ยานยนต์ สุดสัปดาห์ /สันติ จิรพรพนิต /ซิ่งเต็มเท้า ‘นิสสัน อัลเมร่า’ เก๋งเล็กเทอร์โบ-แรงได้อีก

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์ /สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ซิ่งเต็มเท้า ‘นิสสัน อัลเมร่า’

เก๋งเล็กเทอร์โบ-แรงได้อีก

 

ต้องบอกว่าช่วงนี้เพลิดเพลินกับการทดสอบรถยนต์อย่างมาก เนื่องจากได้รถมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งถนนหนทางก็โล่งโจ้งจากพิษโควิด-19

พลอยทำให้การทดสอบรถสนุกและทำความเร็วได้มากขึ้น

สัปดาห์นี้ได้รถเล็กรุ่นดังที่สร้างความฮือฮาอย่างมากเมื่อเปิดตัว

“นิสสัน อัลเมร่า” อีโคคาร์ 4 ประตู พลังเทอร์โบ

โดยก่อนหน้าผมได้ลองของ “ฮอนด้า ซิตี้” ที่ลดพิกัดมาอยู่ในอีโคคาร์ และเครื่องยนต์ประเภทเดียวกันคือ 1.0 ลิตรเทอร์โบ

ถ้าจะให้คาดการณ์ถึงไม่ใช่ “นอสตราดามุส” ก็คงบอกได้เลาๆ ว่า ต่อไปอีโคคาร์เมืองไทยน่าจะ “ผูกโบ” กันเกือบทุกค่าย

เพราะการที่ฮอนด้าและนิสสัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่ออีโคคาร์เมืองไทย นำร่องด้วยเครื่องยนต์เทอร์โบ จึงกินขาดค่ายอื่นๆ ที่หากยังกระมิดกระเมี้ยนใช้เครื่องเบนซินธรรมดาเหมือนที่ผ่านๆ มา

แถมปัจจุบันค่ายส่วนใหญ่ฟรีค่าบำรุงรักษาอย่างน้อยๆ 4-5 ปี เจ้าของรถจ่ายแค่อุปกรณ์สิ้นเปลืองพวกของเหลวต่างๆ จึงไม่ต้องกังวลว่าเครื่องเทอร์โบใช้ไปๆ จะมีปัญหาหรือเปล่า

เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันถือว่าทนทานในระดับหนึ่ง กรณีใช้งานปกติ

 

“นิสสัน อัลเมร่า ใหม่” ทิ้งเค้าเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ออกแบบได้ดูสปอร์ตมากขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นที่แล้วซึ่งเน้นความเป็นรถเล็กขนาดใหญ่

รุ่นที่ได้มาเป็นตัวท็อป “VL” หน้าตาโฉบเฉี่ยวสวยงาม กระจังหน้าวีเชฟเอกลักษณ์ของนิสสันในรุ่นหลังๆ ทั้งหมด

บริเวณกลางกลางเป็นโลโก้ขนาดใหญ่ ติดตั้งเซ็นเซอร์พร้อมระบบเตือนการชน และช่วยเบรกด้านหน้า

มิติตัวถังหากดูตามสเป๊กคือ (กว้าง x ยาว x สูง) 1,740 x 4,495 x 1,460 ม.ม. ฐานล้อ 2,620 ม.ม. ยาวและกว้างกว่ารุ่นเก่าเล็กน้อย

แต่หากมองภาพรวมไม่รู้สึกว่าใหญ่ขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการออกแบบที่ดูสปอร์ตกว่านั่นเอง

ไฟหน้าทรงบูมเมอแรงแบบแอลอีดี มีเส้นคิ้วด้านบนหรือ “LED Signature Light” แต่ไม่มีไฟเดย์ไทม์มาให้

