภาของเอกอัครราชทูต สมาชิกรัฐสภาอยู่ที่นั่นเพื่อแทนตนผลประโยชน์แห่งชาติ หาใช่เพื่อแทนตนความคิดเห็นของบรรดาผู้อยู่ในเขตเลือกตั้งของตนไม่”

เอาละครับ ทรรศนะเยี่ยงนี้อาจเรียกได้ว่านิยมชนชั้นนำ และมันก็นิยมชนชั้นนำจริงๆ นั่นแหละ แต่ชนชั้นนำทางการเมืองก็มีประโยชน์ของมันอยู่ เราอาจคาดหวังได้โดยชอบว่านักการเมืองอาชีพทั้งหลายจะทำงานของตนด้วยแนวทางที่คิดใคร่ครวญยิ่งกว่า ทีทรรศน์ที่กว้างขวางกว่า และข้อมูลที่มากมายกว่าบรรดาผู้เลือกตั้งตนมา

แต่ก็ยังมีประเด็นมูลฐานกว่านี้อยู่อีก นั่นคือชาติทั้งปวงย่อมมีผลประโยชน์รวมหมู่ซึ่งยืนนานกว่าและปกคลุมขอบเขตทางภูมิศาสตร์กว้างขวางกว่าที่มติมหาชนน่าจะมีวันสะท้อนออกมาได้ในชั่วขณะหนึ่งๆ

(ต่อสัปดาห์หน้า)