หนุ่มเมืองจันท์ | ขายแบบพี่น้อง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มีน้องดึงเข้าไปร่วมกลุ่ม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน

เดินเข้าไปแบบงงๆ ว่าคืออะไร

พักหนึ่งจึงค่อยจับทางได้

อ๋อ เป็นเพจให้ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของธรรมศาสตร์เอาของมาขาย

เพราะรู้ว่าช่วงนี้ทุกคนกำลังเดือดร้อน ต้องการหาช่องทางการขายสินค้า

ความสนุกของเพจนี้คือ “อารมณ์ขัน”

เริ่มตั้งแต่แอดมินทำพิธีบายศรีออนไลน์เปิดตลาด

เอาจริงเอาจังมาก

จากนั้นก็มีคนเข้ามาเรื่อยๆ

ตอนที่ผมเข้าไปมีคนติดตามแล้วประมาณ 10,000 คน

ใครโพสต์ขายของ เพื่อนๆ ก็จะเข้ามาเชียร์บ้าง

แกล้งทำลายล้างบ้าง

อำกันเละจนเจ้าของโพสต์คงคิดว่าคิดถูกหรือเปล่าที่มาขายของที่นี่

ไล่อ่านดูแล้วก็เพลินดีครับ

มีสินค้าใหม่ๆ แปลกๆ น่ากินน่าซื้อเต็มไปหมด

ไม่แปลกที่มีคนบอกว่าเข้ามาแล้วจะหลงทาง หาทางออกไม่เจอ

ที่สำคัญ เสียเงินเยอะมาก

จากการขายสินค้าปกติก็เริ่มมีพัฒนาการด้านการขายรูปแบบใหม่

“ขายเพื่อน”

ครับ เอาเพื่อนมาขาย

บรรยายสรรพคุณด้วยสำนวนแสบๆ คันๆ แล้วตบท้ายสั้นๆ

โสด…โปรดจีบ

เหมือนเพจ “แม่สื่อแม่ชัก” กลายๆ

แต่ออกแนวขำมากกว่าจริงจัง

เพราะเพื่อนๆ ที่ตามเข้ามา ทั้งช่วยขายและกระหน่ำซ้ำเติม

ฮาดีครับ

แต่ในบรรดา “สินค้า” ทั้งหมดที่ไถจออ่านเจอ

ผมชอบโพสต์นี้ที่สุดครับ

เขาขาย “จระเข้”

ที่บ้านทำฟาร์มจระเข้ที่ปราจีนบุรี อยากขายจระเข้แบบตัวเป็นๆ

ซื้อกี่ตัวก็ได้ มีขนาดบอกชัดเจน

“เหงาๆ ช่วงนี้เล่น tiktok คนเดียว ลองซื้อน้องไปแก้เหงาได้ น้องน่ารัก ไม่ได้มากับใคร มาตัวเดียว พร้อมส่ง”

แล้วตบท้าย

…ปล. รูปไม่ชัดเพราะเดี๋ยวตกบ่อ สนใจติดต่ออยากดูรูปเพิ่มเติมได้ รบกวนมาถ่ายเอง

สำนวนภาษาการขายของเด็กรุ่นใหม่สนุกมากครับ

อ่านแล้วยิ้ม

ผ่านไปพักหนึ่ง ฝั่งจุฬาฯ ก็เริ่มบ้าง

เพจ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” ครับ

สนุกเหมือนกัน

แต่มีการแข่งกันนิดๆ เหมือนตอนแข่งฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

มีน้องจุฬาฯ คนหนึ่งบอกเพื่อนๆ ว่าธรรมศาสตร์มีการบายศรีด้วย ของเรามีใครทำเป็นไหม

แล้วก็เริ่มมีการแท็กหาเพื่อนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้

ไม่มีใครยอมใคร

ตอนฟุตบอลประเพณี จะเริ่มแข่งกันว่าใครจะขึ้นเต็มสแตนด์ก่อนกัน

ครั้งนี้ก็แข่งว่าเพจใครจะมีคนติดตามมากกว่ากัน

เริ่มต้นธรรมศาสตร์นำ

พักหนึ่งจุฬาฯ ก็ขยับตาม เบียดกันอยู่พักหนึ่งแล้วเริ่มทิ้งห่าง

ตอนที่ปิดต้นฉบับ ธรรมศาสตร์ประมาณ 90,000 จุฬาฯ ขึ้นหลัก 120,000 ไปแล้ว

แต่จำนวนไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เพราะต่างคนก็ต่างขาย

ที่สำคัญสนุกไม่ต่างกัน

ผมแอบไปส่องที่เพจของ “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” อ่านไปขำไป

ลองดูตัวอย่างครับ

มีน้องคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัว แล้วส่งต่อข้อความถึงผู้ชาย 3 คน

พี่อั๊น วิดวะ-บุ๊ค ถาปัด -พี่อ๊อป สินกัม

“สมัยเรียน แอบมองทุกวัน หวังว่าสักวันหนึ่งจะหันมามองเราบ้าง

วันนี้แป้งมีตัวตนแล้ว เป็นร้านเสื้อผ้าแนวหน้าของวงการแฟชั่นไทย หวังว่าพี่ๆ จะหันมามองบ้าง”

