ไหนๆ มีวิกฤตทั้งที อย่าให้ “เสียของ”! | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษวินสตัน เชอร์ชิลล์ เคยประกาศไว้ในช่วงวิกฤตระดับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่า “อย่าให้วิกฤตดีๆ เปลืองเปล่าไปเฉยๆ”

ผมแปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า

“ไหนๆ ก็มีวิกฤตแล้ว อย่าให้เสียของเชียวนะ”

วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Photo by PIGISTE / AFP)

เชอร์ชิลล์กล่าวประโยคเด็ดนี้ช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งยุติ ผู้คนล้มตายกันเป็นล้านๆ ประเทศทั่วโลกล้มละลาย เศรษฐกิจพังสลาย ต้องเริ่มต้นสร้างโลกกันใหม่

เป็นช่วงที่ประเทศตะวันตกที่ชนะสงครามใช้โอกาสนี้ก่อสร้าง “องค์การสหประชาชาติ” เพื่อป้องกันภัยสงครามในอนาคต

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ก็เป็นมหันตภัยระดับโลกเช่นกัน เป็น “สงครามโรค” ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงที่แม้ถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจจะประเมินได้

แต่ทุกวิกฤตย่อมนำมาซึ่งโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ในยามปกติไม่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ

หลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นในวิกฤตนี้

วันก่อนเพื่อนคนหนึ่งเขียนข้อความส่งมาถึงผมว่าอย่างนี้

“พอโควิดโจมตี มันสร้างความสั่นสะเทือนหนักมาก สิ่งที่เคยวางลำดับความสำคัญไว้มันใช้ไม่ได้แล้ว อะไรที่เคยคิดเอาไว้ต้องสลับปรับเปลี่ยนหมด พูดง่ายๆ คือ จะใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป…”

เขาบอกว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ต้องคิดและทำสิ่งใหม่ตลอดเวลา

“ยอมรับนะว่ามันไม่ง่ายเลย ยังคิดไม่ออกว่าจะต้องทำอะไรต่อจากนี้ คิดมันทุกวัน คิดมันทุกมิติ ก็ยังคิดไม่ได้ ถามใครๆ เขาก็บอกว่าอยู่ในสภาพเดียวกัน…แต่ที่รู้แน่ๆ คือเราต้องผ่านมันไปให้ได้” เพื่อนคนนี้เขียนมา

น้ำเสียงแรกๆ เหมือนหดหู่ แต่จับใจความได้ว่าเขาส่งข้อความนี้มาให้ผมเพื่อจะบอกว่าเขาต้องสู้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้

เพราะหากแพ้ก็คือตายลูกเดียว!

วิกฤตนี้สอนอะไรเรา?

ผมลองเข้าไปตั้งวงเสวนากับเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กของผมเพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากผู้คนในสาขาวิชาชีพต่างๆ ในยามที่สังคมกำลังสับสนงุนงงและพยายามหาทางออกร่วมกัน

ที่ชัดเจนว่าโควิดมาชะลอโลกที่หมุนเร็วและร้อนฉ่าให้กด pause หรือ reset เพื่อให้มีเวลาพัก ตรึกตรอง และตั้งคำถามตัวเองใหม่

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

ใครคนหนึ่งเขียนนำเสนอความคิดว่า

1. สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องการเพียงปัจจัย 4 คือมีกิน ที่นอน ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เมื่อเกิดวิกฤต รถแพงๆ ชุดหรูๆ ก็ไม่มีค่าอะไรเมื่อเปรียบเทียบกับหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลน หรือไข่ต้มซักฟองที่ผู้คนพากันซื้อตุนอย่างบ้าคลั่ง

2. จะรวยจะจน แยกเขาแยกเรา แบ่งชาติแบ่งศาสนา ท้ายสุดก็กลับสู่เรื่องเกิดแต่เจ็บตาย…โควิดไม่เลือกไม่แยกไม่สน

3. จะทำงานกันแบบทุ่มเทบ้าคลั่งเพียงใดก็ไม่อาจจะซื้อเวลาและความสุขสบายให้ตัวเองหรือคนในครอบครัว วันดีคืนดีโควิดก็จัดให้ สร้างความตระหนักว่ามนุษย์ควรจะต้องอยู่กับ “ตัวเอง” ตามลำพังให้เป็น

4. โควิดสอนเราว่าไม่มีอะไรเที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน และไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ

5. ที่เคยมีคนสอนว่าให้เราปฏิบัติตนทุกวันเหมือนจะต้องจากโลกไปพรุ่งนี้….โควิดมาตอกย้ำว่านั่นคือสัจธรรมจริงๆ

