จรัญ มะลูลีม : “มหาธีร์” ยังไม่จบกับการเมืองมาเลเซีย

จรัญ มะลูลีม

กล่าวกันว่าบทละครเบื้องหลังที่ส่งให้มุฮัยยิดดีน ยัซซีน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงดำเนินต่อไปจนกว่ามหฏิร โมฮัมมัด อดีตนายกรัฐมนตรีหมาดๆ จะยุติการวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ คนใหม่คนนี้

อย่างไรก็ตาม มีอยู่บางช่วงขณะที่มหฏิรซึ่งลาออกจากตำแหน่งดูเหมือนจะไม่ค่อยมีความมุ่งมั่นที่จะกลับมาอีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เขาเคยเอ่ยปากว่าเขาจะกลับมาก็ตาม

ไม่เหมือนตอนที่เขาตั้งใจอย่างที่สุดที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2018 หลังจากเลิกข้องเกี่ยวกับการเมืองมายาวนานถึง 20 ปี

ในช่วงนั้น มหฏิรขับเคลื่อนพรรคพันธมิตรแห่งความหวังหรือปากาตันฮารัปปัน (PH) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของชาติพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเอาจริงเอาจัง พร้อมกับหันมาร่วมมือกับนักการเมืองที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาก่อนอย่างอันวาร์ อิบรอฮีม

จุดมุ่งหมายอันเด็ดเดี่ยวและแน่นอนคือการขับรัฐบาลภายใต้อัมโน อันเป็นพรรคการเมืองที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขามาก่อนและเป็นพรรคชาตินิยมของคนเชื้อสายมาเลย์ออกไปจากเวทีการเมืองของประเทศ

สาเหตุสำคัญคือความไม่พอใจที่รัฐบาลภายใต้นาญิบ ตุน รอซัก โกงบ้านโกงเมืองอย่างมโหฬารในโครงการ 1MDB

แต่มหฏิรก็ต้องเจอสนิมจากเนื้อในตนเมื่อสมาชิกพรรคบางคนมีความพยายามที่จะเป็นพันธมิตรกับพรรคอัมโน สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความปวดร้าวให้มหฏิรจนนำไปสู่การลาออกของเขาในที่สุด

แต่ทันทีที่มุฮัยยิดดีน ยัซซีน รัฐมนตรีมหาดไทยในสมัยของเขาเองเข้าสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรี มหฏิรก็ท้าทายความชอบธรรมในกระบวนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่คนนี้โดยทันที ทั้งๆ ที่มุฮัยยิดดีนได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในสภาถึง 112 เสียงจากจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 222 คน

มหฏิรไม่เห็นด้วยกับเสียงสนับสนุนที่มาจากพรรคอัมโนและไม่เห็นด้วยกับพรรคอัมโนที่เอนเอียงไปทางคนมุสลิมมาเลย์มากเกินไป ทั้งๆ ที่มาเลเซียมีเชื้อชาติและชนกลุ่มน้อยต่างๆ อยู่ร่วมกัน ดูเหมือนว่าข้ออ้างของมหฏิรจะถูกอกถูกใจบรรดาชาติพันธุ์กลุ่มน้อยต่างๆ เป็นอย่างมาก

 

ในขณะเดียวกันมหฏิรก็พยายามอธิบายกับผู้สนับสนุนตนถึงการแตกหักของการเป็นรัฐบาลผสมก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคนใหม่

แต่ข้อเรียกร้องของมหฏิรต้องหยุดชะงักลงเมื่อประธานรัฐสภากล่าวว่า รัฐสภาจะไม่มีการประชุมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

อย่างไรก็ตาม ความสามารถของมหฏิรในการทำให้เขากลับมามีอิทธิพลอีกครั้งก็ยังไม่อาจมองข้ามได้

คงจำกันได้ว่ามีคนไม่กี่คนเท่านั้นที่เชื่อว่าเขาจะกลับมาได้อีกในปี 2017 เมื่อเขาจับมือกับอันวาร์ ผู้ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากตัวเขาเองมาก่อน

ทั้งนี้ ตัวของมหฏิรเองคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจริญเติบโตทางการเมืองของอันวาร์ แต่มหฏิรก็เป็นผู้ที่ผลักดันให้อันวาร์ได้รับโทษอันเนื่องมาจากมีพฤติกรรมรักร่วมเพศในทศวรรษ 1990 เช่นกัน

หลังชัยชนะในการเลือกตั้งเขาสัญญาจะมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้อันวาร์ถ้าเขาบริหารครบสองปี แต่จนถึงวันนี้อันวาร์ก็ยังไม่มีโอกาสขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียแต่อย่างใด

ผลการเลือกตั้งซ่อมในเวลาต่อมาทำให้ความหวังของพรรคฝ่ายค้านที่จะกลับมาผงาดอีกครั้งเริ่มเป็นจริง

ความยุ่งเหยิงทางการเมืองของมาเลเซียในปัจจุบันอาจมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซียห่างจากความสำเร็จออกไปอีก

