นิธิ เอียวศรีวงศ์ | โรคของเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในเรื่องทุ่งมหาราชของครูมาลัย ชูพินิจ เมื่อไข้ทรพิษระบาดอย่างหนักในชุมชน ผู้ใหญ่บ้านก็ตัดสินใจร่วมกับผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านว่า ต้องอพยพโยกย้ายหนีโรคไปหาที่ตั้งถิ่นฐานอื่นทั้งชุมชน เมื่ออพยพไปอยู่ที่ใหม่ ไข้ทรพิษก็ซาลงในที่สุด และชุมชนก็อยู่รอดปลอดภัยสืบมา

การอพยพโยกย้ายหนีโรคระบาด หรือการ “หนีห่า” คือการต่อสู้กับโรคระบาดของชุมชนหมู่บ้านทั้งโลก

ชนบทหรือหมู่บ้านเป็นทำเลที่โรคร้ายระบาดได้ยากโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพราะคนซึ่งเป็นผู้แพร่เชื้อมีโอกาสใกล้ชิดกับคนอื่นไม่มากนัก (physical distancing เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอยู่แล้ว แม้ว่า social distancing มีน้อย) โรคระบาดใหญ่ๆ ที่จดจำกันในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ไข้ทรพิษ, กาฬโรค, อหิวาตกโรค, วัณโรค, กามโรค, เอดส์, ซาร์ส, อีโบล่า ฯลฯ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนได้เป็นล้าน ล้วนเป็นโรคของเมืองทั้งนั้น

แม้ว่าต้นกำเนิดของโรคอาจมาจากหมู่บ้าน อันเป็นแหล่งซึ่งคนเกี่ยวพันกับสัตว์ป่ามาก จึงเปิดโอกาสให้เชื้อโรคในสัตว์กลายพันธุ์เข้ามาอยู่ในมนุษย์ แต่จะระบาดร้ายแรงได้ก็ต่อเมื่อโรคขยายเข้าเมืองเท่านั้น

นอกจากการทิ้งระยะห่างระหว่างกันจะทำได้ยากในวิถีชีวิตของเมืองแล้ว ในบางท้องที่ของเมือง เช่น สลัม, ห้องแถว ฯลฯ ก็อาจทำไม่ได้เอาเลย ส่วนจะอพยพย้ายเมืองหนีโรคนั้น เกินกำลังที่เมืองใดในโลกนี้จะทำได้ และด้วยเหตุดังนั้น ประชากรของเมืองจึงตายกันเป็นเบือ

ในสมัยทุ่งมหาราชและสืบมาอีกนาน ประเทศไทยคือประเทศชนบท มีประชากรและเขตที่จัดได้ว่าเป็นเมืองอยู่นิดเดียว แต่ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศของเมืองแล้ว ประชากรส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในชุมชนซึ่งมีคุณลักษณะของเมืองเต็มตัว แม้อาจยังทำการเกษตรโดยพื้นฐานอยู่ แต่ประชากรที่ทำการเกษตรเต็มตัวกลับเป็นคนส่วนน้อยในทุกชุมชนที่กลายเป็น “เมือง” ทั้งสิ้น แม้แต่ในชุมชน “หลังเขา”

อย่างน้อยชีวิตในหมู่บ้านทุกวันนี้ไม่อาจอยู่เป็นอิสระจากเมืองได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทุกเวลานาที

ปรากฏการณ์เปลี่ยนสู่ความเป็นเมือง ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นปรากฏการณ์ของเอเชียนับตั้งแต่ศตวรรษก่อนจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่โรคอุบัติใหม่หลายโรคเริ่มระบาดในเอเชียก่อน หรือระบาดในลักษณะที่เหมือนเอาไม่อยู่

เมืองเป็นพื้นที่ประหลาดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นอกจากเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรหนาแน่นแล้ว การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประชากรยังมีความหลากหลาย ไม่สอดคล้องต้องกันหรือไปในทิศทางเดียวกันเหมือนหมู่บ้าน ยากจะหาฉันทามติอย่างใดอย่างหนึ่งในสังคมเมืองได้

ดังนั้น มาตรการยับยั้งโรคระบาดของเมืองจึงไม่ง่ายเลย ปิดเมืองไม่เหมือนปิดนา ทำความเดือดร้อนแก่ผู้คนจำนวนมากซึ่งรู้สึกตัวอยู่แล้วว่า พร้อมจะป้องกันตนเองและผู้อื่นจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคด้วยวิธีอื่นๆ เช่น สวมหน้ากากหรืออยู่ให้ห่างคนอื่น ล้างมือบ่อยและคอยวัดไข้ตนเองอยู่เสมอ เป็นต้น