กระจกมองข้างฝังอยู่กับประตูพร้อมไฟเลี้ยวในตัว

ไฟท้ายแบบ LED เช่นกัน

เสาด้านหลังตัวรถถูกออกแบบให้กลมกลืนสง่างามยิ่งขึ้น พร้อมด้วยซุ้มล้อที่ดูชัดเจน

รองเท้าทั้ง 4 มีขนาด 15 นิ้ว

 

ภายในใช้สีทูโทนดำกับเบส เสริมด้วยวัสดุสีเงิน แผงแดชบอร์ดด้านหน้าบุด้วยหนังนุ่ม ส่วนคอนโซลพลาสติกขึ้นรูป

พวงมาลัยแบบท้ายตัดพร้อมระบบมัลติฟังก์ชั่นปรับได้ 4 ทิศทาง (ขึ้น-ลง, เข้า-ออก)

มาตรวัดแบบเรืองแสง Fine Vision Meter แบบ Digital หน้าจอสี TFT 7 นิ้วอยู่ด้านซ้าย ปรับเปลี่ยนได้หลากรูปแบบ ทั้งเรียกดูข้อมูลต่างๆ หรือจะปรับเป็นมาตรวัดความเร็วรอบก็ได้เช่นกัน ส่วนด้านขวาเป็นมาตรความเร็ว

ระบบอินโฟเทนเมนต์ผ่านหน้าจอขนาด 8 นิ้ว อาจไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็ถือว่าใช้งานได้ดี

ระบบข้อมูลและความบันเทิง Nissan Connect พร้อมช่องเชื่อมต่อ Bluetooth, USB และ AUX IN สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์สมาร์ตโฟนอย่าง Apple CarPlay ลำโพง 6 จุด

ช่องยูเอสบีจัดมาให้ถึง 3 จุด บริเวณใต้จอ ช่องเก็บของ และด้านหลังที่เท้าแขนคนขับสำหรับผู้โดยสารตอนหลัง

ระบบแอร์แบบอัตโนมัติ

ไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า ไฟส่องสว่างภายในห้องโดยสาร

คันเกียร์หุ้มหนังแซมด้วยสีเงินดูสปอร์ต มีปุ่มสตาร์ต-สต๊อปอยู่บริเวณคอนโซลเกียร์นี่เอง ดูแปลกตาหน่อยๆ เพราะปกติจะวางอยู่ใกล้พวงมาลัยมากกว่า

เบาะผ้าสีดำตัดขอบสีเทา ขนาดพอดีตัวไปหน่อย หากคนรูปร่างอวบๆ อาจรู้สึกไม่กระชับสักเท่าไหร่

 

กดปุ่มสตาร์ตเบาๆ เครื่องยนต์ DOHC 3 สูบ ความจุ 999 ซีซี เทอร์โบ กำลังสูงสุด 100 แรงม้า แรงบิด 152 นิวตัน-เมตร กระหึ่มขึ้นมา

การออกตัวด้วยเกียร์ XTRONIC CVT มาเร็วและแรงเกินคาด

รถพุ่งวาบอย่างดุดัน จากนั้นความเร็วไต่ขึ้นเรื่อยๆ

ต้น-กลางนั้นมาเร็วมากจนไปแตะๆ 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากนั้นเริ่มใช้เวลาเล็กน้อย ก่อนที่เข็มความเร็วจะวาดไปถึง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง

นั่นยังไม่ที่สุดนะครับ เพราะจากที่ว่างของคันเร่งน่าจะเติมได้อีกหน่อย

แต่เพราะคิดว่ารถอีโคคาร์วิ่งได้ขนาดนี้ถือว่าเกินตัวแล้ว บวกกับทริปนี้ผมเน้นใช้งานในเมืองมากกว่า จะมีวิ่งรอบนอกบ้างไม่มากนัก เหยียบเร็วๆ เกรงใจเพื่อนร่วมถนน

