โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญพระสังฆราชเจ้า

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า

กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

 

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2463 ที่ระลึกในพิธีทรงบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชนมายุครบ 60 พรรษา

ลักษณะเป็นเหรียญทรงรูปไข่ มีหูในตัว ขนาดกว้าง 2.8 เซนติเมตร ขนาดยาว 3.5 เซนติเมตร

ด้านหน้าเหรียญ เป็นพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ด้านซ้ายของเหรียญ เบื้องบนเป็นรูปเพชรเปล่งรัศมี อันหมายถึง “วชิร” เบื้องล่างเป็นอักษรอริยกะ ซึ่งเป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น ความว่า “มนุสฺสนาโค วชิรญาณวโรรส”

ด้านหลังเหรียญ เบื้องบนเป็นรูปดอกบัวบานเหนือน้ำ ตรงกลางเหรียญ เป็นอักษรอ่านว่า “อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ” (ความหมายว่า “ผู้กราบไหว้ อ่อนน้อมถ่อมตัว ต่อผู้ใหญ่เป็นนิจศีล ย่อมเจริญด้วยคุณธรรมสี่ประการคือ อายุ ชื่อเสียง สุข และกำลัง”) ล่างสุดเป็นเลข “๒๔๖๓” ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ.ที่จัดสร้างเหรียญนี้

เป็นเหรียญที่หายากอีกเหรียญ

เหรียญสมเด็จพระมหาสมณเจ้า พ.ศ.2463 (หน้า-หลัง)

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 7 ค่ำ ปีวอก จ.ศ.1221 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน 2403

เมื่อวันประสูติ ฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถ จึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต พระราชทานนามว่า พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ

หลังจากประสูติเพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม พระองค์จึงทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของกรมหลวงวรเสฐสุดา (พระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระญาติ

พระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2422 สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์, พระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จันทรังสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ทรงผนวชแล้วเสด็จมาอยู่จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

 

หลังจากทรงจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 1 พรรษา เสด็จไปจำพรรษาที่ 2 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ในสำนักของพระจันทโคจรคุณ (ยิ้ม) ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ในระหว่างที่ประทับ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ทรงทำทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น โดยพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เดช ฐานจาโร) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส แต่ครั้งยังเป็นพระเปรียญอยู่วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ โบสถ์แพ หน้าวัดราชาธิวาส เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2422

พ.ศ.2434 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารสืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ นับเป็นเจ้าอาวาสพระองค์ที่ 3

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2449 พระองค์ได้รับสถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส

 

และเมื่อปี พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ ทั้งกรุงเทพมหานครและหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต และเลื่อนพระอิสริยยศจากกรมหลวงขึ้นเป็นกรมพระยา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ เปลี่ยนคำนำพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเป็นพระองค์แรก

พระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย อีกทั้งทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย สำหรับเป็นสถานศึกษาวิทยาการทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม สำหรับพระภิกษุ-สามเณร และกุลบุตร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

งานพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอก หลักสูตรบาลี ไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ทั้งหมดมีมากกว่า 200 เรื่อง นอกจากนี้ ยังทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้กว่า 20 คัมภีร์

ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

นอกจากนี้ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ อีกหลายพระองค์

 

สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2464 สิริรวมพระชันษาได้ 61 ปี ครองวัดบวรนิเวศวิหารนาน 30 ปี ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 10 ปี 7 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 ได้ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