โควิดตีเมือง! เมื่อ “กองทัพ” เจอ “ศัตรูไร้ตัวตน” กรำศึก “สงครามโรค”

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ท้าทายบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังท้าทายหน่วยงานด้านความมั่นคง-การทหารด้วย

นี่คือ “ภัยพิบัติ” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” แม้เวลาเรากล่าวคำว่า “ภัยพิบัติ” เรามักนึกถึงภัยธรรมชาติหรือภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง

ทว่าโรคระบาดก็นับเป็น “ภัยพิบัติ” อีกชนิดหนึ่งเช่นกัน

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยผ่านการรับมือโรคระบาดมาหลายครั้ง เช่น โรคซาร์ส โรคเมอร์ส ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น

แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถือว่าร้ายแรงกว่ามาก เพราะแพร่กระจายไปทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตขึ้นหลักแสนรายแล้ว อีกทั้งมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว ทำให้หลายประเทศไม่ทันรับมือ และแต่ละประเทศก็มีวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน

ไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสร้ายนอกประเทศจีน ซึ่งในช่วงต้นๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ขยับมากนัก แต่สถานการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเริ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม

ทำให้รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องประกาศใช้ยาแรง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อกระชับอำนาจในการควบคุมการแพร่ระบาด ที่ต้องก้าวให้ทันและมีมาตรการที่นำเหตุการณ์

หลังนายกฯ ได้เชิญคณาจารย์ทางการแพทย์มาที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงก่อนออก พ.ร.ก. เพื่อประเมินและวางแผน ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับมือที่เข้มข้นขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “เจ็บแล้วจบ” นั่นเอง

ในสถานการณ์เช่นนี้ “กองทัพ” เป็นอีกหน่วยงานที่ต้องรับมือ “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” แต่ครั้งนี้ทหารต้องสู้กับ “ศัตรูที่ไร้ตัวตน” คือ “ไวรัส” แล้วกองทัพจะรับมือภารกิจดังกล่าวอย่างไร?

พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้กองทัพเป็นอีก “กองหนุนสำคัญ” ในการสู้กับวิกฤตครั้งนี้ โดยมี “บุคลากรทางการแพทย์” เป็น “นักรบแถวหน้า” ส่วนนายกฯ เปรียบตัวเองเป็น “แม่ทัพ”

โดยกองหนุนเช่นกองทัพนั้นมีศักยภาพเพียงพอ ทั้ง “เครื่องมือ-สถานที่-กำลัง” เช่น แพทย์ทหาร พยาบาลทหาร โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลค่าย โรงพยาบาลสนาม รวมทั้งสถานที่พักรับรอง เป็นต้น

ภารกิจแรกๆ ของกองทัพคือ การจัดเตรียม “สถานกักกันบุคคลกลุ่มเสี่ยง” โดยกองทัพเรือได้เตรียมอาคารรับรองสัตหีบ อ่าวดงตาล จ.ชลบุรี เพื่อรองรับคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่น ประเทศจีน และจะต้องถูกเฝ้าดูอาการ 14 วัน

ถือเป็น “โมเดล” ที่นำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เช่น โรงเรียนการบิน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตลอดจนการเตรียมปรับใช้พื้นที่ค่ายทหารต่างๆ มารองรับภารกิจนี้ไปพร้อมๆ กับการเช่าโรงแรมของภาคเอกชน

ภายหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขึ้นมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการ ศบค.

นอกจากนี้ ได้ตั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง หรือ ศปม. เพราะดูแลทุกเหล่าทัพโดยตำแหน่ง รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในทางยุทธการด้วย

กองบัญชาการกองทัพไทยมีภารกิจใหญ่ หลังเกิดเหตุชุลมุนที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อคืนวันที่ 3 เมษายน เพราะผู้โดยสารชาวไทยที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศกับเจ้าหน้าที่รัฐสื่อสารกันไม่เข้าใจ

จึงเป็นที่มาของการผ่าตัดใหญ่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operation Center, EOC) โดย ศบค.ได้ให้ บก.กองทัพไทยเข้าทำการกำกับศูนย์อีโอซี

มี พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เข้าไปกำกับดูแลที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง พร้อมให้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม รองเสนาธิการทหาร รับผิดชอบการนำ 158 คนไทยที่เดินทางกลับถึงบ้านเกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายนมารายงานตัว เพื่อนำไปเฝ้าดูอาการ 14 วันในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

บุคลากรในกองทัพอีกรายที่เป็น “คีย์แมน” ในการช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ คือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ที่ได้ตกผลึก “แผนพิทักษ์มาตุภูมิ” กับรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม

โดยใช้กำลังประจำถิ่น ได้แก่ กำนัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบล ตำรวจ และทหาร ในการตรวจคัดกรองและดูแลพื้นที่ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน รอง ผบ.ทบ. ก็ต้องเข้าประชุมร่วมกับ ศบค.ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นประจำ

พล.อ.ณัฐพลเป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ โดยมักได้รับมอบหมายภารกิจจาก ผบ.ทบ.อยู่เสมอ รวมทั้งการนำประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกในการรับมือกับโควิด-19 ด้วย

