สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา | การดูแลบิดา-มารดา

สูตรสำเร็จในชีวิต (13)

การบำรุงบิดา-มารดา

คราวนี้มาว่าถึงการบำรุงบิดา-มารดา

ได้ยินคำว่า “บำรุง” คงนึกไปถึงการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี เลี้ยงให้อ้วนท้วนสมบูรณ์อะไรทำนองนั้น ความจริงการบำรุงก็คือการเลี้ยงดู อ้วนหรือไม่อ้วนไม่เห็นท่านบอกไว้

อย่างผมนี่ผอมโดยกำเนิดอยู่แล้ว ถึงลูกจะเลี้ยงดีเพียงใดก็คงไม่อ้วนขึ้นมาได้

ถ้าไปกำหนดว่าลูกต้องเลี้ยงดูพ่อ-แม่ให้อ้วน ลูกผมแกคงน้อยใจที่ทำไม่ได้

ความเป็นพ่อ-แม่เป็นได้สองชั้นคือ เป็นโดยธรรมชาติแต่งงานมีลูกมาก็เป็นพ่อ-แม่โดยอัตโนมัตินี่อย่างหนึ่ง

เป็นโดยคุณธรรมคือ ให้กำเนิดมาแล้วเลี้ยงดูลูกให้เจริญเติบโตนี่อีกอย่างหนึ่ง

พ่อ-แม่จึงนับว่ามีบุญคุณต่อลูกถึงสองชั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า “พ่อ-แม่เป็นพรหม เป็นเทวดาองค์แรกเป็นอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของบุตร”

เพราะเหตุไรจึงว่าเช่นนั้น เพราะพ่อ-แม่เป็นผู้ให้ลูกมีโอกาสลืมตาดูโลก (ทัสเสตาโร) ถ้าอุแว้ออกมา พ่อ-แม่ใจร้ายจับหักคอโยนทิ้งเสีย ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นโลกใช่ไหมครับ

นี่แลคือเหตุผลประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง พ่อ-แม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูก อดหลับอดนอนป้อนน้ำป้อนข้าวตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอย ทะนุถนอมด้วยความรักสุดชีวิตจิตใจ ยุงไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม (โปสกา)

ประการที่สาม เลี้ยงดูต่อเนื่องจนลูกเติบใหญ่ คอยปกปักรักษาป้องกันอันตรายให้การศึกษาเล่าเรียน แต่งงานแต่งการให้เป็นฝั่งเป็นฝา บางรายยังอุปถัมภ์ต่อเนื่องไปจนถึงลูกของลูก (ก็หลานนั่นแหละ) หรือถึงเหลนก็มี (อาปาทกา)

การบำรุงพ่อ-แม่ทำอย่างไรจึงจะถูกหลัก พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เสร็จ ทำตามนั้นเป็นใช้ได้ มีดังนี้ครับ

– เลี้ยงดูท่าน ไหนๆ ท่านก็เลี้ยงเรามาจนโต เวลาท่านแก่เฒ่ามาก็เลี้ยงท่านตอบ

– ช่วยกิจการของท่าน เอาเป็นธุระช่วยเหลือกิจการของท่าน ไม่เพิกเฉยดูดาย

– ดำรงวงศ์สกุล มีครอบครัว มีบุตรสืบสกุลวงศ์ให้ยาวนานหรือพยายามรักษาชื่อเสียงของวงศ์สกุล ไม่นำความเสื่อมเสียมาให้แก่วงศ์สกุล

– ทำตัวให้สมเป็นทายาทที่ดี มรดกใดๆ ที่พ่อ-แม่ภาคภูมิใจมอบให้แก่ลูกไม่เท่ามรดกแห่งความดี ถ้าลูกประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ตั้งหน้าทำมาหากินโดยสุจริตชอบธรรม ก็นับว่าทำตนสมเป็นทายาทที่ดีของสกุลวงศ์ มีลูกเช่นนี้พ่อ-แม่ตายก็ตายตาหลับ

– เมื่อท่านตายไป ทำบุญอุทิศให้ ลูกที่ดีไม่เพียงแต่ปรนนิบัติขณะท่านยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ท่านล่วงลับไปแล้วก็แสดงความกตัญญูกตเวทีให้ปรากฏด้วยการทำบุญอุทิศให้ตามหลักศาสนา

นี่คือการ “ตอบแทน” เล็กๆ น้อยๆ ต่อพ่อ-แม่ผู้มีพระคุณมหาศาลเท่านั้น บุญคุณอย่างอื่นอาจทดแทนหายกันได้ แต่พระคุณที่พ่อ-แม่มีต่อลูกไม่มีทางทดแทนได้

ที่กล่าวว่า พ่อ-แม่มีบุญคุณมหาศาล เกินกว่าจะทดแทนให้หมดไปได้ มิใช่พูดลอยๆ นะครับ มีพระพุทธวจนะตรัสไว้ที่หนึ่ง ถึงลูกจะอายุ 100 ปี แบกพ่อ-แม่ไว้ ป้อนข้าวป้อนน้ำให้พ่อ-แม่ ถ่ายอุจจาระปัสสาวะรด ปรนนิบัติอย่างดีตลอด 100 ปี ก็ไม่สามารถทดแทนคุณของพ่อ-แม่ได้

