ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 2 “lockdown” เมือง สู้โรคห่า ด้วยพิธีอาพาธพินาศ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อครั้งที่อหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2363 ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ห่าลงปีมะโรง” นั้น รัชกาลที่ 2 ได้โปรดฯ ให้ทำ “พิธีอาพาธพินาศ” (แปลตรงตัวว่า พิธีที่ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไป) ดังความในพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ฉบับเจ้าทิพากรวงศ์ที่ว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ความไข้ซึ่งบังเกิดทั่วไปแก่สมณชีพราหมณ์ ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินครั้งนี้ เพื่อกรรมของสัตว์ ใช่จะเป็นแต่กรุงเทพมหานครก็หาไม่ เมืองต่างประเทศแลเกาะหมากเมืองไทรก็เป็นเหมือนกัน ซึ่งจะรักษาพยาบาลแก้ไขกันด้วยคุณยาก็เห็นจะไม่หาย จึงให้ตั้งพระราชพิธีอาฏานาฏิยสูตรเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นสิบค่ำ”

อาฏานาฏิยสูตรคือพระสูตรในพระไตรปิฎกที่อ้างเอาไว้ว่า ท้าวเวสสุวรรณได้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงรับเอาไว้ เพื่อให้บรรดาสาวกของพระองค์ จากภูตผีปีศาจ และความอุบาทว์จัญไรทั้งหลาย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รัชกาลที่ 2 จะจัดให้สวดอาฏานาฏิยสูตร แต่พระองค์ก็ไม่ได้เพียงแค่ให้สวดมนต์บทนี้เพียงอย่างเดียว เพราะยังทรงสร้างมิ่งขวัญและกำลังใจให้กับราษฎรเพิ่มเติม ด้วยการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ ออกมาแห่รอบเมือง ดังความในพงศาวดารฉบับเดิมที่ว่า

“เชิญพระแก้วมรกตแลพระบรมธาตุทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทรายปะน้ำปริตทั้งทางบกทางเรือ”

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัชกาลที่ 2 จะทรงมุ่งแต่สร้างขวัญและกำลังใจให้กับราษฎรแต่เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น เพราะพระองค์ยังทรงมีมาตรการในการจัดการกับเหตุการณ์ห่าลงเมืองในครั้งนั้น ผ่านอะไรที่เรียกว่า “พิธีอาพาธพินาศ” อย่างเป็นระบบระเบียบอยู่มากเลยทีเดียว

พงศาวดารฉบับเดิมได้ระบุต่อไปในหัวข้อพิธีอาพาธพินาศด้วยว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถือศีล ทั้งพระราชวงศานุวงศ์ที่มีกรมหามีกรมมิได้ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในก็โปรดสั่งมิให้เฝ้า ให้งดกิจราชการเสียมิให้ว่ามิให้ทำ ให้ตั้งใจทำบุญสวดมนต์ให้ทาน

บรรดาไพร่ซึ่งนอนเวรประจำซองรักษาพระราชวังชั้นในแลชั้นนอกก็ให้เลิกปล่อยไปบ้านเรือน โดยทรงพระเมตตาว่าประเพณีสัตว์ทั่วกัน ภัยมาถึงก็ย่อมรักชีวิต บิดามารดาภรรยาแลบุตรญาติพี่น้องก็เป็นที่รักเหมือนกัน จะได้ไปรักษาพยาบาล”

ดังนั้น “พิธีอาพาธพินาศ” จึงไม่ใช่แค่การสวดมนต์ แห่พระแก้วมรกตหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เพื่อให้โรคห่าหายไป อย่างที่มักจะเข้าใจผิดกันเท่านั้น

แต่ยังเป็นการวางมาตรการในการจัดการกับโรค เพื่อให้โรคหยุดระบาดอีกด้วย

พูดง่ายๆ ว่า รัชกาลที่ 2 ทรงมีรับสั่งให้ทำการ “lockdown” พระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็คือระบบการทำงานส่วนกลางของรัฐ ในยุคต้นกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้การระบาดของโรคมีโอกาสแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง คล้ายๆ กันกับที่ในปัจจุบันเรากำลังสู้อยู่กับโควิด-19 นั่นแหละครับ

 

