“Less is More (น้อยคือมาก)” กับหลักการบริหารธุรกิจ | ธุรกิจพอดีคำ

“อะไรคือมาก”

ณห้องประชุมแห่งหนึ่ง ในองค์กรยักษ์ใหญ่ บนดาวอังคาร แสนไกลโพ้นปีแสง

“ชั้นคิดว่า ที่เธอนำเสนอมา มันเยอะไปนะ ดูสะเปะสะปะ”

ผู้บริหารท่านหนึ่งพูดติงหญิงสาวที่กำลังนำเสนอ “ความคิดธุรกิจ” ใหม่ๆ

หญิงสาวเอ่ยปากอธิบาย

“ดิฉันคิดว่า มีทางเลือกมากมายที่มีความเป็นไปได้ จึงอยากลองมานำเสนอค่ะ”

ห้องเงียบกริบ ผู้บริหารหลายท่านหันมองหน้ากัน

“แต่ที่คุณเสนอมา มันยังไม่มีรายละเอียดอะไรชัดเจนเลยนะ พวกผมที่เป็นผู้บริหารระดับสูงบนหอคอยงาช้างเนี่ย จะตัดสินใจได้ให้ถูกต้องได้อย่างไรกันเล่า”

ผู้บริหารอาวุโสที่นั่งหัวโต๊ะกล่าวเสริม ด้วยแววตาเย้ยหยันในความไร้เดียงสาของหญิงสาว

พร้อมๆ กับเสียงพูดออกความเห็นพึมพำ แนวเห็นด้วย ของผู้บริหารส่วนใหญ่ในห้อง

ประมาณว่า “ปลอดภัย” ที่จะออกความเห็นตามน้ำกับคนที่นั่งหัวโต๊ะ

หญิงสาวกำลังจะเอ่ยปากอธิบายเพิ่มเติมถึง “ทางเลือกต่างๆ” ที่นำเสนอ

ผู้บริหารท่านแรกกล่าวแทรก

เธอรู้จักรึเปล่า

“Less is More (น้อยคือมาก)”

วันก่อนที่ปรึกษาเจ้าดัง เขามาเล่าให้พี่ฟัง

เราต้องโฟกัสเรื่องดีๆ แค่ไม่กี่เรื่องพอ ณ วันนี้ จะได้ทำให้สำเร็จลุล่วง

หาความรู้ใส่ตัวบ้างนะเรา

ในวันนี้ที่ศาสตร์แห่งนวัตกรรมที่เรียกว่า “ความคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)” กำลังเป็นที่นิยม

ผมได้มีโอกาสสอนเรื่องนี้ให้กับองค์กรใหญ่มากมาย

หลักการหนึ่งอย่างที่องค์กรน้อยใหญ่สามารถเอาไปปรับใช้ได้เลย

คือ “การระดมสมอง” ให้ได้ความคิดนอกกรอบใหม่ๆ

ทำยังไงน่ะหรือ

ไม่ยาก ไม่ยาก

ทุกครั้งที่ทำการ “ระดมสมอง”

ให้แบ่งช่วงเวลาออกเป็นสองส่วน

ส่วนละประมาณ 20 นาที

ช่วงแรก คือช่วงการ “สร้างสรรค์ความคิด (Generate Idea)”

หรือเรียกว่า “Ideate” ที่มาจากคำว่า “Idea + Create”

สร้างสรรค์ “ความคิดใหม่ๆ” ให้มากที่สุด

เน้นปริมาณ ไม่ต้องเน้นความเป็นไปได้

ไม่มีผิด ไม่มีถูก

ได้ปริมาณเยอะ คือ ชนะเลิศ

ใช้หลักการที่เรียกว่า “เยอะคือเยอะ (More is More)”

ถ้าหากเรามี “ความคิดใหม่ๆ” ปริมาณมาก

เราก็จะมีโอกาสสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้มากเช่นกัน

ช่วงแรกจึงเน้นแบบ “ฟุ้งๆ” ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ

เอา “ความคิด” ของทุกคนออกมารวมกันให้ได้มากที่สุด

เมื่อได้ “ความคิดใหม่ๆ” ออกมาปริมาณเยอะแล้ว

ปกติจะอยู่ที่ 200 ความคิด ภายในเวลา 10 นาที ช่วยๆ กันทำภายในทีม

เราก็จะเข้าสู่ช่วงที่สอง ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน

นั่นคือการ “จัดกลุ่มและเลือก” ความคิดเหล่านั้น ให้มี “โครงร่าง” ที่ชัดเจนมากขึ้น

ความคิดที่น่าสนใจ มีโอกาสจะสร้างเป็นธุรกิจ เราก็พิจารณานำไปสร้าง “ต้นแบบ (Prototype)” อย่างรวดเร็ว