วลีที่ว่า “ขอบคุณโควิด-19” จึงไม่ใช่แค่พูดให้สวยให้เท่ แต่มีความหมายจริงจัง

เพราะมันทำให้ทุกคนตื่นรู้จากการใช้ชีวิตอย่างประมาทและเป็นศัตรูกับสิ่งแวดล้อมและตัวเองมายาวนาน

อีกหลายข้อความที่ผมเจอให้การตั้งวงพูดคุยในโซเชียลมีเดียในหัวข้อเดียวกันนี้ก็ปรากฏออกมาชัดเจน เช่น

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในชีวิตก็ได้เห็นครั้งนี้

– ปีที่ไม่มีสงกรานต์ ไม่มีเช็งเม้ง

– เครื่องบินหยุดบินทั่วโลก

– 7-11 ปิดตอนกลางคืน

– ผู้คนใส่หน้ากากเข้าหากัน

– ห้าง, ผับ, บาร์ปิดทำการพร้อมๆ กัน

– ตลาดหุ้นติดเบรกเกอร์

– น้ำมันราคาเท่าเมื่อ 20 ปีก่อน

– ถนนโล่ง, รถไม่ติด

– คนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน

– รถส่งอาหารวิ่งกันขวักไขว่บนถนนที่ปลอดโปร่งโล่งตลอด

– ร้านอาหารมีเก้าอี้แต่ไม่ให้นั่ง

– ธุรกิจหยุดนิ่งแทบทุกประเภทโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

– หวยหยุดออก (ครั้งแรกในชีวิตของคนส่วนใหญ่)

– โรงหนังปิด ไม่ฉายหนัง

– ร้านนวด, สปา, ร้านตัดผม, ร้านเสริมสวยปิดบริการพร้อมๆ กันหมด

– ติวเตอร์เรียนพิเศษก็ต้องหยุด

– ปิดประเทศกันไปหลายประเทศ

– ผู้คนล้มตายกันเหมือนใบไม้ร่วง

ไม่แต่เท่านั้น ยังมีคนร่วมวงสนทนายกมือขอแทรกข้อสังเกตอีกหลายประการ เช่น วิกฤตโควิดครั้งนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ…รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าทำไม่สำเร็จ โควิดมาทีเดียวทำให้เกิดได้เลย เช่น

– เพิ่มมูลค่าหน้ากากอนามัยจากชิ้นละ 2.50 บาทเป็น 15-20 บาท

– น้ำมันราคาตก คนใช้พลังงานน้อยลง

– การปรับเปลี่ยนไปสู่ Digital Transformation เกิดได้อย่างฉับพลัน

– แต่ก่อนนี้ คนที่ทำให้เกิดการปรับตัวสู่ยุคดิจิตอลคือ CEO หรือ CIO และ CTO แต่อยู่ดีๆ เจ้า Covid ก็ทำหน้าที่ได้ดีกว่าทุกตำแหน่งในบริษัท

– คนอยู่บ้าน มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

– ฝ่ายค้านประกาศร่วมมือกับรัฐบาล

– PM 2.5 หายไปได้โดยรัฐบาลไม่ต้องทำอะไร (ยกเว้นที่เชียงใหม่, ลำปางและจังหวัดทางเหนือ)

– จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนลดฮวบได้ทันที รัฐบาลกี่ชุดในอดีตก็ทำไม่ได้ รณรงค์กันแข็งขันอย่างไรก็ทำไม่สำเร็จ

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

– ถนนโล่ง, รถไม่ติด

– ดูคลิปที่ไม่เคยดู ทำอาหารเป็น

– นโยบาย Work at Home ทำได้โดยไม่ต้องมีการบังคับ

– สร้างระเบียบวินัยให้คนไทย เข้าแถว, ล้างมือ, รักษาความสะอาด

– เด็กแว้นหายไปจากถนน

– รู้จักแยกแยะระหว่างสิ่งที่จำเป็นและที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต

– คนว่างงาน คนอยู่กับบ้าน บ้านไม่เงียบเหงา ทำอาหารกินกันเองมากขึ้น

– แท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร

– เลิกเที่ยวผับ

– คนกลับจากต่างประเทศได้ตรวจ, รักษา, กินนอนฟรี แต่คนในประเทศอดอยาก ต้องทนหาหมอ ลำบาก กินอยู่แบบอัตคัด

– มีเวลานอนมากขึ้น

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

– ธรรมชาติสะอาดขึ้นมาก ชีวิตชีวากลับมามากมาย สะท้อนว่าจำนวนคนบนโลกมีจำนวนมากเกินไป