การหันกลับมาให้ความสำคัญกับสิทธิพิเศษของชาวมาเลย์มุสลิมอาจทำให้โวหารการยืนยันในความเท่าเทียมกันของเชื้อชาติต่างๆ ในประเทศหมดความสำคัญลงไป

แม้ว่ามหฏิรจะหมดอำนาจในฐานะผู้นำประเทศลงไปแล้ว แต่เราก็อาจกล่าวถึงเขาได้ว่าเขาคือนักวางแผนทางการเมืองของมาเลเซียคนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวัย 94 ปี โดยเมื่อเขาบริหารได้สองปีเขาก็ยังคงไม่ยอมมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้อันวาร์ อิบรอฮีม อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่เขาเชิญชวนให้มาต่อสู้กับรัฐบาลอัมโนของนาญิบแต่อย่างใด

มหฏิรพยายามรวมการเมืองของชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล และเขาก็ไม่โดดเดี่ยวในเรื่องนี้ในตอนต้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มก้อนที่ช่วยสนับสนุนเขาให้ได้รับชัยชนะในปี 2018 กลับหันมาสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านอย่างอัมโนที่เป็นอดีตแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2018 ให้เข้ามาเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพวกเขา

การดึงเอาอัมโนเข้าร่วมรัฐบาลทำให้ความหวังของมหฏิรที่จะเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาญิบเริ่มสั่นคลอนและต้องลงจากอำนาจด้วยการลาออก

โดยการลาออกดังกล่าวนั้นกระทำขึ้นเพื่อปรับกระบวนท่าก่อนที่จะกลับมาใหม่อีกครั้ง

แต่ทุกอย่างก็สายเกินไปเมื่อพระราชาธิบดีได้แต่งตั้งผู้นำคนใหม่อย่างมุฮัยยิดดีน ยัซซีน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐบาลมหฏิรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว

มหฏิรได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2018 แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เขาต้องเผชิญกับการแตกแยกในรัฐบาลผสมของเขาจนนำไปสู่การลาออกของเขาในที่สุด

มหฏิรเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่อยู่ในอำนาจมายาวนาน โดยในการเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เขาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1981-2003

ปี 2018 เขาได้กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้งหลังจากยุติบทบาททางการเมืองยาวนานถึง 2 ทศวรรษเพื่อมาแก้ไขปัญหาเงินกองทุนของรัฐจำนวนมากมายมหาศาลที่ต้องถูกฉ้อฉลไปโดยนาญิบ ตุน รอซัก

ดังได้กล่าวมาแล้ว มหฏิรได้ร่วมมือกับอันวาร์ อิบรอฮีม จนได้รับชัยชนะและขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สำเร็จ แต่ต่อมารัฐบาลผสมของเขาเกิดความระส่ำระสายจากความขัดแย้งภายใน การลาออกของมหฏิรนำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลที่นำโดยพรรคปากาตัน ฮารัมปัน

เปิดทางให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

 

ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงก็ดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มุฮัยยิดดีน ยัซซีน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด โดยมหฏิรกล่าวว่า การแต่งตั้งมุฮัยยิดดีนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการทรยศ

แหล่งข่าวเห็นพ้องต้องกันว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะยังไม่จบ และเป็นที่กระจ่างชัดว่ามหฏิรจะไม่ยุติการต่อสู้ของเขาไปได้ง่ายๆ แต่การต่อสู้ของเขาจะสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องของอนาคต

มหฏิรเข้าสู่การเมืองด้วยการสังกัดพรรคอัมโนในวัยที่หนุ่มแน่นมากแค่เพียง 21 ปี เป็นนายแพทย์ในรัฐเกอดะฮ์อยู่ 7 ปี ก่อนที่จะได้รับเชิญเข้าสู่สภาในปี 1954

ปี 1969 เขาประสบความพ่ายแพ้ และถูกขับออกจากพรรคเนื่องจากเขียนจดหมายโจมตีตุนกู อับดุรเราะห์มาน อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มีเชื้อสายไทยอย่างเปิดเผย

ต่อมาเขาเขียนหนังสือชื่อมาเลย์ในสภาวะเขาควาย (The Malay Dilemma) โดยมีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การบอกกล่าวถึงสภาพทางสังคมที่ทำให้ชาวมาเลเซียต้องกลายเป็นคนนอกในประเทศของตนเอง โดยพวกเขาต้องยอมรับการเป็นประชาชนชั้นสองอย่างไม่มีทางเลือก

ข้อเขียนของเขาสร้างความสะเทือนใจให้กับสมาชิกหนุ่ม-สาวของอัมโน เขาจึงถูกเรียกเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาในปี 1974 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการ และภายใน 4 ปี เขาสามารถไต่ขึ้นมาเป็นรองนายกรัฐมนตรี

และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1981

ภายใต้การปกครองของเขา มาเลเซียขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจของเอเชียในช่วงทศวรรษ 1990

โครงการสำคัญที่เขานำเอาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่มาเลเซียที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดได้แก่ตึกแฝดปิโตรนาส (Petronas Twin Tower) ที่แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของเขาอย่างชัดเจน