เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | จาระไนกับเจียระไน

“…เล็บตีนเล็บมือเขานั้นดังค้างคาว และใหญ่ยาวนักหนา สมควรด้วยตัวอันใหญ่นั้น เล็บนั้นสมนักหนา ผิและเกาะแห่งใดก็ติดอยู่แห่งนั้น เขาเอาเล็บเขานั้นเกาะกำแพงจักรวาลมั่นหน่วงอยู่ และเขาห้อยตนเขาอยู่ดังค้างคาวนั้นแล

“เมื่อเขาอยากอาหารไส้ เขามิได้ไปหาเพื่อจะกิน ครั้นได้ต้องมือกันเข้าไส้ ใจเขานึกว่าเขากิน ก็จับกุมกันกินคนผู้หนึ่ง ก็นึกว่าเขากิน จึงคนทั้งสองนั้นก็จับกุมกันกิน ต่างคนต่างตะครุบกันกิน ก็รัดเอาด้วยกันทั้งสองคน…ฯ”

นี้คือภาพนรกภูมิชั้นโลกันต์จากหนังสือ “ไตรภูมิพระร่วง” ของพญาลิไทย วรรณกรรมเก่าครั้งกรุงสุโขทัย

เห็นภาพไวรัสค้างคาวไหม

“เขา” ในทีนี้ไม่ได้หมายถึงค้างคาว หากหมายถึงคนทำชั่วประเภทหนึ่ง เมื่อตายแล้วตกนรกชั้นนี้จะมีสภาพ “ดังค้างคาว” ตามบรรยายนั้น

น่าสังเกตคือ การ “จับกุมกันกิน” แค่ “ต้องมือกัน”

นี่กระมังเป็นที่มาว่า โรคห่าไวรัสติดมาจากค้างคาว จึงขอเรียก “ไวรัสค้างคาว” โดยอนุโลม

มันไม่ได้ “กินคน” จริงๆ ดังประโยคว่า

เมื่อเขาอยากอาหาร” และ “เขามิได้ไปหาเพื่อจะกิน” เพียงแค่ “ต้องมือกัน” คือแตะมือก็นึกว่ากินแล้ว

นี่ไง “จับกุมกันกิน” และ “ต่างตะครุบกันกิน”…สยดสยองนัก เหมือนโควิด-19 วันนี้เลย

ดังว่าอยู่กับบ้าน อ่านหนังสือเหมือนได้เจียระไนเพชรพลอย

คือเก็บเอาสาระทั้งในบรรทัดและระหว่างบรรทัดมาขบมาคิดต่อ ทำให้ได้ความรู้สึกว่า ทั้ง “เพลิดเพลิน” และ “เพริดภูมิ”

เพริดอันหลังนี้คือได้สัมผัสกับ “ภูมิปราชญ์” ซึ่งสำแดงไว้อย่างลึกซึ้ง เหมือนท้าทายให้ถอด “รหัสธรรม”

ขอถอดเป็นกลอนเพื่อให้จำง่ายไว้ก่อนดังนี้

ไอ้ผีห่าผีโหงกรงเล็บยาว

เหมือนค้างคาวปีศาจบินผาดผัน

สยองแค่แตะนิดก็ติดพลัน

ขุมนรกโลกันต์โลกวันนี้!

อ่านจบเขียนกลอนขมวดไว้ เลยพานให้เตลิดคิดไปถึงความแตกต่างระหว่างร้อยแก้วกับร้อยกรอง

มันแตกต่างกันประมาณว่า

ร้อยแก้วเป็นการจาระไนใจความ

ร้อยกรองเป็นการเจียระไนใจคำ

คือร้อยแก้วใช้วิธีบรรยายเรื่องเล่าเรื่อง และใช้วิธีอันหลากหลายเพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับความรู้สึกนึกคิดที่ผู้เขียนต้องการ

จึงว่าจาระไนใจความ

ส่วนร้อยกรองมุ่งพรรณนาโวหาร เลือกจังหวะและเสียงคำมาถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกนึกคิดตามได้เองเป็นสำคัญ

