คนมองหนัง : “ความรู้” และ “พระเจ้า” ใน X-Men: Apocalypse

คนมองหนัง

หนังตระกูล X-Men ภาคล่าสุด อย่าง “X-Men: Apocalypse” ลงโรงฉายมาได้สักพัก

ในเมืองไทยเอง มีคนตีตั๋วเข้าไปชมมากมาย (เพราะส่วนหนึ่ง โรงภาพยนตร์ก็เปิดรอบให้หนังเรื่องนี้อย่างมหาศาล)

ขณะเดียวกัน ก็มีผู้เขียนบทวิจารณ์ ตลอดจนบทความที่ครุ่นคิดตีความต่อจากหนัง ออกมามากพอสมควร

โดยหลายชิ้นมีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การตั้งข้อสังเกตของฟิล์มซิก (ในเพจเฟซบุ๊ก Filmsick) และบทความของ อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง (ในเพจเฟซบุ๊ก Kafe Lumiere) เป็นต้น

 

ตามรสนิยมส่วนตัว ผมชอบ “X-Men: Apocalypse” อยู่มากพอสมควร เพราะแม้พล็อตและเส้นเรื่องจะไม่ได้มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน ดังหนังในหลายภาคหลังๆ ที่ผ่านมา

แต่ผู้สร้างก็ยังสามารถสร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ของเหล่าตัวละคร “มนุษย์กลายพันธุ์” หรือ “มิวแทนต์” ได้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะบรรดามิวแทนต์หนุ่มสาว ที่มี “ความสามารถพิเศษ” หรือ “ท่าไม้ตาย” อันน่าตื่นตาตื่นใจกันคนละด้าน

ทว่า พวกเขาและเธอก็เปรียบเสมือน “จอมยุทธ์รุ่นเยาว์” ผู้เพิ่งออกท่องยุทธจักร ที่ยังมีข้อจำกัดในการเปล่งประกายศักยภาพของตนเอง และมีบาดแผลหรือความวิตกกังวลในใจกันคนละอย่างสองอย่าง (อาการประการหลัง ยังลามไปถึงมิวแทนต์รุ่นใหญ่ๆ ด้วย)

ก่อนที่ทั้งหมด จะเติบโต เปลี่ยนผ่าน และเอาชนะใจของตนเองได้ หลังการทำศึกกับมนุษย์กลายพันธุ์คนแรกของโลก ผู้ (ถูกเชื่อว่า) มีพลังอำนาจมากที่สุดในจักรวาลมิวแทนต์ รวมทั้งยังเป็น “อมตะ” เพราะสามารถถ่ายทอดวิญญาณของตนเอง ไปสิงสู่ในเรือนร่างของมนุษย์กลายพันธุ์รายอื่นๆ

แม้ศึกใหญ่ใน X-Men ภาคล่าสุดจะจบลงอย่างง่ายดายกว่าที่คิด แม้มนุษย์กลายพันธุ์จากยุคอียิปต์โบราณ ผู้หวังจะสถาปนาตนเองเป็น “พระเจ้าที่แท้จริง” ของโลกยุคสมัยใหม่ในหนัง (ทศวรรษ 1980) อาจพ่ายแพ้แก่เหล่ามิวแทนต์รุ่นหลังอย่างรวดเร็วเกินคาด

แต่ก็มีแง่มุมบางประการจากศึกครั้งนี้ ที่น่านำมาคิดต่อ

 

ข้อแรก ที่ผมรู้สึกว่า “แปลกดี” ก็คือ ครั้น “Apocalypse” มนุษย์กลายพันธุ์คนแรกฟื้นตื่นขึ้นมา หลังนอนหลับใหลอยู่หลายพันปี

นอกจากเขาจะช่วยชีวิตมิวแทนต์สาวรายหนึ่ง ซึ่งออกตระเวนลักเล็กขโมยน้อยในตลาดกลางกรุงไคโร เพื่อนำเธอมาเป็นหนึ่งในสี่ “จตุรอาชา” แล้ว

เมื่อมิวแทนต์รายนั้น นำ Apocalypse ไปยังที่พักอาศัยของเธอ สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ ซึ่งมนุษย์กลายพันธุ์คนแรกของโลกทำ ก็ได้แก่ การเอามือไปสัมผัสจอโทรทัศน์

หนังแสดงให้เห็นว่า เขากำลังประมวลหรือสแกน “ความรู้-ความเข้าใจ” เกี่ยวกับสถานการณ์โลกทั้งหมด จากทีวีและจานดาวเทียม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่

ดูเผินๆ นี่อาจเป็นการเข้าถึง “ความรู้” ได้อย่างกว้างขวาง เท่ และน่าทึ่ง

แต่ก็น่าตั้งคำถามเช่นกันว่า ทีวีและจานดาวเทียมมอบ “ความรู้” อะไร? ให้แก่ Apocalypse

หรือ Apocalypse มี “ความรู้” ในเรื่องใด? มากน้อยแค่ไหน? และเพียงพอต่อการสถาปนาตนเองขึ้นเป็น “พระเจ้า” หรือไม่?

