ปริศนาโบราณคดี | “มณฑปกลางน้ำ” ณ “เวียงเกาะกลาง” : สังฆเจดีย์ อุทกสีมา หรือเขาพระสุเมรุ? (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ที่กลางสระน้ำหน้าวัดเกาะกลาง บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อันเป็นแหล่งอาศัยของชุมชนชาวมอญกว่า 500 ครัวเรือนนั้น มีโบราณสถานอยู่หลังหนึ่ง ลักษณะค่อนข้างแปลกประหลาด

แปลกเสียจนนักวิชาการด้านโบราณคดีถกเถียงกันอยู่นานหลายปีว่าคืออะไรกันแน่?

มณฑปหลังดังกล่าว ก่อนที่จะเห็นว่าตั้งอยู่กลางสระน้ำนั้น เดิมมีสภาพเป็นเนินดินสูง ชาวบ้านเรียกแบบลำลองแตกต่างกันไป บ้างเรียก “ศาลเพียงตา” “ประภาคาร” และบ้างก็เรียก “หอฟ้าผ่า”

โดยชาวบ้านมีความกลัวว่าจะถูกฟ้าผ่า หากปีนขึ้นไปเหยียบบนยอดหอหลังนี้ เหตุที่ปู่ย่าตายายจะคอยเตือนลูกหลานอยู่เสมอว่า ในอดีตเคยมีคนถูกฟ้าผ่าตายมาแล้วหลายคน

ประหนึ่งว่าหอดังกล่าวมีสายล่อฟ้าหรือเคยมีโบราณวัตถุอะไรบางอย่างที่สร้างด้วยทองแดงกระนั้น? ทำให้หอหรืออาคารดังกล่าวถูกทิ้งร้างอยู่ชั่วนาตาปี ไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง

จนกระทั่งปี พ.ศ.2547 หรือ 13 ปีก่อนนั้น กรมศิลปากรได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีก้อนแรก 5 ล้านบาทจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ในยุคที่ นายสมาน ชมภูเทพ หรือ “หนานหล้า” (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) เป็นนายก อบจ. และต่อมาได้รับงบสนับสนุนในก้อนถัดๆ มาอย่างต่อเนื่องอีกหลายช่องทางสิริรวม 13 ล้านบาท

2 ล้านบาทก้อนสุดท้ายคือปี 2552 เป็นงบฯ สร้างพิพิธภัณฑ์ในวัดเกาะกลางสำหรับเก็บปูนปั้นที่ขุดได้จากเวียงเกาะกลางมากกว่า 2,000 ชิ้น

และหลังจากนั้น เวียงเกาะกลางก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ จากภาครัฐอีกเลย ทั้งๆ ที่เป็นขุมทรัพย์มหาศาล

สามารถนำมรดกของแผ่นดินมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทางการท่องเที่ยว หรืออย่างน้อยควรสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แหล่งสำคัญในระดับชาติ เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับโบราณสถานจำนวนหลายแห่งในระดับอุษาคเนย์

ถากถางเนินดินพบสิ่งมหัศจรรย์

ใครจะเชื่อว่า จากเนินดินพอกนูนสูงคล้ายภูเขาลูกย่อมๆ ด้วยถูกทิ้งร้างไปนานหลายร้อยปี เหตุเพราะเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่น้ำปิง เดิมชาวมอญจะตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดหนองดู่ริมแม่ปิงมากกว่าจะอาศัยอยู่แถวโบราณสถานร้างเวียงเกาะกลาง

สำทับด้วยคำขู่ของคนเฒ่าคนแก่ว่าห้ามไม่ให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามเหยียบย่ำอย่างเด็ดขาด ตามคำร่ำลือเรื่องฟ้าผ่านั้น แต่เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นไปขุดค้นมา กลับกลายเป็นว่า โบราณสถานแห่งนี้มีฐานที่จมลึกลงไปใต้ชั้นบาดาลเลยทีเดียว กล่าวคือ ตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนทางเท้าชั้นดินปัจจุบันถึง 5 เมตร

ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา หลังจากที่กรมศิลปากรได้ขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี ณ มณฑปแห่งนี้ ได้พบความแปลกประหลาดหลายประการดังนี้

ประการแรก ผังอาคารเป็นมณฑปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีลานประทักษิณซ้อนกันถึง 2 ชั้น ชั้นแรกคือลานตอนล่าง และชั้นที่สองตั้งอยู่ประชิดล้อมรอบเรือนธาตุของมณฑปตอนบน