– โควิดสอนให้รู้ว่าในดำมีขาว ในขาวมีดำ ในดีมีชั่ว ในชั่วมีดี ไม่มีอะไรที่อยู่โดดๆ ของตัวเอง ผสมผสานปนเป มีหยินก็มีหยาง

– เห็นธาติแท้ของคนบางกลุ่ม กักตุนสินค้า ขึ้นราคาข้าวของ หาผลประโยชน์ใส่ตัว

– บางคนต้องเร่งกินของที่ซื้อมาตุนไว้จนน้ำหนักล้นเกิน ส่วนอีกบางคนหุ่นดีผอมบาง น้ำหนักลดฮวบๆ เพราะไม่มีอะไรจะกิน

– ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของสุขอนามัย

– ทำให้คนไอและจามในที่สาธารณะรู้จักปิดรู้จักบังเพื่อไม่แพร่เชื้อโรคให้คนอื่น เพราะถ้าคนอื่นทำอย่างนี้ก็อาจแพร่เชื้อมาที่ตัวเอง

– คนกลัวตายมากขึ้น

– ทำให้เห็นว่าคนไทยมีน้ำใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

– คนสวดมนต์เยอะขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น รักษาสุขภาพมากขึ้น

– ทำให้คนเมืองกลับชนบท นำเทคโนโลยีไปช่วยพัฒนาผลิตผลต่างๆ และช่วยแนะนำช่องทางการตลาดแบบใหม่ ทำให้มีเสบียงอาหารเพิ่ม ไม่ขาดแคลนในอนาคต

– ทำให้ตระหนักว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คือทางอยู่รอด ทำให้คนหันมามองว่าสิ่งสำคัญของชีวิตมีแค่ปัจจัยสี่เท่านั้น ที่เหลือคือสิ่งหลอกลวง

– ทำให้เห็นว่าคุณภาพของหมอ, พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ของไทยเราไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ใด

– ทำให้กลับไปคิดถึงพื้นฐานของชีวิต เบสิกในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ต้องแข่งกันกู้เงินเพื่อมาสร้างส่วนเกินที่ทำลายสมดุลแห่งชีวิต

– ประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าล้างรถ เสริมสวย นวด ช้อปปิ้ง ดูหนังฟังเพลง…เพื่อเก็บเงินไว้ซื้อหน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอลล์และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในราคาที่แพงขึ้น

– หยุดทำร้ายโลกพร้อมกันทั่วโลก แม้มหาอำนาจก็ไม่พ้นจากภัยคุกคามไวรัสตัวเดียวกัน

– หน้าตาของทุกคนดีขึ้น เพราะเห็นได้แค่ตา

– ชั้นบรรยากาศดีขึ้น สัตว์น้อยใหญ่ออกมาเดินเล่นได้

– ช่วยทำให้นักการเมืองแก่ๆ (ไดโนเสาร์) ไม่กล้าออกจากบ้านมาโชว์ตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะโควิดชอบคนแก่

– ลดการดื่มสุราเมรัย

– ทำให้รู้ว่าธนาคารไหนหน้าเลือด ธนาคารไหนมีความรับผิดชอบต่อสังคม

– ทำให้ ส.ส.หายหน้าหายตาไป ไม่กล้าโผล่หน้าเพราะไม่สามารถจะช่วยอะไรใครได้

– ได้เห็นความล้มเหลวในการสื่อสารยามวิกฤตของรัฐบาล และความสามารถของคนธรรมดาในการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือสังคมในยามที่ผู้คนต้องการความอบอุ่นและเอื้ออาทร

– ได้เห็นสัจธรรมที่ว่าโควิด-19 โจมตีได้ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน

– ทำให้สร้างเชฟอาชีพจากความจำเป็นขึ้นอีกมากมาย

(Photo by Romeo GACAD / AFP)

– เปลี่ยนนิสัยคนไทยโดยสิ้นเชิง…จาก “ไทยมุง” เป็น “ไทยกระเจิง”

– ไข่ราคาขึ้น น้ำมันราคาลด

– คนตกงานแบบทันทีทันใด ตายไม่เลือกอาชีพและฐานะ

– โควิดทำให้เมียบ่นสามีน้อยลง หันไปบ่นรัฐบาลแทน

– เต่ากระวางไข่ที่ชายหาด

– ชิปหาย…เงินหาย

– สลายม็อบการเมืองไปโดยอัตโนมัติ

ไหนๆ มีวิกฤตทั้งทีอย่าให้ “เสียของ”…เราต้องคิดต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง โปรดติดตามด้วยใจระทึกในคอลัมน์นี้ต่อไป!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น!