หรือที่เรียกว่า “Rapid Prototyping” นั่นเอง

ระดมสมองแบบ “มากคือมาก (More is More)” คือหัวใจของการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ในช่วงแรก

สิ่งแรกที่ “แจ๊ก เวลช์ (Jack Welch)” ซีอีโอในตำนานของบริษัท General Electrics (GE) ทำ

หลังจากรับตำแหน่งซีอีโอ

คือ จัดการกับธุรกิจที่ “สะเปะสะปะ” ของบริษัท ณ ตอนนั้นที่มีอยู่กว่า 20 ประเภท

ให้เหลือเพียง 3-4 อย่างเท่านั้น

อะไรที่บริษัทไม่สามารถเป็นที่หนึ่งหรือที่สองในตลาดได้

ก็เลิกทำซะ อย่าเสียเวลา ไม่ต้องทู่ซี้

ใช้หลักการ “น้อยคือมาก (Less is More)”

หลังจากหั่นธุรกิจหลายสิบอันทิ้งไป

ผลประกอบการของ GE ก็ค่อยๆ กลับมา

กำไรเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับเมื่อ “สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs)” กลับมาสู่บริษัท “แอปเปิ้ล”

“แอปเปิ้ล” ในตอนนั้นทำ “ผลิตภัณฑ์” มากมายหลายอย่าง

แม้กระทั่ง “เครื่องพิมพ์เอกสาร (Printer)” ก็ยังทำ

แต่ก็ขายไม่ค่อยจะได้ ลงทุนไปเยอะ ผลตอบแทนไม่คุ้ม

สิ่งแรกที่ “สตีฟ จอบส์” ทำคือ ยุบธุรกิจนับสิบ

เหลือไว้เพียงแค่ 4 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เป็นคอมพิวเตอร์ที่ตอบโจทย์ผู้คนสี่ประเภทหลัก

หลักการ “น้อยคือมาก (Less is More)” เช่นกัน

บริษัทก็ค่อยๆ พลิกฟื้น กลับมีกำไรอีกครั้งหนึ่งด้วยฝีมือของเขา

“มากคือมาก (More is More)” มักถูกใช้กับบริษัทที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ยังไม่มี “ความคิด” ชัดเจน

ผู้บริหารบริษัทจำพวกนี้ชอบถามว่า “ทำอะไรดี ทำอะไรดี ทำอะไรดี”

แต่นำเสนออะไรไป ก็ไม่ค่อยจะเอา ด้วย “ความจำกัด” ของวิสัยทัศน์ ความเป็นไปได้

“มากคือมาก” มาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ของ “องค์กร” ที่ติดกับความสำเร็จในอดีต

จนไม่กล้าที่จะ “ทดลอง” อะไรใหม่ๆ

“น้อยคือมาก (Less is More)” ใช้สำหรับบริษัทที่เริ่มทำธุรกิจมากจนเกินไป จนขาด “จิตตะ”

เหมาะสำหรับบริษัทที่ทดลองทำธุรกิจหลายอย่างไปแล้ว

มีบางอย่างสำเร็จ หลายอย่างไม่สำเร็จ

แล้วไม่ยอมหยุดทำตัวที่ “ไม่สำเร็จ” ทู่ซี้ยึดติดกับ “ต้นทุนจม (Sunk Cost)” ของตัวเอง

อันนี้ต้องให้แจ๊ก เวลช์ และสตีฟ จอบส์ มาจัดการ

ถ้ายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็จงใช้ “มากคือมาก” ลงมือทำ ทดลองให้เยอะ

ถ้าลงมือทำอะไรไปเยอะๆ ก็อย่าลืมประเมิน “น้อยคือมาก” เริ่มตัดสิ่งที่ไม่ใช่ เหลือเพียงสิ่งที่ใช่

จะหลักการไหนๆ ก็มี “บริบท” ที่เหมาะสมของมัน จงเลือกใช้ให้เหมาะสมเถิด

มิใช่เป็นเพียง “คำพูดประดิดประดอย” นัยว่า ฟังเขามา

เอาไว้ “ทิ่มแทงผู้อื่น” หรือเพื่อ “ยกยอตัวเอง”