ช่วงขับแรกๆ ตกใจกับความกระด้างและกระเด้งกระดอน

พอเช็กลมยางเท่านั้นลมแทบจับ ด้านหน้าเติมมา 38 ด้านหลัง 35

ลงมาดูมาตรฐานลมยางของรถที่ติดอยู่ตัวถังด้านประตูคนขับ

ตาเหลือกสิครับ…เพราะที่เติมมาเป็นมาตรฐานของรถอยู่แล้ว

อั่ยย่ะ…ไม่เคยเจอเก๋งเล็กเติมลมมากขนาดนี้เลย

ถึงแม้จะเป็นค่ามาตรฐานจากโรงงาน แต่ผมทำใจไม่ได้อยู่ดี เพราะปกติเป็นคนชอบขับรถนุ่มๆ หรือแข็งนิดๆ พอได้อารมณ์สปอร์ต

จัดการปล่อยลมออก ด้านหน้าเหลือ 34 ด้านหลัง 33

ผลคือนุ่มขึ้นเยอะ แม้ช่วงออกตัวจะหน่วงหน่อยๆ แต่ถ้าไม่จับอาการแทบไม่รู้สึก

ระบบช่วงล่างยอดนิยม ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต/เหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม/เหล็กกันโคลง

 

การขับขี่ด้วยโหมดธรรมดาถือว่าสนุกแล้ว หากปรับเป็นสปอร์ตยิ่งลากรอบได้มันขึ้น อัตราเร่งกระชับขึ้น

มีปุ่มเปลี่ยนอยู่ที่หลังหัวเกียร์ เป็นตำแหน่งแปลกๆ อยู่หน่อย เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ด้านข้างหัวเกียร์ หรือไม่ก็ปรับที่การลากเกียร์ลงต่ำกว่าตำแหน่ง “D” ไปเลย

ส่วนเกียร์ที่หลังตำแหน่ง “D” จะเป็นเกียร์ “L” เพื่อช่วยในการเรียกกำลังเวลาขึ้นเนิน

การเก็บเสียงถือว่าทำได้ตามมาตรฐาน ความเร็วต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง แทบไม่ได้ยิน แต่ถ้ามากกว่านั้นเสียงพอเข้ามาบ้าง

แน่นอนว่าถ้าซัด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป อื้ออึงพอสมควร

ความเร็วปกติการควบคุมพวงมาลัย ระบบความเสถียรของช่วงล่างทำได้ดี แต่ถ้าเร็วมากๆ ต้องกระชับพวงมาลัยขึ้นอีกหน่อย เพราะเวลาเปลี่ยนเลนเร็วๆ มีอาการโยนเล็กๆ

แต่อย่างที่ผมมักบอกเป็นประจำว่ารถแต่ละเซ็กเมนต์ ทำมาด้วยวัตถุประสงค์ต่าง

หากซื้อรถอีโคคาร์ ที่เจตนาหลักคือใช้ในเมือง แล้วจะเหยียบแบบสะบั้นหั่นแหลกก็ใช่เรื่อง

จากที่ลองขับมาความเร็วมากหน่อย เช่น 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังควบคุมรถได้ดี

ยิ่งถ้าประคองไว้ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บอกเลยว่าขับได้แบบชิลชิล ทั้งพวงมาลัยและช่วงล่างนิ่งดีมาก

แน่นอนว่าอีกจุดเด่นที่ไม่พลาดของนิสสัน คือกล้องมองรอบคันที่ติดตั้งมาให้ และคราวนี้ภาพจะส่งมาที่จอกลางขนาด 8 นิ้ว มองเห็นชัดแจ่มขึ้น

เทคโนโลยีความปลอดภัยและตัวช่วยอื่นๆ มาครบพอสมควรหากเทียบกับราคา

“นิสสัน อัลเมร่า ใหม่” เป็นรถเล็กที่ขับสนุกมากๆ และคุ้มค่ากับราคา 639,000 บาท

ส่วนรุ่นรองๆ ลงไป เริ่มต้นที่ 499,000-599,000 บาท