ซ้ำการอยู่ร่วมกันในเมืองยังไม่ก่อให้เกิด “ชุมชน” ขึ้นโดยอัตโนมัติด้วย ชุมชนที่ผมใช้ในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์ที่อาจก่อให้เกิดความร่วมมือบางอย่าง โดยผ่านความเชื่อมโยงผ่านสิ่งต่างๆ นับตั้งแต่เครือญาติ, อาชีพ, ชาติพันธุ์,งานอดิเรก, กิจกรรมทางสังคม, พรรคการเมือง, ความคิดทางการเมืองและสังคม, ทำเลถิ่นที่อยู่, ศาสนสถานที่ประกอบพิธีร่วมกัน ฯลฯ ชุมชนในความหมายนี้เป็น “สถาบัน” อย่างหนึ่ง คือดำรงอยู่ได้โดยคนในสถาบันนี้อาจเปลี่ยนหน้าไปตามอายุขัยหรือการย้ายออกย้ายเข้าซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สั่งเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงเมื่อไร คงมีคนอดโซ หรือถ้าเป็นเวลาถึง 21 วัน ก็อาจถึงอดตายได้เป็นจำนวนน่าตกใจ เพราะในเมืองสมัยใหม่ทุกแห่ง โดยเฉพาะของเอเชีย มีคนที่ไม่มีกำลังเข้าถึงอาหารในสถานการณ์เคอร์ฟิวนับเป็นแสนเป็นล้านอยู่ในเมืองนั้นๆ ทั้งสิ้น รัฐไม่มีกำลังที่จะนำอาหารไปให้ถึงคนทั้งหมด อีกทั้งฐานของการจัดองค์กรทางสังคมในหลายประเทศทำให้องค์กรชุมชนไม่มีกำลังจะทำเช่นกันได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ การต่อสู้กับโรคระบาดของเมืองในโลกปัจจุบัน ต้องการรัฐที่เข้มแข็งหรือสังคมที่เข้มแข็ง หากมีทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ยิ่งวิเศษ

ผมไม่ทราบว่าเหตุใดผู้มีอำนาจในเมืองไทยจึงมองจีนเป็นแบบอย่างในการจัดการโควิด-19 จีนมีรัฐที่เข้มแข็งอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศเผด็จการทั่วไป (ไม่ใช่เพราะจีนมีทหาร-ตำรวจไว้คุมประชาชนได้ทุกฝีก้าว แต่เพราะรัฐบาลที่อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเนื่องจากความสำเร็จทางเศรษฐกิจต่างหาก ถึงไม่ได้วางใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็วางใจว่า อย่างน้อยพรรคคอมมิวนิสต์จะทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋าของตัวต่อไป) เผด็จการไทยไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง จึงไม่ทำให้เกิดรัฐที่เข้มแข็งขึ้นได้ (ยังไม่พูดถึงจุดอ่อนอีกหลายอย่างในระบบบริหารของไทยเอง) การใช้มาตรการจัดการโรคระบาดอย่างเดียวกับจีน จึงจะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดมหึมาแก่ทั้งประชาชนไทย, เศรษฐกิจไทย และสังคมไทย

เช่นเดียวกับความสำเร็จของสิงคโปร์และเกาหลีใต้ในการจัดการกับโควิด-19 ก็มาจากรัฐที่เข้มแข็งอย่างที่ไม่อาจหวังได้จากไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย

ส่วนความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ของเยอรมัน, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น เป็นกรณีที่ลอกเลียนได้ยากขึ้นไปอีก เพราะเป็นความสำเร็จที่ได้จากรัฐและสังคมที่เข้มแข็งไปพร้อมกัน

สังคมเข้มแข็งเพียงอย่างเดียว ไม่อาจจัดการกับโรคระบาดของเมืองได้ เพราะทั้งทรัพยากรและอำนาจในการจัดการอยู่ในมือของรัฐ ดังนั้น อย่างไรเสียก็ขาดรัฐไม่ได้ ผมคิดว่าอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ คือมีสังคมที่เข้มแข็งแต่มีรัฐที่อ่อนแอ ผมไม่ได้หมายถึงแสนยานุภาพทางเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐคือเครื่องบ่งชี้นะครับ แต่ผมหมายถึงความแตกแยกทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความแตกแยกที่ความภักดีต่อพรรคการเมือง แต่เป็นความแตกแยกระดับพื้นฐานกว่านั้น คือระหว่างประชาธิปไตยกับโอกาสทางเศรษฐกิจ ดังที่บรรยายไว้บางส่วนใน How Democracies Die ของ Steven Levitsky & Daniel Ziblatt (ที่ผมเรียกว่า “บางส่วน” เพราะผู้เขียนให้ความสำคัญแก่การแข่งขันของพรรคการเมืองท่ามกลางการล่มสลายของประเพณีประชาธิปไตยอเมริกัน แต่ผมคิดว่าการล่มสลายนี้มีที่มาลึกกว่าการแข่งขันกันของนักการเมือง)

เราควรดูแบบอย่างการจัดการกับโควิด-19 ที่ทำในประเทศอื่นอย่างแน่นอน เพราะขึ้นชื่อว่าโรคระบาดใหม่ ย่อมหมายความว่าไม่มีใครมีความรู้จริงสักประเทศเดียว จึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกันทั้งโลก ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลว แต่การจัดการไม่ใช่เทคโนโลยี ซึ่งอาจลอกเลียนกรณีที่ประสบความสำเร็จมาใช้ได้ทันที ผลของการใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขแวดล้อมของประเทศนั้นๆ มากกว่าตัววิธีการ

