คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ปีใหม่ฮินดู สงกรานต์สยาม : ความซับซ้อนและความเชื่อมโยง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ พวกเราทุกคนล้วนอยู่โยงเฝ้าบ้าน ทั้งพัก ทั้งทำงาน ไม่ได้ออกไปทำบุญทานการละเล่นที่ไหน

ผมจึงขอนำวิทยวารีมาเป็นน้ำสงกรานต์รดจิตรดใจทุกท่านแทน โดยอาศัยหน้ากระดาษแห่งมติชนสุดสัปดาห์นี้เป็นประดุจขันสาคร มีถ้อยวจีเป็นบุปผามาลา

ขอได้รับการคารวะและขมาลาโทษจากผมที่ได้ล่วงเกินตลอดทั้งปีด้วยเถิด

 

ที่จริงเรื่องสงกรานต์ในบ้านเรา ผมได้เขียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เกี่ยวกับประเพณีเล่นสาดสีหรือโหลิ หรือชี้ให้เห็นว่า ฮินดูเขามีสงกรานต์ (สังกรานติ) กันทุกเดือน เพราะหมายถึงการที่พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีใหม่นั่นเอง ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงกลางของเดือนนั้น

ในสงกรานต์ทุกเดือน ชาวฮินดูก็จะบูชาพระสุริยเทพหรือบูชาพระวิษณุหรือสุริยนารายณ์ (พระวิษณุในสมัยพระเวทเคยเป็นกลุ่มเทพพระอาทิตย์มาก่อน) แต่เขานับถือสงกรานต์ใหญ่อยู่สองสงกรานต์ คือสงกรานต์ในราศีมังกรหรือมกรสังกรานติ เพราะพระอาทิตย์ได้ย้ายมาสู่วงโคจรด้านเหนือของโลก (อุตรายัน) ซึ่งจะทำให้อากาศอบอุ่นและสว่าง เหมาะแก่การเพาะปลูก

ส่วนอีกสงกรานต์ที่เขานับถือมากคือ เมษสังกรานติหรือสงกรานต์ในราศีเมษ เพราะพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีซึ่งลัคนา (ตำแหน่งทางโหราศาสตร์) ของโลกสถิตอยู่ และยังอยู่ในตำแหน่งสูงสุดหรือจอมฟ้า ซึ่งพระอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้าที่สุดด้วย อันนี้ตรงกับการฉลองสงกรานต์ของเรา

แต่สงกรานต์ในเดือนเมษายนเป็นปีใหม่ของแขกด้วยไหม? คนอินเดียถือปีใหม่กันวันไหนบ้าง? ผมมาคิดเรื่องนี้ เพราะเพิ่งได้อ่านเฟซบุ๊กของอาจารย์รุ่งโรจน์ ภิรมณ์อนุกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักฐานการขึ้นปีใหม่ในดินแดนแถบนี้

ซึ่งน่าสนใจมาก

 

สรุปโดยย่อ ท่านว่าบันทึกของจิวตากวนราชทูตจีนบอกว่า ชาวพระนครหลวงฉลองปีใหม่ในเดือนสิบจีน ตรงกับเดือนเกี๋ยเต๋อ (เสียงจีนของ “กรรติก” ในภาษาแขก) และตรงกับเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติ

จดหมายเหตุลาลูแบร์ก็บอกว่าชาวกรุงศรีอยุธยามีปีใหม่ในเดือนอ้าย ซึ่งอาจารย์สันนิษฐานว่า เป็นการขึ้นปีใหม่อย่างพื้นเมืองของเราเอง

แต่ทั้งนี้การเปลี่ยน “ศก” หรือ “ศักราช” (ปีตามระบบปฏิทินฮินดู) จารึกเก่าแก่บอกว่าพระนครเปลี่ยนศักราชในเดือนห้า และกรุงศรีอยุธยาก็เปลี่ยนศักราชในเดือนห้าเช่นกัน แต่เป็นการเปลี่ยนจุลศักราชกับมหาศักราช

ส่วนพุทธศักราชนั้นมีหลักฐานว่าเปลี่ยนในวันเพ็ญเดือนหก (ตรงกับวิสาขบูชา ซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เพราะนับศักราชเนื่องด้วยพระพุทธองค์)

อาจารย์ยังกล่าวไปถึง การเปลี่ยน “ปีนักษัตร” ซึ่งไม่มีในอินเดีย (แต่จีนมี) ว่าเปลี่ยนเมื่อใด โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเปลี่ยนในเดือนอ้าย

แต่อาจมาเปลี่ยนให้ตรงกับสงกรานต์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

 