ข้อสำคัญคือมณฑปจัตุรมุขนี้มีแกนเสาเป็นจุดสำคัญ

 

แกนเสาสีดำใช้ทำอะไร

ไม่มีใครทราบว่ามณฑปหลังนี้มีหน้าที่ใช้ประดิษฐานอะไร โดยปกติแล้ว การทำมณฑปเปิดโล่งแบบจัตุรมุขนั้น มักใช้รองรับพระพุทธรูปสำคัญเป็นการเฉพาะ หรืออาจประดิษฐานต้นโพธิ์จำลอง

แต่ที่นี่บริเวณแกนกลางของมณฑป กลับก่ออิฐป็นแท่งเสาขนาดใหญ่ ก่อเพื่อใช้รองรับหลังคาตอนบน (เครื่องหลังคาก็หักหายไปหมดแล้ว) เท่านั้นเองล่ะหรือ มิได้เคยมีพระพุทธรูปสี่ด้านยืนหันหลังชนกัน 4 ทิศมาก่อนเลยหรือ

พิจารณาแล้วพบว่าแท่งเสานี้เต็มไปด้วยสีดำ ไม่มีใครทราบว่าเพราะเหตุไร ชาวบ้านบอกว่าอาจเป็นเขม่าควันซึ่งชาวประมงใช้จุดไฟกลางคืนบอกทางสัญจรแก่ชาวเรือ (ในลักษณะประภาคาร) หรืออาจเกิดจากการที่ฟ้าผ่าอาคารหลังนี้บ่อยครั้ง

แต่นักโบราณคดีเห็นว่าน่าจะเกิดจากรอยของการลงรัก (ยางเหนียวสีดำ) อาจจะลงเพื่อใช้ปิดทองพระพุทธรูปที่เคยหันหลังชนกันที่แท่งเสา แต่ต่อมาพระพุทธรูปหายไปแล้วก็เป็นได้

หรือดีไม่ดี อาจไม่เคยมีพระพุทธรูปมาก่อนเลยตั้งแต่แรกสร้าง? คือมีแต่เสาที่ลงรักสีดำสำหรับปิดทอง!

การใช้เสาแท่งใหญ่เป็นแกนกลางมณฑปเช่นนี้พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรพุกาม (พุกามอยู่ในพม่า เจริญขึ้นร่วมสมัยกับหริภุญไชยตอนกลางถึงตอนปลาย คือราวพุทธศตวรรษที่ 16-19)

แต่โดยมากวิหารจัตุรมุขในพุกามนั้นมักใช้แท่งเสารองรับหลังคาที่เป็นเจดีย์แบบทรงพุทธคยาอยู่ตอนบน และมักประดิษฐานพระพุทธรูปหันหลังชนกัน 4 ทิศ ในขณะที่มณฑปเวียงเกาะกลาง ไม่ได้มีเสาแท่งขนาดใหญ่มากพอที่จะเหลือพื้นที่ให้สามารถสร้างพระพุทธรูป 4 องค์ในภัทรกัปขนาดนั้นได้

จะอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด รูปแบบของเสาแกนกลางมณฑปทรงจัตุรมุขเช่นนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนว่าชุมชนในเวียงเกาะกลางแห่งนี้เคยมีความสัมพันธ์กับชาวพุกามมาก่อน อาจเคยไปมาหาสู่กัน กระทั่งมีการถ่ายทอดแบบศิลปะซึ่งกันและกัน

ส่วนใครจะถ่ายทอดให้ใครนั้น จุดเริ่มต้นสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้มีขึ้นครั้งแรกในวัฒนธรรมไหน เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

มณฑปกลางน้ำ

ฐานทรงกระบอกกลางสระน้ำ

ประเด็นที่สอง ความแปลกประหลาดของศาสนสถานหลังนี้ คือพื้นล่างขององค์มณฑป มีการก่ออิฐเรียงเป็นแนวรูปวงกลม ซึ่งพบฐานแบบนี้ไม่มากนักบนแผ่นดินสยาม

ภาพของฐานทรงกลมเช่นนี้ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่วงการโบราณคดี เพราะโดยปกติแล้วสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าเจดีย์ วิหาร อุโบสถ มณฑป กุฏิ ศาลา ที่พบในทุกๆ อารยธรรมอุษาคเนย์มักจบฐานล่างลงด้วยผังรูปสี่เหลี่ยมเสมอ

นอกเหนือไปจากฐานเจดีย์ทรงลอมฟางหรือทรงกระบอกที่กู่ช้างในจังหวัดลำพูนแล้วนั้น ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฐานมณฑปที่เวียงเกาะกลางมีลักษณะคล้ายกับฐานสระมรกตที่อำเภอดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