ในทางตรงกันข้าม การจัดการกับโควิดด้วยรัฐที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แม้ประสบความสำเร็จก็อาจมีต้นทุนที่สูงมาก ผมไม่ทราบหรอกว่าคนที่ถูกกักตัวอยู่ในบ้านในเมืองอู่ฮั่นของจีนนั้นประสบความยากลำบากถึงเพียงไร แต่ผมเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีข่าวรั่วไหลออกมามากขึ้นถึงชะตากรรมของบางคนที่เลือดตาแทบกระเด็น แม้ในเวลานี้ก็เริ่มมีบ้างแล้ว ต่อไปจะมีมากขึ้นจนทำให้เราได้เห็นราคาของ “ต้นทุน” ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ และหลายมาตรการที่รัฐบังคับใช้ อาจเกินความจำเป็น…

รัฐสมัยใหม่เป็นก๊อดซิลล่าเสมอ ถึงไม่ตั้งใจทำร้ายใคร เพียงเคลื่อนไหวเท่านั้น ตึกรามบ้านช่องและชีวิตมนุษย์ก็พังพินาศลงไปเป็นอันมาก

กลับมาสู่ความเข้มแข็งทางสังคมในประเทศไทย เรื่องนี้ทำให้นึกถึงทฤษฎี “รัฐล้อมสังคม” ของท่านอดีตศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช รัฐไทยสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นด้วยเจตนาจะทำให้องค์กรชุมชนทุกชนิดอ่อนกำลังลง ไม่เฉพาะแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งถูกระบบราชการส่วนกลางเข้ามาแทนที่เท่านั้น แต่รวมถึงองค์กรชุมชนอื่นๆ ทุกอย่างด้วย

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายถึงการประกาศ “ยุบ” องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ลง แต่หมายถึงการทำให้ความสัมพันธ์ผ่านสายใยอื่นๆ ที่เป็นอิสระจากรัฐ กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่อาจนำไปสู่ปฏิบัติการทางสังคมใดๆ ได้ ถ้าความเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ เกิดขึ้นจากใบอนุญาตของรัฐ ไม่ใช่การยกย่องนับถือของผู้คนในละแวก (ซึ่งอาจเคยบวชตั้งแต่พ่อจนถึงหลาน) ความเป็นศิษย์ของ “อาจารย์” เดียวกัน ก็เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบเท่านั้น ไม่อาจนำไปใช้ปฏิบัติการทางสังคมอะไรได้ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ในรูปอื่น นับตั้งแต่ใช้น้ำเหมืองเดียวกัน นับถือผี “เจ้าพ่อ” เดียวกัน หรือเค้าผีเดียวกัน ฯลฯ ก็กลายเป็น “ชุมชน” ที่อ่อนกำลังลงไปหมด

“ชุมชน” ใหม่ซึ่งควรเกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมก็ถูกขัดขวางมิให้เกิด หรือถูกจำกัดกิจกรรมลงเป็นเพียงความบันเทิง ที่พูดกันว่าสมาคมในเมืองไทยมีไว้แทงบิลเลียดเท่านั้น ก็เพราะสมาคมไม่ใช่การรวมกลุ่มอาชีพเพื่อการต่อรองอะไรในสังคม กฎหมายแรงงานทำให้การรวมกลุ่มเป็นสหภาพในรูปต่างๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยเสรีเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ภาพของคนบางกลุ่มในเมืองใหญ่ๆ ของไทยในยาม “ปิดเมือง” ที่ทำอาหารแจกผู้คนที่เข้าไม่ถึงอาหารเป็นภาพที่น่าประทับใจ แต่ขอให้สังเกตว่าเป็นการกระทำส่วนบุคคล น้อยนักที่ทำในรูปองค์กร ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนมากพร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กันในยามนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถทำได้ คือไปซื้อหาวัตถุดิบมาทำอาหารทุกวันเพื่อแจก ดังนั้น หากมีการจัดองค์กรเพื่อการนี้ ผมเชื่อว่ามีคนพร้อมจะอุทิศสิ่งที่สามารถอุทิศได้ให้แก่ความพยายามเช่นนี้อีกมาก เช่น ทรัพย์, แรงงาน, ความรู้, วัสดุ ฯลฯ

แต่เราจะจัดองค์กรขึ้นในที่ว่างเปล่า โดยปราศจากฐานของกลุ่มทางสังคมซึ่งเคยชินกับปฏิบัติการทางสังคมมาก่อน ย่อมเป็นไปไม่ได้

มีอีกหลายสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากวิกฤตโรคระบาดของเมืองครั้งนี้ ไม่ใช่แต่บทเรียนทางด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์เพียงอย่างเดียว การปล่อยให้มีรัฐที่ล้มเหลวขนาดนี้ก็อันตราย การปล่อยให้มีสังคมที่ล้มเหลวขนาดนี้ก็อันตรายเหมือนกัน เพราะวิกฤตสำหรับประเทศเล็กๆ และเปราะบางเช่นไทยนั้นคงมีอีกมาก ไม่เฉพาะแต่โรคระบาดเท่านั้น