ฟังไปฟังมาอย่าเพิ่งงงนะครับ คือต้องแยกออกเป็นสามเรื่องใหญ่

เรื่องแรก อุษาคเนย์นับ “ปีใหม่” กันตอนไหน มีทั้งเริ่มที่เดือนอ้าย (เดือนกรรติกของแขก) หนึ่งค่ำเดือนห้า

และสงกรานต์ในเดือนเมษายน (สองอย่างนี้รับจากแขก)

ปัจจุบันใช้อย่างสากล คือ หนึ่งมกราคม

อย่างที่สอง เปลี่ยน “ศักราช” หรือการนับปีอย่างเป็นทางการเมื่อใด มีทั้งในเดือนห้าสำหรับ “มหาศักราช” และ “จุลศักราช” และวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหกเป็นการเปลี่ยน “พุทธศักราช” (ในปัจจุบัน เปลี่ยนพุทธศักราชในวันที่หนึ่งมกราคม อย่างสากล) และยังมีรัตนโกสินทร์ศก ซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว

สุดท้าย การเปลี่ยนปีนักษัตร (ใช้คำอินเดีย แต่อินเดียไม่มีระบบสัตว์นักษัตรหรือปีนักษัตร นักษัตรสำหรับอินเดีย หมายถึง “ฤกษ์”) ซึ่งมีทั้งเปลี่ยนในเดือนอ้าย ก่อนจะมาเปลี่ยนในสงกรานต์

ทั้งสามอย่างนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับ “ปีใหม่” ทั้งนั้นครับ จะเห็นว่ามันมีความเหลื่อมๆ เยื้อนๆ ซ้อนกันอยู่พอสมควร ทำให้เราไม่ได้มีวันขึ้นปีใหม่แค่วันเดียว และทำให้งุนงงพอสมควรได้

พอมาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงชีวิตตัวเอง ทำงานมาสิบปียังคงปวดหัวกับ “ปีปฏิทิน” “ปีการศึกษา” และ “ปีงบประมาณ” ซึ่งสิ้นสุดและเริ่มต้นไม่พร้อมกันสักปี ยังไม่รวมเอาปีใหม่จีน แขก ไทยและฝรั่งในชีวิตของผมอีก

 

สรุปแล้ว ในปัจจุบัน เรามีปีใหม่สากลคือหนึ่งมกราคมซึ่งเราใช้เปลี่ยน “พุทธศักราช” ด้วย แต่มีปีใหม่ไทย ซึ่งนับสงกรานต์ในเดือนเมษายน และเปลี่ยนทั้งศักราชกับนักษัตรในช่วงสงกรานต์เช่นกัน ส่วนบางภูมิภาคเช่นภาคเหนือยังเปลี่ยนปีพื้นเมืองในเดือนอ้าย พราหมณ์หลวงอาจถือปีใหม่ในเดือนอ้าย ต่อยี่ตามพระราชประเพณีตรีปวายตรียัมปวาย และพราหมณ์พัทลุงถือปีใหม่ในเดือนสี่

มาถึงเมืองแขกบ้าง แขกก็มีความซับซ้อนของเรื่องนี้พอสมควร เขาเรียกปีศักราชว่า “สัมวัต” เพราะที่จริงคำว่า “ศักราช” หรือ “ศก” เกี่ยวข้องกับชื่อกษัตริย์พระองค์หนึ่ง คือพระเจ้าศาลิวาหนแห่งราชอาณาจักรศก สัมวัตแบบนี้เป็นสัมวัตแบบเก่าเรียก “ศกสัมวัต” หรือ “ศาลีวาหนศกสัมวัต” บ้านเราเรียกปีสัมวัตนี้ว่า “มหาศักราช”

ส่วนสัมวัตอีกแบบ เรียกว่า “วิกรมีสัมวัต” หรือปีสัมวัตของพระเจ้าวิกรมหรือพระเจ้าวิกรมาทิตย์ กษัตริย์ในตำนานโบราณของฮินดู นิยมใช้ในอินเดียเป็นหลัก

แขกนั้นเปลี่ยนปีสัมวัตกันในเดือนห้า (ตรงกับเดือน “ไจตระ” ของฮินดู ราวปลายกุมภาพันธ์ ถึงต้นเมษายน) แต่แม้จะเปลี่ยนศักราชในเดือนห้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็น “ปีใหม่” ในความรับรู้ของชาวบ้านชาวช่อง เพราะเขามีเทศกาลปีใหม่แยกออกไปอีกเหมือนบ้านเรา

ดังนั้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนศักราชเป็นเรื่องของ “หนังสือ” คือไว้สำหรับจดจารบันทึกต่างๆ ในราชสำนักหรือสำหรับพราหมณ์ใช้คำนวณอะไรต่อมิอะไร ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่กับการเพาะปลูกกสิกรรม