สระมรกตที่ปราจีนฯ มีต้นกำเนิดมาจากวิหารเมืองนาคารชุณโกณฑะในวัฒนธรรมอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ 9-11) ซึ่งอมราวดีเป็นแผ่นดินต้นกำเนิดของชาวมอญตะเลงคณา (แขกกลิงค์) ที่อพยพจากแคว้นกลิงคราษฎร์ของอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งรกรากอยู่ในสุวรรณภูมิจนกลายเป็นบรรพชนของคนมอญ

ฐานมณฑปกลางน้ำที่เวียงเกาะกลางนี้ ลึกลงไปเป็นแท่งทรงกระบอกสูง คือจงใจสร้างแต่งขอบฐานให้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตก แสดงว่าในอดีตแม่น้ำผิงเคยไหลผ่านด้านนี้มาก่อน ไม่ใช่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเวียงเกาะกลางเหมือนในปัจจุบัน ผิวอิฐมีร่องรอยของการถูกสายน้ำกัดกร่อนนานหลายศตวรรษ

เมื่อขึ้นพ้นบันไดจากสระน้ำ พบว่าฐานกลมชั้นล่างแต่งขอบเป็นทางเดินคล้ายลานประทักษิณโดยรอบ มีการขุดพบผางประทีป (ตะคันดินเผาที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นจานเทียน) ฝังอยู่โดยรอบลานประทักษิณร่วมสองพันชิ้น แสดงว่าในอดีตเคยมีการเดินเวียนเทียนรอบมณฑปนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

แล้วสิ่งที่ผู้คนไปเดินเวียนเทียนเพื่อนมัสการนั้นคืออะไรกัน?

 

ที่แน่ๆ ไม่ใช่ประภาคาร-ศาลเพียงตา

นอกจากนี้ ยังมีความแปลกประหลาดอีกหลายประการ อาทิ ประติมากรรมปูนปั้นที่ค้นพบใต้ชั้นดินจำนวนสองพันกว่าชิ้นนั้น ล้วนไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธศิลป์เลย มีแต่เทวดาและสัตว์หิมพานต์? (ซึ่งจักกล่าวอย่างละเอียดในตอนต่อๆ ไป)

ทำให้บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดูหรือเปล่า? เพราะไม่มีลักษณะใดเลยที่บ่งชี้ว่าจะเป็นอาคารทางพุทธศาสนา

บางท่านเห็นว่าจากรูปทรงของการทำเสาแกนกลาง และเปิดซุ้มโขงโล่งสี่ทิศ อาจเป็นสัญลักษณ์ของ “เสาอินทขีล” หรือเสาหลักเมืองก็เป็นได้

หรือการที่มีสัตว์หิมพานต์จำนวนมากมายมหาศาลมาประดับตกแต่งโดยรอบเช่นนี้ อาจตั้งใจสร้างให้เป็น “เขาพระสุเมรุ” หรือไม่

บางท่านว่าอาจเป็น “สังฆเจดีย์” หรือที่เรียกว่า “ซากว์เฆียะม้อย” เพราะชาวมอญมักสร้างเจดีย์กลางน้ำ ดังเช่นที่พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

บ้างก็เสนอว่าอาจเป็น “อุทกสีมา” (อุทก-น้ำ, สีมา-หินปักบอกเขตอุโบสถ) หรือโบสถ์กลางน้ำ ดังที่ชาวมอญเรียกว่า “เมียะเต่งตัน” เมียะ แปลว่ามรกต

โดยนำความกลมของลานประทักษิณของมณฑปเวียงเกาะกลางไปเปรียบเทียบกับซากโบราณสถานของสระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี

ทุกวันนี้นักวิชาการยังคงตั้งคำถามกันอยู่อย่างไม่ขาดสายว่า ตกลงแล้วอาคารหลังนี้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่ ตอนนี้ได้แต่เรียกว่า “มณฑปกลางสระน้ำ” แบบปลอดภัยไว้ก่อน

สัปดาห์หน้าและอีกหลายสัปดาห์ ดิฉันจะพาไปผ่าตัดวิเคราะห์เจาะลึกทีละประเด็น ว่ามณฑปหลังนี้ควรเป็นอะไร แต่ที่แน่ๆ ย่อมไม่ใช่ “ประภาคาร” “ศาลเพียงตา” หรือ “หอฟ้าผ่า” ตามที่ชาวบ้านเรียกขาน