แต่ทีเด็ดอยู่ที่ประโยคนี้ครับ

“หรือถ้ามีเมียกันไปหมดแล้วก็ฝากเมียมองบ้างก็ยังดีค่ะ”

แล้วก็ลงรายละเอียดขายเสื้อผ้า

ครับ เป็นการส่งสัญญาณแบบ 5 G

ทะลุทะลวงมาก

ถ้าพี่หันมามองไม่ได้ เพราะมีเมียแล้ว

ก็ให้เมียหันมามองเสื้อผ้าที่เธอขายบ้าง เพราะนี่คือกลุ่มเป้าหมายแท้จริง

…สุดยอด

อีกคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยการพูดถึง “พี่บีม” วงดีทูบี ศิษย์เก่าวิศวะ จุฬาฯ

“พี่บีมคะ น้องเข้าจุฬาฯ ก็เพราะพี่ เราเคยสบตากันที่รถป๊อป จุฬาฯ พี่นั่งฝั่งซ้าย น้องนั่งฝั่งขวา สมัยพี่มีไรหนวดคงเพราะวิศวะเรียนหนัก

พี่มานั่งหาข้าวกินยามบ่ายที่คณะรัฐศาสตร์ น้องก็แอบไปต่อคิวซื้อข้าวร้านเดียวกัน

ตอนพี่เดบิวต์เป็น D2B น้องก็หัดเต้นเพลงซ่าแบบสั่นๆ ที่ลานบอล คณะรัฐศาสตร์ น้องทำทุกอย่างเพื่อพี่บีม

แต่สิ่งที่น้องควรทำมากที่สุดคือ บอกพี่บีมว่า

…บ้านน้องขายหมูแดดเดียวค่ะ ฝากร้านทีนะคะ”

555 จากนั้นก็ขายของเลยครับ

แล้วขอให้ “พี่บีม” แอดไลน์ ทักแชตมาซื้อด้วย

…ได้ผลครับ

“บีม” ไม่ได้แอดไลน์ แต่เข้ามาบอกว่าอืมมม…รายละเอียดเยอะจนเมียพี่ค้อนเลย

“เอาเป็นว่าเข้าไปฝากร้านในเพจพี่เลย พี่ยอม”

…ประมาณนี้ครับ

ดูแล้วเพลินดีเหมือนได้ “รียูเนียน” กลับไปอยู่มหาวิทยาลัยเลยครับ

ถามว่าลง 2 เพจนี้แล้วขายได้ไหม

คำตอบคือ ขายได้

เพจของธรรมศาสตร์ บางคนขายผลไม้ที่สวน

คนแห่ไปซื้อจนหมดสวน

ที่จุฬาฯ ก็คงเหมือนกัน

บรรยากาศการซื้อขายเหมือนพี่น้องขายกันเอง

แซวๆ อำๆ

คุยทั้งเรื่องสินค้า และไถ่ถามกันว่าตอนเรียนนั่งโต๊ะไหน รู้จักคนนี้ไหม ฯลฯ

เป็นความรู้สึกเชิงผูกพัน

ทำให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าขึ้นมาในบัดดล

เพียงเพราะคนขายเป็นพี่หรือน้องมหาวิทยาลัย

ครับ อยู่ดีๆ ก็เชื่อมั่น

ไล่อ่านอยู่ 2 วัน ก็รู้สึกดีว่าพี่น้องมหาวิทยาลัยเดียวกันช่วยเหลือกัน

แต่มาสะดุดตอนที่ดูข่าว “คนจน” ทวงสิทธิ์ 5,000 บาทที่หน้ากระทรวงการคลัง

คุณป้าคนหนึ่งร้องไห้ บอกว่าเงินไม่มีแล้ว น้ำที่บ้านก็จะถูกตัดแล้ว

เธอไม่ได้อยากมาขอเงิน

ท้ารัฐบาลว่าแน่จริง ก็เปิดตลาดให้ขายของสิ

คือ เธอพร้อมจะทำมาหากิน

แต่เพราะรัฐบาลปิดตลาดตามมาตรการควบคุมไม่ให้เชื้อไวรัสโควิดระบาด

เธอก็ไม่มีรายได้

ยื่นเรื่องขอ 5,000 บาท ก็โดนตัดสิทธิ์

ดูคลิปแล้วเศร้ามาก

วิกฤตโควิดครั้งนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่าสังคมไทยเหลื่อมล้ำกันจริงๆ

คนไม่มี…ไม่มีแม้แต่ข้าวกิน

ทั้งที่เขาไม่ได้งอมืองอเท้าไม่ทำมาหากิน

ในขณะที่คนที่จบจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โชคดีที่มีช่องทางในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

มี “โอกาส” ขายของ

แต่ “คนจน” ไม่มีแม้แต่ “โอกาส”

ไม่มีช่องทางออนไลน์และเครือข่ายพี่น้องแบบนี้ในการขายของ

เรื่องนี้คนมีเงิน ไม่ได้ผิดอะไรครับ

คนที่จบจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้ผิด

แล้วความผิดอยู่ที่ใคร

ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขนาดนี้

อยากรู้จริงๆ ครับ

จะได้อุดหนุนน้องคนนั้น

…ซื้อ “จระเข้” ไปฝากสักตัว