และการ lockdown ในครั้งนั้นก็ดูเหมือนว่าจะมีระเบียบแบบแผนและมาตรการในการเยียวยาบุคลากรต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังที่ชัดเจนเสียด้วย เพราะใครที่ขออยู่รับใช้ทำงานในวังต่อก็ได้พระราชทานค่าตอบแทนเป็นพิเศษ ดังปรากฏข้อความระบุต่อไปด้วยว่า

“ที่ผู้ใดมีกตัญญูอยู่รักษาพระองค์มิได้ไปนั้นก็ให้พระราชทานเงินตราตามความชอบ”

แถมความในพงศาวดารเล่มเดิมยังบอกให้เรารู้อีกด้วยว่า รัชกาลที่ 2 ไม่ได้ทำเพียงแค่ lockdown เฉพาะระบบการทำงานส่วนกลางในพื้นที่แออัดอย่างพระบรมมหาราชวังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีข้อความระบุไว้อีกว่า

“มีรับสั่งห้ามมิให้ไปเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สัตว์ในน้ำแลบนบก ให้อยู่แต่บ้านเรือน เว้นแต่มีการร้อนควรจะต้องไปจึงให้ไป”

อย่าลืมนะครับว่า อะไรที่เรียกว่า “อหิวาตกโรค” นั้น เป็นโรคที่จะแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้นถ้าหากว่าการประปาและสาธารณสุขยังไม่ดีเท่าไหร่นัก และคนยังต้องบริโภคน้ำบ่อ หรือน้ำจากแม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูง ที่เชื้อโรคจากอุจจาระของคนจะไหลเข้าไปอยู่ในน้ำที่นำมาบริโภคได้มาก

ดังนั้น การที่รัชกาลที่ 2 ทรงประกาศไม่ให้คนเที่ยวฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องของการทำบุญทำทานเพียงอย่างเดียว เพราะการที่ไม่ให้คนออกไปจับสัตว์บก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์น้ำนั้น ก็ย่อมลดโอกาสที่จะทำให้ผู้คนลงไปทำกิจกรรมต่างๆ ในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเป็นอย่างยิ่ง

และในเมื่อยิ่งห้ามไม่ให้ออกจากบ้านโดยที่ไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งไม่ต่างไปจากการ lockdown เมือง อย่างที่ในหลายๆ ประเทศทำกัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 นั่นแหละครับ

 

ในท้ายที่สุดของเหตุการณ์ห่าลงปีมะโรงในครั้งนั้น พงศาวดารได้ระบุเอาไว้ว่า

“เดชะอานิสงส์ศีลแลทานบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร ให้ทำดังนี้ มาจนถึงวันเสาร์ เดือนเจ็ด แรมเจ็ดค่ำ ความไข้ก็ระงับเสื่อมลงโดยเร็ว”

ถึงแม้ว่าในพงศาวดารจะอ้างว่า “ความไข้ได้ระงับเสื่อมลง” ด้วย “เดชะอานิสงส์ศีลแลทานบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” แต่นี่ก็เป็นธรรมดาของภาษาตามธรรมเนียมการเขียนพงศาวดาร ที่ในแง่หนึ่งก็อาจนับได้ว่าเป็นงานยอพระเกียรติกษัตริย์เท่านั้นนะครับ

เพราะหากจะว่ากันตามรายละเอียดที่ถูกบันทึกอยู่ภายในนั้นแล้ว ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงมาตรการในการจัดการกับโรคระบาดในสมัยของพระองค์ ซึ่งหากจะว่ากันตามตรรกะและเหตุผลโดยทั่วไปแล้ว มาตรการ lockdown เมืองต่างหากที่ทำให้ภัยร้ายจากการระบาดของอหิวาตกโรคหายไป

ดังนั้น ที่พงศาวดารระบุว่า “ทรงพระมหากรุณาแก่อาณาประชาราษฎร ให้ทำดังนี้” ย่อมไม่ได้หมายถึงการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรือการแห่พระแก้วมรกตกับพระบรมธาตุ เท่ากับการจัดการกับการแพร่กระจายของอหิวาตกโรค เพราะการสวดมนต์และการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เป็นเพียงส่วนของพิธีกรรม ที่ใช้สำหรับสร้างขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนในช่วงห่าลงเมือง ซึ่งในแง่ของการปฏิบัติการแล้ว ก็อาจจะนับได้ว่าเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในพิธีอาพาธพินาศเท่านั้นนั่นเอง