 

ที่น่าสนใจคือ พอไปค้นๆ ว่า แล้วเทศกาลปีใหม่ล่ะ แขกเขาฉลองกันตอนไหน ก็ได้ทราบว่า เขาก็ฉลองในช่วง “สงกรานต์” แบบเรานี่แหละ

ตอนแรกผมนึกว่าสงกรานต์ในเดือนเมษายนเป็นปีใหม่เฉพาะของชาว “ทมิฬ” ในภาคใต้เท่านั้น ที่ไหนได้ ไม่ได้มีแต่คนทมิฬที่นับถือสงกรานต์นี้เป็นปีใหม่ คนใต้อื่นๆ อย่างคนมาลายาลัม คนกรรณาฏิก เรื่อยไปจนถึงคนพังคลี (เบงคอลี) ในภาคตะวันตก และในบางส่วนของภาคเหนืออย่างคนสิกข์ ก็นับเอาเมษสงกรานต์เป็นปีใหม่ด้วย

คนทมิฬเรียกเทศกาลนี้ว่าปุถาณฑุ (Puthandu) ชาวเกราละหรือคนมาลายาลัมเรียกว่าวิษุ (vishu) ชาวพังคลีเรียกปะเหละ ไพศัข (Pahela Baishakh) คนสิกข์เรียกว่า ไวสาขี หรือไพสาขี ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นเทศกาลเพาะปลูกในภาคเหนือของอินดีย

เหตุที่เรียกว่าไวศขี หรือไพศัข เพราะเทศกาลนี้ แม้ดูปฏิทินสากลจะตรงกับเดือนเมษายน แต่หากนับตามจันทรคติ มักอยู่ในเดือนไวศาขะตามปฏิทินฮินดู (เราเรียกเดือนวิสาขะ)

ดังนั้น แขกก็นับปีใหม่ตรงกับสงกรานต์เช่นเดียวกับเรามาตั้งแต่โบราณ แต่ปีใหม่อย่างแขกไม่มีสาดน้ำนะครับ เขาจะจัดถาดใส่ผลหมากรากไม้และของมงคลไว้ที่บูชาพระ (เหมือนอย่างพม่าจัดหม้อปูรณขตะหน้าบ้าน) จากนั้นทำอาหารพิเศษกินกัน และไปวัดวาทำบุญสุนทาน แจกเงินแจกทองเยี่ยมญาติพี่น้อง

อ่อ แต่มีแขกบางพวกไม่ได้ถือปีใหม่ตรงกับสงกรานต์ คือคนคุชราตและบางส่วนของคนมาราฐีในแคว้นมหาราษฎร์ เพราะเขาถือปีใหม่ในเทศกาลทีปาวลีตกราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม คือตรงกับเดือน “กรรติกะ” และยังถือว่าปีวิกรมีสัมวัตต้องเปลี่ยนในช่วงนั้นด้วย

อันนี้ดันมาตรงกับปีใหม่เก่าในเดือนอ้ายตามธรรมเนียมพื้นเมืองของเรานั่นแหละครับ จะรับกันมายังไงหรือไม่เกี่ยวข้องกันผมก็ยังไม่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติม

 

ทุกวันนี้ ความเป็นปีใหม่ในอินเดียก็เหมือนกับบ้านเรา คือมีทั้งปีใหม่สากลอย่างฝรั่ง ปีใหม่ตามโลกมุสลิมคือฮิจเราะห์ศักราช ปีใหม่ตามท้องถิ่น (ต่างมีปฏิทินของตัวเอง) ปีใหม่ตามความเชื่อ ปีใหม่ตามวิถีชาวบ้าน ปีใหม่ตามศักราชทางการ ฯลฯ โอ้ย มากมายไม่แพ้กัน

ทำไมปีใหม่ถึงสำคัญเพียงนี้ ผมคิดว่า ก็ลองให้เราอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีหมุดหมายให้นับว่าวันวานมันผ่านไปมากน้อยแค่ไหน เราเบื่อแย่เลยครับ ไม่รู้ชีวิตจะเป็นยังไงต่อ (ที่จริงมันมีนัยยะเรื่องอำนาจ กับความเป็นท้องถิ่นนิยมด้วย)

ปีใหม่ที่หมุนเวียนมาช่วยให้เรามีความหวัง ว่า อย่างน้อยๆ สิ่งเก่าๆ คงจะผ่านไปในไม่ช้า เหมือนเจ้าไวรัสโควิดนี่แหละ

สวัสดีปีใหม่ไทย-อินเดียครับ