วงค์ ตาวัน | กัดกินปอดลามถึงปากท้อง

วงค์ ตาวัน

ตัวเลขการขึ้น-ลงของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด สถิติคนที่รักษาหาย ไปจนถึงจำนวนผู้เสียชีวิต ที่มีขึ้น-ลงในแต่ละวัน เป็นที่สนใจติดตามตรวจสอบกันอย่างจดจ่อ ด้วยเป็นเครื่องบ่งบอกแนวโน้มสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรงที่สร้างผลกระทบต่อทุกชีวิต

สำหรับประเทศไทยเรา เมื่อเปรียบเทียบสถิติคนป่วยไข้และคนล้มตาย ต้องนับว่าดูดีกว่าหลายๆ ชาติอย่างมาก

เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีกันถ้วนหน้า คล้ายกับบ่งบอกถึงประสิทธิภาพทางด้านสาธารณสุขของเรา และมาตรการที่ได้ผลดียิ่งของรัฐบาล

“แม้ว่าอาจจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังตั้งข้อสงสัยถึงตัวเลขที่ดูดีดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตในบางด้านบางประการอยู่”

ขณะเดียวกันการกล่าวขวัญถึงตัวเลขของประเทศไทยเราที่เหมือนบ่งบอกการแก้ปัญหาได้ดีมีทิศทางถูกต้อง ทำให้คนป่วยไข้และคนล้มตายไม่มากมายเกินไปนักดังกล่าว ก็ไม่ควรจะนำไปใช้เพื่อแสดงการเปรียบเทียบเชิงเย้ยหยันชาติอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป

ทำนองว่า พวกชาติตะวันตกชอบมาวิจารณ์การเมืองและประชาธิปไตยในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดีนัก แต่ในการแก้ปัญหาโควิดกลับสู้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ อะไรทำนองนี้

เพราะการแก้ปัญหาของแต่ละบ้านเมืองในวิกฤตโควิดนั้น ต้องมองให้รอบด้าน

มีทั้งด้านการหยุดยั้งโรคระบาดไม่ให้คนป่วยตาย และในด้านการดูแลประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ ไม่ให้อดตายด้วย

“ต้องแก้ทั้งไม่ให้ป่วยตายและทั้งไม่ให้อดตาย!!”

โดยเฉพาะประเด็นการดูแลประชาชนวงกว้าง ที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้าน ตามมาตรการหยุดการแพร่เชื้อ ในแง่นี้จะพบว่าชาติอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปไปจนถึงชาติมาตรฐานสูงในเอเชีย ล้วนทุ่มเทจริงจัง

เหนือกว่าในบ้านเรามาก

“บ้านเราอาจจะดูดีในด้านแก้คนป่วยตายได้ แต่เรื่องคนกำลังมีแนวโน้มจะอดตาย ในประการหลังนี้ การจัดการของรัฐบาลไทยเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์!?”

ในทางกลับกัน ตัวเลขคนป่วยตายที่พุ่งสูงอย่างน่ากลัวในสหรัฐและยุโรปนั้น ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นการเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่มีการปกปิด

พร้อมๆ กับข้อมูลทางการแพทย์เองที่ระบุว่า สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาโควิดในยุโรป เป็นสายพันธุ์ที่ดุและแรงกว่าโควิดในเอเชีย

อีกด้านมาตรการของรัฐบาลในชาติตะวันตกและในหลายชาติของเอเชียเอง ไม่แค่ทุ่มเทด้านสาธารณสุข แต่ทุ่มเทจริงจังในด้านการดูแลประชาชนวงกว้างที่ไม่ได้เจ็บป่วย ต้องตกงาน ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน รวมทั้งทุ่มเทประคองระบบเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ มีเงินงบประมาณดูแลไม่ให้กิจการต่างๆ ต้องล้มหายตายจากไป เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วที่สุด

จึงกล่าวได้ว่า การจะมองประสิทธิภาพในการรับมือวิกฤตโควิดของรัฐบาลชาติต่างๆ นั้น

ต้องดูทั้งด้านการรักษาคนป่วยและคนที่ไม่ป่วยเพื่อไม่ให้อดตายไปพร้อมๆ กัน ขาดด้านใดด้านหนึ่งไปไม่ได้

มีคำเตือนจากฟากธุรกิจถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างชัดเจนว่า มาตรการปิดธุรกิจสถานบริการกิจการต่างๆ มีผลดีต่อการลดการแพร่เชื้อได้แน่นอน แต่ถ้ายังสั่งหยุดไปเรื่อยๆ โดยไม่มองให้กว้างไกลไปข้างหน้า อีกไม่นานกิจการต่างๆ คงถึงจุดต้องปิดตัวถาวร ล้มหายตายจากไป

ขืนเป็นเช่นนี้ไปอีกเดือนสองเดือน ตัวเลขคนตกงานจะเพิ่มขึ้นทะลุ 10 ล้านคน ระบบเศรษฐกิจรวมจะถึงจุดพังทลายได้

แปลง่ายๆ ว่า รัฐบาลจะดีอกดีใจว่า สั่งให้ธุรกิจต่างๆ ปิดตัวลง ให้คนอยู่แต่ในบ้าน ส่งผลให้การระบาดของโควิดลดน้อยลงไปอย่างได้ผล ตัวเลขคนป่วยคนตายไม่ร้ายแรงน่ากลัว

แล้วจะพึงพอใจกับตัวเลขนี้ ดีอกดีใจไปเรื่อยๆ ย่อมไม่ได้

“เพราะจะมีผลกระทบที่ตามมารุนแรงมากๆ”

กล่าวกันว่าอาจจะมากกว่าความเสียหายจากโควิดด้วยซ้ำ

“เปรียบกันว่า ต่อไปคนจะอดตาย หรือฆ่าตัวตายเพราะไม่มีกิน อาจจะพุ่งสูงกว่าตัวเลขคนตายเพราะโควิด!”

มาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทที่รัฐบาลนำออกมาใช้ ต้องถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ช่วยเหลือคนตกงานได้เพียงแค่จำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่วงกว้าง

แล้วบาดแผลที่เกิดกับคนซึ่งกรอกข้อมูลเพื่อขอรับเยียวยา แต่ถูกปฏิเสธจากระบบข้อมูลอันผิดพลาดของรัฐเอง เป็นแรงกดดันอย่างมหาศาล เกิดความเครียด ความเจ็บช้ำน้ำใจอย่างสูงกับคนจำนวนไม่น้อย

“ไม่เท่านั้น คนยากจน คนตกงานอีกจำนวนมาก ที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่รัฐกำหนดออกมา ก็นั่งมองการจ่ายเงินเยียวยาเหล่านี้อย่างขุ่นข้องใจ”

ยังไม่รวมเจ้าของกิจการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบกันหนักหน่วง ก็จะต้องหมดเนื้อหมดตัวไปตามๆ กันอีก

การบริหารจัดการของรัฐบาลในด้านนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

ตัวเลขคนป่วยคนตายด้วยโควิดที่ดูมีประสิทธิภาพดูด้อยไปทันที เมื่อมามองในด้านการดูแลคนที่ไม่ป่วยแต่กำลังสิ้นเนื้อประดาตัวเหล่านี้

ที่สำคัญ นี่คือปัญหาในอนาคตอันใกล้ของประเทศชาติเลยทีเดียว

ต้องอาศัยความสามารถ ความมากด้วยวิสัยทัศน์ และการกล้าตัดสินใจในการจัดสรรเงินงบประมาณของรัฐบาลเป็นสำคัญ!

มีข้อเปรียบเทียบให้เห็นว่า รัฐบาลหลายๆ ประเทศนั้น เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรับโควิด ใช้มาตรการสั่งหยุดกิจการต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้คนยังคงพบปะรวมตัวกัน ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม

แต่พร้อมๆ กัน เมื่อให้คนอยู่กับบ้าน ก็ต้องจัดการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในทุกด้านอย่างฉับพลัน

เงินเยียวยาในช่วงที่ต้องหยุดงาน ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน จะได้รับการแจกจ่ายในทันทีและถ้วนหน้า ไม่ต้องมาแบ่งประเภทคน กำหนดคุณสมบัติคน และไม่ต้องกรอกข้อมูลเพื่อขอรับเยียวยา

“ได้ทันทีถ้วนหน้าโดยอัตโนมัติ”

ค่าน้ำ ค่าไฟ มีทั้งลดให้ หรือให้ฟรี ไปจนถึงอินเตอร์เน็ตราคาถูกหรือฟรีและมีกำลังแรง ซึ่งสำคัญยิ่งกับชีวิตผู้คนที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน ดูหนังฟังเพลงผ่อนคลาย ไปจนถึงสั่งซื้อข้าวปลาอาหาร สินค้าจำเป็น ผ่านออนไลน์และเดลิเวอรี่

รวมทั้งเพื่อให้คนอีกส่วน ที่ยังสามารถทำการงานหารายได้จากการเวิร์กฟรอมโฮม ก็ต้องมีระบบออนไลน์ที่ทรงประสิทธิภาพ จัดประชุมบริหารการงานทางเน็ตได้

รัฐบาลหลายประเทศที่อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านได้เช่นนี้

ย่อมทำให้มาตรการเก็บตัวอยู่ในบ้านหยุดการแพร่เชื้อได้ผลดียิ่ง

“ทั้งไม่สร้างแรงกดดันให้คนต้องอยู่บ้านแบบอึดอัด ไม่รู้อนาคต ไม่รู้ว่าจะมีกินไปได้อีกกี่วัน”

 

ขณะเดียวกัน มาตรการผ่อนปรนการล็อกดาวน์ ก็ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจนแม่นยำ

ถ้ามัวแต่ดีใจที่คุมโรคระบาดได้ แต่กิจการต่างๆ ก็ต้องปิดตัวไปเรื่อยๆ นั่นก็จะไปถึงจุดเศรษฐกิจพังทลาย หมดอนาคตไปในทันที

“การรู้จังหวะผ่อนล็อก ให้ทยอยเปิดกิจการต่างๆ ได้ เพื่อไม่ให้คนต้องตกงาน เครียด และอดตาย เป็นประเด็นท้าทายการตัดสินใจที่แม่นยำและชาญฉลาดของรัฐบาลต่างๆ”

ดังที่มีเสียงสะท้อนมากมายว่า นานวันเชื้อร้ายโควิดไม่ได้เพียงแค่กัดกินปอด

แต่กำลังกัดกินไปถึงอาชีพการงาน ทรัพย์สินเงินทอง รถยนต์และบ้าน

ความเก่งกาจสามารถของแต่ละรัฐบาลในสถานการณ์โควิด จึงต้องมองให้ครบทุกด้าน และมองไปถึงอนาคตเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ข้างหน้าด้วย!