 

ความปราชัยในท้ายที่สุด บ่งบอกชัดเจนว่า Apocalypse ยังมี “ความรู้” ไม่มากพอ และยังมิอาจเป็น “พระเจ้าที่แท้จริง”

เขาอาจยิ่งใหญ่พอจะจัดการหรือเล่นงานมิวแทนต์รุ่นหลังแทบทุกคนได้อย่างอยู่หมัด

แต่มนุษย์กลายพันธุ์สองคนที่ยังอยู่เหนือ Apocalypse ก็คือ “ชาร์ลส์ เซเวียร์” และ “จีน เกรย์”

พลังสำคัญข้อหนึ่งที่ทั้งคู่มี ทว่า Apocalypse ไม่มี ก็ได้แก่ พลังจิตในการเข้าถึงความคิดหรืออ่านความรู้สึกของผู้คน

การนำพาตนเอง “สอดใส่-เข้าไป” ในวิธีคิดและกระแสสำนึกของผู้คนในสังคมต่างหาก ที่จะก่อให้เกิด “ความเข้าใจ” และ “ความใส่ใจ” ต่อผู้คนเหล่านั้น

ก่อนที่ “ความเข้าใจ” และ “ความใส่ใจ” ดังกล่าว จะถูกแปรประมวลขึ้นเป็น “ความรู้”

พลังพิเศษของเซเวียร์และเกรย์ต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดและป่วยไข้มากพอสมควร

จนอาจแลดูยากลำบากกว่าการได้มาซึ่ง “ความรู้” ในแบบของ Apocalypse

แต่มันกลับเป็นลำดับชั้นของ “ความรู้” ที่สูงส่งกว่า และอยู่กับโลกปัจจุบันได้ดีกว่า กลมกลืนกว่า

ทั้งยังสอดคล้องกับปณิธานของสถานศึกษาสำหรับมิวแทนท์รุ่นเยาว์ ที่ก่อตั้งโดยเซเวียร์ ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การได้ใช้ชีวิตร่วมกันโดยปกติสุข ระหว่างมนุษย์ธรรมดาและมนุษย์กลายพันธุ์

หาก “พระเจ้าที่แท้จริง” ยังไม่ได้เสด็จลงมาบนโลกมนุษย์ และโลกล้วนเต็มไปด้วย “พระเจ้าปลอมๆ”

ชาร์ลส์ เซเวียร์ และ จีน เกรย์ ก็น่าจะเป็น “พระเจ้าปลอม” ที่ดีกว่าและเหนือกว่า Apocalypse ถ้าเขาและเธอปรารถนาจะเป็น (ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่มิได้ปรารถนาเช่นนั้น)

 

อย่างไรก็ตาม ในการพ่ายแพ้ ดับสูญ ของ Apocalypse กลับยังมีเงื่อนปมถูกทิ้งค้างเอาไว้

ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับ ชาร์ลส์ เซเวียร์ นัก เมื่อเขากล่าวประเมินในตอนท้ายของภาพยนตร์ว่า ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะระหว่างทีม X-Men กับ Apocalypse นั้น อยู่ตรงที่ฝ่ายแรก/เซเวียร์ “มีเพื่อน” ขณะที่ฝ่ายหลัง “ไม่มี”

เพราะ Apocalypse ใช่จะโดดเดี่ยวเดียวดายเสียทีเดียว

เมื่อหลายพันปีก่อน เขาอาจไม่มีเพื่อน แต่ก็มี “จตุรอาชารุ่นเก่า” ที่ยอมสละชีพ เพื่อให้ “พระเจ้า” ของพวกตน ดำรงอยู่อย่างเป็นอมตะ ข้ามกาลเวลา

แต่ในโลกยุคใหม่ Apocalypse อาจคิดการใหญ่อย่างรวบรัดเกินไป ประมวลความรู้อย่างหยาบกร้านเกินไป และซื้อใจ/เลือกสรร “จตุรอาชาชุดใหม่” อย่างง่ายดายเกินไป

เขาจึงพลาดท่าเสียที

ยิ่งกว่านั้น ใช่ว่าทุกคนจะต้องการเป็น “เพื่อน” กับ X-Men

หลังความพังพินาศของ Apocalypse ในบรรดาจตุรอาชารุ่นใหม่ข้างกายเขา มีหนึ่งคนที่เสียชีวิต มีสองคนที่กลับไปอยู่เคียงข้างหรือเป็นพันธมิตรกับเซเวียร์ และมีหนึ่งคนที่เร้นกายจากไปอย่างไม่ทราบชะตากรรม คือ “ไซล็อค”

ไซล็อคไม่เหมือนจตุรอาชารุ่นเก่า ที่ยอมเสียสละปกป้อง “พระเจ้า” จนตัวตาย

ทว่า เธอก็ไม่ได้หันไปเดินร่วมทางกับเหล่า X-Men

ช่องว่างของศรัทธาจึงบังเกิดขึ้น

น่าสนใจว่าใครกันคือ “พระเจ้า” องค์ใหม่ของไซล็อค ตลอดจนมนุษย์กลายพันธุ์อีกจำนวนหนึ่ง ที่มิได้สังกัดอยู่ในกลุ่มก้อน X-Men