จึงว่า เจียระไนใจคำ

ดังเคยนิยามว่า บทกวีคือเพชรพลอยของถ้อยคำ อันเจียระไนจากผลึกของความคิด

นี้คือ “ใจคำ” คือคำที่เจียระไนจากใจ

เพราะฉะนั้น ทุกคำต้องมีใจ คือมีชีวิตชีวา

ฉันทลักษณ์เป็นเพียงรูปแบบ ดังเรือนแหวนที่รองรับอัญมณีแห่งถ้อยคำเท่านั้น

ดังนั้น บทร้อยแก้วที่พรรณนาโวหารได้ดีก็เป็นคำกวีได้ เพียงไม่ได้เรียงร้อยและกรองคำด้วยฉันทลักษณ์เท่านั้น จึงเรียกว่ากวีไร้ฉันทลักษณ์ หรือลำนำอิสระ กระทั่งเรียกกลอนเปล่านั้น

เคยอ่านเรื่องของ “รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือพี่ปุ๊ของแวดวงนักเขียน บรรยายเป็นร้อยแก้วด้วยคำกวีไพเราะดังนี้

“…แดดเที่ยงปรุใบกระถิน ฉลักฝอยลายลงบนผิวดินชื้น…”

นี่แหละกวีสมบูรณ์แบบจนมิอาจตัดเติมเสริมต่อทั้งด้วยคำหรือรูปแบบใดๆ ได้เลย

ติดใจประโยคหนึ่งจากเรื่องแปล MY NAME IS RED ของออร์ฮาน ปามุก นักเขียนตุรกี รางวัลโนเบล สำนวนแปลโดย นันทวัน เติมแสงสิริศักดิ์

ประโยคนั้นว่า

“ภาพวาดคือความเงียบทางความคิดและเสียงดนตรีขับกล่อมสายตา”

ต้องใช้คำว่า “อ้องอิ่ง” อยู่กับประโยคนี้เป็นนานเพื่อทำความเข้าใจว่า คืออะไร หมายถึงอะไร และอย่างไร

ที่สุดจึงพยายามกรองหรือเจียระไนออกมาเป็นกลอนได้ประมาณนี้ว่า

ละเส้นหวานปานร้อยถ้อยทีทัศน์

ทั้งช้อยชัดฉวัดเว้นเล่นแสงสี

สงบงามความคิดวิจิตรวจี

ทิพย์ดนตรีพริ้งพร้อมกล่อมสายตา

ได้เข้าใจสุนทรีย์ของงานจิตรกรรมในอีกมิติหนึ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนเลย

และดนตรีนี่เองช่วยเติมเต็มได้ในทุกมิติของงานศิลปะ สมดังคำปราชญ์ขงจื๊อที่ว่า

มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี

มั่นคงด้วยศีลธรรม

เติมเต็มด้วยดนตรี

จริงด้วยภาพวาดหรือรูปเขียนดีๆ นั้นสะกดตาสะกดใจเราได้กระทั่งเหมือนจะแว่วเสียงดนตรีแผ่วทำนองจำเรียงมาขับกล่อม ซึ่งมิอาจสดับได้ด้วยโสตประสาท หากนี่แหละคือ ดนตรีแห่งสายตา อันมีอยู่ในงานจิตรกรรมดีๆ

มัวถอดรหัสวรรณกรรมเลยไม่ได้ถอดรหัสธรรมจากผีนรกโลกันต์ดังยกมาข้างต้นนั้น

ซึ่งอวสานของผีนรกชิ้นนี้ สุดท้ายโดยจาระไนความว่า

“…เขาตายเขาเป็นอยู่ดังนั้นหลายคาบหลายครานักหนาแล แต่เขาทนทุกขเวทนาอยู่ที่นั้นช้าหึงนานนัก ชั่วพุทธันดรกัลป์หนึ่งแล ฯ”

โลกไม่ใช่นรกโลกันต์นะเว้ยเจ้าผีนรก

เข้าใจผิดแล้ว