จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2563

จดหมาย

0 ไฟฟ้าแพง

ตามที่มีผู้ใช้ไฟฟ้าร้องเรียนว่าค่าไฟฟ้าในเดือนรอบบิลที่ผ่านมา ทำไมจึงมีราคาแพงแบบก้าวกระโดด

กรณีดังกล่าว เป็นความผิดพลาดของการบริหารจัดการระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งระบบของรัฐบาล

ตั้งแต่การฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

โดยให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้ามากเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเกินกว่า 70% ไปแล้ว

มีการทำสัญญาซื้อ-ขายถาวรล่วงหน้า

ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาได้

เพราะโรงไฟฟ้าของรัฐผลิตได้ไม่ถึง 30% นั่นเอง

ทำให้ขณะนี้มีปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้ามากถึง 43,372 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อมาจากเอกชน

ขณะที่ปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 28,338 เมกะวัตต์ (สถิติใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดเมื่อปี 2562 เพียง 32,272 เมกะวัตต์)

ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้เหลือทิ้งเป็นปริมาณที่สูงมาก

ภาครัฐต้องฉกเงินจากกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนโดยผ่านค่า  FT ไปจ่ายให้เอกชนตลอดเวลา

รวมทั้งการคิดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได

คือใช้จำนวนมากก็เสียค่าไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งๆ ที่ควรเรียกเก็บตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าตามจำนวนหน่วยต่อเดือนจากปริมาณการใช้จริง

ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องมีคำตอบ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลโดย กกพ.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าทั้งหลาย

ทั้ง กฟผ. – กฟน. และ กฟภ. ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท

ตั้งแต่บิลค่าไฟฟ้างวดเดือนเมษายน-มิถุนายน รวม 3 เดือน

นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการช่วยเหลือประชาชนแบบจิ๊บๆ เท่านั้น

แต่ทำมาเป็นคุยโวเสียใหญ่โตว่าได้ช่วยประชาชนในยุคโควิด-19 แล้ว

ทั้งๆ ที่ควรจะลดค่าไฟฟ้าให้ทุกครัวเรือน 50% ในยามที่ต้องอยู่บ้าน หนีภัยโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนในระยะยาวต้องเร่งลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนลงมาให้ได้ 50% จึงจะชอบ

การที่หลายบ้านได้รับบิลค่าไฟฟ้าแพงมหาโหด ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะแพงขนาดนั้นและได้ส่วนลด 3%

เรื่องนี้อาจมีกลเล่ห์ฉลที่ซ่อนเงื่อนงำไว้อีกมาก

รัฐบาลโดยหน่วยงานไฟฟ้า และผู้กำกับไฟฟ้า ไม่ได้บอกความจริงต่อประชาชนทั้งหมด

โดยเฉพาะการเตรียมการการจ่ายโบนัสให้พนักงานอย่างมากมายอู้ฟู่

รวมทั้งการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การผลิต การส่ง การบำรุงรักษาไฟฟ้าที่ราคาแพงเวอร์ๆ

เป็นต้นทุนของการไฟฟ้าที่ผลักภาระมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนช่วยรับผิดชอบทั้งสิ้น

ซึ่งเรื่องนี้จะนำหลักฐานไปร้องเรียนให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบในเร็วๆ นี้

นายศรีสุวรรณ จรรยา

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ลดค่าไฟให้ 3 เดือน

พอใจไหม

แต่บางเรื่องที่ว่า มีเล่ห์ มีฉล นั้น

ก็น่าไปร้องให้สอบเนาะ (ฮา)

 

0 6 ปีกับความหวังริบหรี่ “บิลลี่”

ครอบครัวของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง พบเห็นเขาเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อหกปีก่อน วันที่ 17 เมษายน 2557

เขาหายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา การสอบสวนของรัฐบาลไทยต่อการหายตัวไปของบิลลี่มีความคืบหน้าอย่างมาก

แต่พนักงานอัยการกลับสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีร้ายแรงเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ความหวังที่จะได้รับความยุติธรรมของครอบครัวบิลลี่ก็ริบหรี่ลง

ในโอกาสครบรอบการหายตัวไปของเขา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องอีกครั้ง

ให้ทางการรับประกันว่า ครอบครัวของบิลลี่สามารถเข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ควรมีผู้ถูกลงโทษจากการเสียชีวิตของเขา

การขาดความยุติธรรมเนื่องจากการหายตัวไปของบิลลี่

เน้นให้เห็นถึงการต่อสู้ของครอบครัวที่ต้องเผชิญกับวงจรการละเมิดครั้งแล้วครั้งเล่า

ตั้งแต่ถูกบังคับไล่รื้อและทำลายทรัพย์สินในปี 2553 และ 2554

การขู่ฆ่าเนื่องจากเรียกร้องการเยียวยาต่อความเสียหายเหล่านั้นการหายตัวไปของบิลลี่ในปี 2557

และการที่ไม่สามารถเยียวยาช่วยเหลือครอบครัวของเขาได้

ทางการต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคที่กั้นขวางการเข้าถึงความยุติธรรมของครอบครัวเขา

รวมทั้งการเยียวยาต่อการละเมิดที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขาหรือการหายตัวไปของเขา

มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ทางการต้องกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายระดับประเทศ

เนาวรัตน์ เสือสอาด

ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ปีหน้า

ไม่รู้จะต้องมาเรียกร้องเรื่องนี้กันอีกหรือไม่

แต่ดูแล้ว ไม่แคล้ว

ต้องมาทำเรื่อง “ซ้ำ” กันอีก (ไม่ฮา)