มนัส สัตยารักษ์ | ไวรัสอัดเศรษฐกิจ

วันเวลาที่วิกฤตโควิด-19 ครอบงำโลก จะอยู่อีกนานเท่าไรก็ยากจะคาดได้ แต่การปิดโรงงานและหยุดงานโดยไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับนั้น แน่นอนว่าได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตกงานทันที คนระดับล่างส่วนใหญ่ (นอกจากมีหนี้สินแล้ว) ไม่มีเงินออม เมื่อไม่มีรายรับเขาจะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างไร?

ส่วนหนึ่งยอมแพ้กลับไปบ้านก่อนจะมีมาตรการล็อกดาวน์ แต่อีกส่วนหนึ่งจนแต้ม!

ภาพที่หญิงคนหนึ่งนอนบนพื้นหญ้าในสวนลุมพินีเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่พัก เป็นเครื่องยืนยันถึงสถานภาพเศรษฐกิจของประเทศวันนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เตรียมเงินไว้สำหรับต่อสู้กับโรคระบาดและการเยียวยา รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อปากท้องของประชาชน 1.9 ล้านล้านบาท

ซึ่งเท่ากับวิกฤตโควิด-19 เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้เกิดใหม่

ตั้งชื่อเรื่องไว้อย่างอหังการว่า “ไวรัสอัดเศรษฐกิจ” ราวกับเป็นผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ แต่ความจริงเพียงแค่สะกิดเตือนให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบนึกถึงปรัชญาของจอมปราชญ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างหนึ่ง กับกุศโลบายที่นักปกครองรุ่นเก่าท่านทำมาแล้วอีกอย่างหนึ่ง

ไทยมีทีท่าว่าจะเป็นประเทศ “ครัวโลก” มาแล้ว แต่จะด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ ดูเหมือนจะถูกเวียดนามแซงไปได้อย่างเงียบเชียบและราบรื่น หรืออาจจะเป็นเพราะเราพบขุมทรัพย์ใหม่คือ “การท่องเที่ยว” และเราก็ทุ่มเทจนประสบความสำเร็จเช่นกัน จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 ย่างกรายเข้ามา ขุมทรัพย์ก็ละลายหายวับไปกับตา

การทุ่มเทให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้อง แต่การละเลยหรือบิดเบือน “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นเรื่องน่าเสียดาย

สภาพที่โลกแย่งซื้ออาหาร การขาดแคลนและกักตุน การไม่มีสินค้าในตลาด แม้กระทั่งไข่ซึ่งผลิตได้เท่าเดิมก็หายไป ฯลฯ ล้วนทำให้เราพลาดโอกาสการเป็นครัวโลก พลาดโอกาสการเป็นประเทศร่ำรวยไปแล้ว

เมื่อกล่าวถึงการเกษตร เราอาจจะพบปัญหามากมายอันสืบเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ การลงทุนที่ผิดพลาดขาดวิสัยทัศน์ รัฐไม่ช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ไม่นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

เนื่องจากเกษตรกรวันนี้อยู่ในฐานะลูกหนี้ (ทั้งในและนอกระบบ) มาก่อนวิกฤตไวรัส จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้วิธีลงทุนเองแล้วจ้างเกษตรกรทำ เช่นเดียวกับประเทศสังคมนิยมในยุคโบราณ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีงาน มีกินและมีใช้ จนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตไปได้

ผลผลิตจะขาดทุนหรือกำไรรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ชาวบ้านไม่ต้องรับกรรมอย่างที่ผ่านมา

เศรษฐกิจพอเพียงที่อยู่ในความดูแลและจัดการอย่างโปร่งใสของจังหวัด อำเภอหรือตำบล ไม่ตกเป็นเหยื่อของนายทุนต่างชาติ เชื่อว่าไทยจะได้กลับไปสู่ความเป็น “ครัวโลก” ทันเวลา

มั่นใจว่าถ้าใช้หลักคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง รัฐจะลงทุนไม่มากกว่า “การแจก” ที่ผ่านมาและที่กำลังจะแจกกันต่อไป

วิกฤตโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศกันมาก คาดว่าแรงงานประมงทะเลเป็นงานหนึ่งที่พบกับปัญหาขาดแรงงาน เพราะเชื่อกันอย่างผิดๆ ว่าคนไทยไม่ยอมทำงานเป็นลูกเรือประมงทะเลที่เหนื่อยยากและต้องคลุกคลีกับสิ่งสกปรกโสโครก

แต่ฟังความอีกข้างหนึ่งกลายเป็นว่า ผู้ประกอบการประมงทะเลชอบที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่า ด้วยว่าไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องที่มีกฎหมายใหม่ๆ ที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

อุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเลของไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงเกือบ 200 ล้านบาท แต่ไทยอยู่ในกลุ่มที่องค์กรต่อต้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐขึ้นบัญชี “ประเทศที่ต้องจับตามอง”