คงไม่มีใครทำจริงๆ ดอก สมมุติมีคนทำจริงถึงขนาดนั้นก็ยังไม่เชื่อว่าได้ตอบแทนคุณพ่อ-แม่ได้หมด ยกเว้นอย่างเดียวคือการช่วยพ่อ-แม่ที่เป็นมิจฉาทิฐิให้กลายเป็นผู้มีสัมมาทิฐิ หรือโปรดพ่อ-แม่ให้บรรลุธรรมได้นั่นแหละจึงจะนับว่าได้ตอบแทนคุณพ่อ-แม่ได้หมด

ดังกรณีพระสารีบุตรเถระ

พระสารีบุตร นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีปัญญามากแล้วยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ

ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์องค์แรกที่ชักนำให้ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา

รู้ว่าอาจารย์อัสสชิอยู่ ณ ทิศใด เวลาจะนอนท่านจะหันศีรษะไปทางทิศนั้น เพื่อถวายความเคารพแก อาจารย์ท่านทำถึงขนาดนั้นนะครับ

ที่ท่านทำอย่างนี้ คิดอีกทีท่านคงไม่ทำเพื่อตัวท่านเองเท่านั้น หากทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังด้วย หมายความว่า แสดงตัวอย่างให้คนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตาม เพื่อเชิดชูคุณธรรมคือความกตัญญูกตเวที

ถ้าโลกนี้มีคนที่รู้คุณคนและตอบแทนคุณคนมากเท่าใด ก็จะมีแต่ความดีงามและสงบสุขมากเท่านั้น

พระสารีบุตรท่านเป็นบุตรพราหมณ์มิจฉาทิฐิ การที่ท่านมาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พ่อ-แม่มิได้เห็นดีเห็นงามด้วยนัก ตอนหลังท่านชักนำน้องชายออกบวชถึงสองคน พ่อ-แม่ยิ่งไม่พอใจ แต่ไม่รู้จะทัดทานอย่างใด

จึงหาทางป้องกัน

ยังเหลือลูกชายคนเล็กอีกคนชื่อเรวตะ จึงจับแต่งงานตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่ก็รั้งเรวตะไว้ไม่ได้

คราวนี้มิใช่พี่ชายใหญ่พาไปบวช บุญกุศลเก่าของเรวตะชักพาไปเอง ญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งกล่าวอวยพร หันไปพูดกับเจ้าสาวว่า ขอให้หนูอายุยืนเหมือนยายนะจ๊ะ

เรวตะถามว่ายายคนไหน เขาชี้ไปที่ผู้หญิงแก่หง่อมคนหนึ่ง

จึงถามตามประสาเด็กว่า แล้วภรรยาผมต่อไปจะเป็นอย่างนี้หรือ ได้รับคำตอบว่า ใครจะอยู่จนถึง 100 ปี เป็นอย่างนี้ทุกคน

จึงเกิดความกลัวอย่างหนักหนา หาโอกาสหนีไปบวชในที่สุด

เข้าใจว่าบิดาพระสารีบุตรเสียชีวิตไปก่อนหน้านั้นแล้วเพราะตอนที่จัดงานแต่งงานให้เรวตะ น้องคนเล็กของท่าน ไม่มีพูดถึงบิดาท่านเลย

เมื่อพระสารีบุตรจวนจะนิพพาน (ตาย) นึกถึงมารดาว่ายังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่ จึงกราบทูลพระพุทธเจ้ากลับบ้านเยี่ยมมารดาที่บ้านเกิด เพื่อเทศน์โปรดโยมมารดาเป็นครั้งสุดท้าย

ไปถึงอาการป่วยท่านกำเริบหนักแล้ว ท่านนอนพักอยู่ที่ห้องที่ท่านเกิด มารดาเห็นแสงสว่างวูบวาบๆ ตลอดทั้งคืน

เช้าขึ้นมาถามพระลูกชายแสงอะไร พระลูกชายบอกว่าเทวดามานมัสการท่าน โยมมารดาพอทราบว่าพระลูกชายตนใหญ่กว่าเทวดาก็มีความปีติยินดีเป็นล้นพ้น

พระสารีบุตรรู้ว่า ถึงตอนนี้โยมมารดามีจิตใจเลื่อมใสและเชื่อความสามารถของลูกชายแล้ว (ก่อนนี้ไม่เชื่อเลย พระลูกชายมาหาถึงกับตะเพิดไล่ก็เคยมี) จึงได้แสดงธรรมให้โยมมารดาฟัง เทศน์จบโยมมารดาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ปลดเปลื้องหนี้ค่าน้ำนม ทดแทนคุณผู้บังเกิดเกล้าหมดสิ้นแล้ว ท่านก็นิพพาน

ครับ ลูกที่ทำได้ดังพระสารีบุตรนี้เท่านั้นจึงจะทดแทนพระคุณมหาศาลของพ่อ-แม่ได้