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ให้อำนาจทหารเป็น “ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน” ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ก็ทราบดีว่าทหารย่อมตกเป็นเป้า จึงสั่งให้กรมยุทธศึกษาทหารบกจัดทำข้อแนะนำการปฏิบัติงานในการตั้งชุดตรวจและสายตรวจ ให้กำลังพลพกติดตัว พร้อมให้หัวหน้าชุดทำการชี้แจงกำลังพลก่อนออกปฏิบัติงานเสมอ

ขณะนี้การตั้งจุดตรวจโรคโควิด-19 ได้ใช้ “สารวัตรทหาร” ในการทำงานร่วมกับตำรวจและฝ่ายปกครอง โดย พล.อ.อภิรัชต์ให้ทำการฝึกอบรมก่อนออกปฏิบัติงาน

สำหรับการตั้งด่านตรวจโรคโควิด-19 นั้น กองทัพได้จัดกำลังในแถวที่ 2 คือกำลังพลในส่วนสนับสนุนการรบไปปฏิบัติหน้าที่ ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 คือ กำลังพลนายทหาร-นายสิบ 2 ส่วน และพลทหาร 1 ส่วน สำหรับกองกำลังชายแดนที่มีการตั้งด่านอยู่แล้ว ก็ให้ใช้กำลังพลที่บรรจุไว้แต่เดิม

เหล่าทัพยังได้จัดกิจกรรมบริจาคโลหิตแก่สภากาชาดไทย เพื่อทำการสำรองโลหิตให้เพียงพอ โดยทหารได้บริจาคโลหิตไปแล้วกว่า 1 ล้านมิลลิลิตร นอกจากนี้ ทหารยังได้ลงพื้นที่ออกปฏิบัติการล้างสิ่งปนเปื้อนและฆ่าเชื้อโรคตามพื้นที่ต่างๆ

รวมทั้งจัดทำไวรัลวิดีโอในสื่อโซเชียลด้วยการสอดแทรกเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ให้ประชาชนหรือกำลังพลรู้จักป้องกันตนเองจากไวรัสโคโรนา ส่วนดุริยางค์เหล่าทัพก็จัดทำบทเพลงให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และผู้คนในสังคม

ในส่วนของกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินลำเลียง P-180 และ ATR ทำการบินรับ-ส่งสารคัดหลั่งโพรงจมูกของบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต มาตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ห้องปฏิบัติการในกรุงเทพฯ เพื่อให้การตรวจคัดกรองใน จ.ภูเก็ต มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังได้คิดนวัตกรรมเอไอขึ้นมาในการสร้างหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ ประเดิมด้วย “น้องถาดหลุม” ผลงานการประดิษฐ์ของโรงเรียนนายเรืออากาศฯ ซึ่งใช้ระบบวิทยุควบคุม ทำหน้าที่ส่งอาหาร-ยา-วัดอุณหภูมิผู้ป่วย โดยมีระบบจดจำใบหน้าและเก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อลดการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เชื่อกันว่าพิษโควิด-19 จะส่งผลกระทบไปอีก 2-3 ปี โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งในวิกฤตครั้งนี้ กองทัพต้องทำการ “เฉือนเนื้อตัวเอง” ผ่านการลดงบประมาณ โดยเบื้องต้นตัวเลขการปรับลดอยู่ที่ 10%

ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบฯ 2.3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ประจำ 70% และงบฯ ลงทุน 30%

งบฯ ประจำ ประกอบด้วย เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง การประชุม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ และแผนการฝึกศึกษาประจำปี โดยในส่วนนี้อาจมีการยกเลิกการดูงานต่างประเทศ การสัมมนาบางรายการ รวมทั้งปรับแผนหรือลดขนาดการฝึกลง

ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาชะลอโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่จะต้องไม่กระทบภารกิจหลักของกองทัพด้านความมั่นคง รวมทั้งสัญญาที่ได้ลงนามกับต่างประเทศไว้

จนถึงตอนนี้ กองทัพบกมีแผนจัดซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท และแผนจัดซื้อรถถัง VT-4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท

กองทัพอากาศมีโครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท และโครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบฯ ปี 2563-2565)

ด้านกองทัพเรือมีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 รวม 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 22,000 ล้านบาท รวมถึงการตั้งงบฯ ก่อสร้างที่จอดเรือไว้อีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบฯ ปี 2563-2569

โครงการเหล่านี้จะต้องนำมาพิจารณาใหม่ทั้งหมด

หลังจบวิกฤตโควิด-19 กองทัพจะมีการ “ถอดบทเรียน” ทั้งเหตุการณ์และการรับมือต่างๆ เอาไว้ เพื่อนำไปวางแผนการฝึกและจัดเตรียมสิ่งต่างๆ ไว้รองรับ หากเกิดภัยคุกคามเช่นนี้อีกในอนาคต

เพราะเชื้อไวรัสนั้นมาเร็วและแรง ประมาทไม่ได้

ในสมรภูมิที่ “กระสุน-ระเบิด” กลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสิ้นเปลือง!