วิกฤตโควิด-19 ทำให้กัปตันเครื่องบินพาณิชย์และแอร์โฮสเตสเงินเดือนเป็นแสน เปลี่ยนอาชีพมาเป็นเดลิเวอรี่ส่งของและทำหมูแดดเดียวขาย ทำไมคนตกงานจะมาเป็นลูกเรือประมงไม่ได้

ปัญหาแรงงานประมงไม่น่าจะยาก รัฐแค่ออกแรงช่วยการประมงไทย พร้อมไปกับช่วยแรงงานไทยโดยกำหนดเงินค่าแรงให้สูงขึ้น แม้เพิ่มราคาจากต้นทุนที่สูงขึ้น ก็เชื่อว่าเงินที่เตรียมไว้ 1.9 ล้านล้านจะไม่พร่องไปสักเท่าไร

ผมเป็นคนหนึ่งที่จะอุดหนุนอาหารประมงที่แพงขึ้น ถ้าตัวเลขส่งออกสูงขึ้นกว่าเดิม

นั่งรถผ่านบางไซต์งานที่บริษัทยักษ์ใหญ่ประมูลมาได้ พบคนงานสี่-ห้าคนกำลังทำงานมูลค่าหลายแสนล้านบาทแล้วสะท้อนใจ…ทำไมประเทศของเราจึงมีปรากฏการณ์ที่ย้อนแย้งกันถึงปานนี้ อะไรต่อมิอะไรดูมันเหลื่อมล้ำมากมาย…ราคาของงานกับการทำงานที่ “ฟ้าสูง-แผ่นดินต่ำ”

อันที่จริงปรากฏการณ์นี้มีมาก่อนยุคโควิด-19 แต่เห็นชัดขึ้นในวันนี้

งานยักษ์เหล่านี้ควรที่จะระดมทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะมีผลกระทบเชิงลบรอบด้าน แต่กลับต้องใช้เวลา 2-4 ปี โดยอ้างว่าเราเป็นประเทศยากจน ต้องทยอยทำและทยอยจ่ายตามกำลังงบประมาณของแต่ละปี

ที่ติดป้ายอวดประชาชนว่า “อุโมงค์นี้สร้างโดย…กำหนดเสร็จใน 2 ปี” นั้น เอาเข้าจริงๆ พอครบ 2 ปีก็ปลดป้ายออก เพราะยืดเวลาก่อสร้างไปเป็น 3 หรือ 4 ปี อย่างเช่นที่แยกมไหศวรรย์ ถนนตากสิน ใช้เวลาสร้างจริง 7 หรือ 8 ปี จนถูกค่อนแคะจากชาวบ้านว่าแยกมาราธอน

ว่ากันว่างานยักษ์ของขาใหญ่มักจะได้ยืดเวลาก่อสร้าง ยอมถูกปรับ หรือต่อรองให้ปรับน้อยกว่าในสัญญา นัยว่าบริษัทยังคงได้กำไรมากกว่าลงทุนทำให้เสร็จตามเวลาในสัญญา แล้วก็มีการฟ้องร้องกันไป-มาจนจำไม่ได้ว่าใครฟ้องใคร และรัฐเสียหายไปเท่าไร!

เขาว่ากันว่า แม้จะต่อรองยืดเวลาไม่ได้และต้องถูกปรับ ก็ยังดีกว่าดันทุรังทำให้เสร็จตามสัญญา จริงหรือเท็จก็ไม่ทราบ?

ข้อเสนอก็คือ ปรับปรุงแก้ไขสัญญาให้งานเสร็จเร็วขึ้น รัฐบาลช่วยเสริมสภาพคล่อง บริษัทยักษ์ใหญ่กระจายงานให้บริษัทเล็กที่มีคนงานและมีขีดความสามารถ แบ่งงานกันไปทำโดยมีองค์กรของรัฐหรือสมาคมวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นคนกลาง

ในยุคไวรัสโควิด-19 ทำให้เราได้นับหนึ่งใหม่ เราอาจจะได้เห็นอะไรที่ผิดแผกไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิม…ไม่มีปลัดกระทรวงถูกจำคุกและถูกยึดทรัพย์

ประเทศไทยอาจจะก้าวเร็วทำนองเดียวกับประเทศจีนหรือญี่ปุ่น

ในสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายแปลกประหลาดสำหรับประเทศไทยใน พ.ศ.นั้น นั่นคือ “นโยบายผันเงิน”

เป้าหมายหลักคือผันเงินไปทั่วประเทศ สร้างงานให้คนมีงานทำ ต่างกับยุคนี้ที่เอาเงินไปแจกเพื่อชิม ช้อป ใช้ เพียงเพื่อ “สร้างภาพ” แสดงความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ

ข้อคิดที่นำเสนอข้างต้น 3-4 ประการไม่ได้เป็นของใหม่ แต่เป็น 3-4 ประการที่สร้างปัญหาทิ่มตาแทงใจประชาชนอยู่ทุกวัน

และสาบานได้ว่า ผู้ที่นำเสนอไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่คอยทิ่มแทง “จุดเดือด” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอาชา แต่อย่างใด